คนมองหนัง : ตัวเต็งออสการ์ชื่อ ‘ยุนยอจอง’ ‘เกาหลี-อเมริกา’ อยู่ใต้ ‘ฟ้าเดียวกัน’

คนมองหนัง

 

ตัวเต็งออสการ์ชื่อ ‘ยุนยอจอง’

‘เกาหลี-อเมริกา’ อยู่ใต้ ‘ฟ้าเดียวกัน’

 

“ยุนยอจอง” คือนักแสดงหญิงวัย 73 ปี ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งฝากฝีมืออันน่าจดจำไว้ในภาพยนตร์เรื่อง “Minari” ที่กำลังเข้าฉายในบ้านเรา

กระทั่งเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม นับเป็นนักแสดงเกาหลีรายแรกสุดที่ได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองอเมริกัน

และล่าสุด “ยุนยอจอง” ก็เพิ่งได้รับรางวัลสาขาดังกล่าวจากสมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ของสหรัฐ (แซก อวอร์ดส์) ซึ่งว่ากันว่าจะทำให้เธอมีโอกาสเข้าใกล้ออสการ์มากยิ่งขึ้น

ในภาพยนตร์เรื่อง “Minari” นักแสดงหญิงอาวุโสรายนี้รับบทเป็นคุณยายในครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลี ที่ไปลงหลักปักฐาน ณ ชนบทของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตในวัยสาวของ “ยุนยอจอง” ที่เคยติดตามสามีบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาก่อร่างสร้างครอบครัว ณ มลรัฐอินเดียนา

ก่อนหน้านี้ “ยุนยอจอง” เคยให้สัมภาษณ์กับ “โจเซ โซลิส” ในเว็บไซต์ thefilmstage.com ไว้อย่างน่าสนใจ

จึงขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนของบทสัมภาษณ์นั้นมาถ่ายทอดเป็นฉบับพากย์ไทยในที่นี้

: ผมรู้สึกอินกับการแสดงของคุณในภาพยนตร์เรื่อง “Minari” และสายสัมพันธ์ระหว่างหลานๆ และคนรุ่นปู่-ย่า ตา-ยายในหนังเรื่องนี้ คุณจะสามารถบอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับคุณยายของคุณหน่อยได้ไหม? ท่านคือแรงบันดาลใจให้คุณได้สวมบทบาทเป็น “ตัวละครคุณยาย” ในหนังหรือเปล่า?

จริงๆ แล้ว คุณยายของฉันเสียชีวิตไปในช่วงสงคราม ดังนั้น ฉันเลยไม่ค่อยมีความทรงจำเกี่ยวกับท่าน แต่ฉันกลับได้ใช้ชีวิตกับคุณยายทวด

ฉันไม่ได้นำท่านมาเป็นต้นแบบในการสวมบท “ตัวละครคุณยาย” ในหนังเรื่องนี้ แต่ฉันคิดถึงท่านอยู่บ่อยๆ ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์

คุณยายทวดเสียชีวิตขณะฉันอายุ 10 ขวบ และฉันยังคงรู้สึกเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์นั้น หลังจากสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง ทุกๆ อย่างก็เป็นอย่างที่คุณรู้นั่นแหละ คุณเคยอยู่ในภาวะสงครามไหม?

 

: ผมไม่มีประสบการณ์แบบนั้น

โอเค คุณไม่เคยอยู่ในภาวะสงคราม สถานการณ์โรคระบาดตอนนี้เทียบไม่ได้เลยกับภาวะสงคราม ระหว่างสงคราม พวกเราต้องย้ายไปอาศัยนอกเมืองหลวง หลังสงครามจบลง ครอบครัวของเราจึงย้ายกลับมาที่โซล และพบว่าทุกอย่างถูกทำลายจนพังพินาศไปหมด ด้วยฤทธิ์ระเบิดและภัยอื่นๆ

พวกเราประสบภาวะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากน้ำประปาจะมีให้บริการเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน ทั้งน้ำทั้งไฟ ทุกอย่างล้วนขัดสนไปหมด

ด้วยเหตุนี้ คุณยายทวดของฉันจึงต้องพยายามใช้น้ำอย่างประหยัดมัธยัสถ์ที่สุด ตอนฉันอายุ 9-10 ขวบ ฉันเคยไม่เข้าใจว่าทำไมท่านถึงต้องใช้น้ำสกปรกๆ ซ้ำไปซ้ำมาครั้งแล้วครั้งเล่า

เวลานั้น ฉันไม่ชอบคุณยายทวดเอาเลย ฉันรู้สึกหัวใจสลาย เมื่อตอนนั้น ฉันเคยมีความคิดอันโง่เขลาว่า “โห คุณยายทวดนี่ช่างเป็นคนโสโครกเสียเหลือเกิน ทำไมแกถึงใช้น้ำสกปรกอาบตัวอยู่ได้” ทั้งๆ ที่ท่านยอมทำแบบนั้นเพื่อจะประหยัดน้ำ

ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ย้อนมาในหัวฉันระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง “Minari” ที่ทัลซา (เมืองในมลรัฐโอกลาโฮมา)…

: เมื่อคุณเริ่มต้นอาชีพนักแสดง คุณได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ถี่ถ้วนแล้วว่าจะไม่เล่นหนังด้วยวิธีการแบบนักแสดงทั่วไปในยุคสมัยนั้น?

ฉันไม่ได้ตัดสินใจแน่วแน่อะไรมากมาย แต่ฉันคิดว่าเรื่องนี้มันอยู่ในยีน (หน่วยพันธุกรรม) ของฉัน ฉันมักได้ดูละครโทรทัศน์และงานแสดงของคนอื่นๆ แล้วบางที ฉันก็ชอบเกิดความรู้สึกว่าการแสดงเหล่านั้นมันดู “เยอะแยะ” เกินไป

ขณะเดียวกัน ฉันก็ชอบดูพวกภาพยนตร์สารคดี อย่างในหนังสารคดีเกาหลีเรื่องหนึ่ง มีหญิงชรารายหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกชายไปถึงสามคน นี่คือชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผลและโศกนาฏกรรม

แต่สิ่งที่ฉันค้นพบว่าน่าสนใจมากๆ ก็คือกลับไม่มีใครในหนังสารคดีเรื่องนั้นที่ร้องไห้คร่ำครวญออกมา พวกเขาเล่าเรื่องราวในอดีตทุกอย่าง ราวกับมันเป็นประวัติศาสตร์ของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตนเอง

ฉันจึงได้ตระหนักว่าในหนังละครส่วนใหญ่ เรามักฉายภาพผู้คนที่กำลังทุกข์ตรมแสนสาหัส ออกมาเป็นตัวละครที่ชอบโอดครางคร่ำครวญอย่างหนัก ดังนั้น ฉันเลยเกิดความคิดว่า บางทีเราอาจไม่ต้องแสดงหนังในแบบที่พวกเราคุ้นชิน นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงความคิดของฉันในช่วงเริ่มต้นอาชีพนักแสดง

ฉันรู้ว่าตัวเองอธิบายเรื่องนี้ออกมาเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่ค่อยดีนัก แต่ถ้าให้สรุปก็คือมันไม่ได้เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจอะไร แต่มันอาจเกิดจากบางอย่างที่อยู่ในยีนและหัวใจของฉัน

: คุณเคยเป็นนักศึกษาสาขาวรรณกรรมในมหาวิทยาลัยใช่ไหม?

ฉันเคยเรียนสาขาวรรณกรรมเกาหลี

: มีบทเรียนอะไรในชั้นเรียนวิชาวรรณกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพนักแสดงของคุณบ้างไหม?

คุณรู้ใช่ไหมว่า สุดท้ายฉันก็เรียนมหาวิทยาลัยไม่จบ จริงๆ ฉันใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่แค่สองปี ฉันจึงไม่รู้ว่าตัวเองได้เรียนอะไรไปบ้าง ตอนนั้น ฉันแค่ชอบอ่านนิยาย นี่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ฉันเลือกเรียนสาขาดังกล่าว

: …ถึงแม้ผมจะไม่เคยเติบโตในภาวะสงครามเหมือนคุณ แต่ผมก็เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อพยพเข้ามาอยู่ในสหรัฐ ผมต้องเดินทางออกจากบ้านเกิดตั้งแต่ปี 2009 และไม่ได้ย้อนกลับไปอีกเลย ผมจึงพอจะเข้าใจถึงความรู้สึกของการเข้ามาปักหลักอยู่ในอเมริกาเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของที่นี่ คุณเองก็เคยย้ายมาอาศัยอยู่ในสหรัฐเมื่อสมัยสาวๆ ผมเลยคิดว่าเราน่าจะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ เกี่ยวกับภาวะแปลกแยกทางวัฒนธรรม เมื่อเราเพิ่งเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

ฉันจดจำช่วงเวลาแรกเมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ได้ ฉันคิดว่าอเมริกานั้นหรูหราราคาแพงกว่าเกาหลีมาก เพราะเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างล้วนทันสมัยไปหมด ถ้าจำไม่ผิด ฉันเริ่มรู้จักใช้เตาอบไมโครเวฟเป็นครั้งแรกก็ตอนย้ายมาอเมริกา ทุกๆ อย่างมันใหม่มากและดูแตกต่างจากเดิม

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เราเคยอยู่อาศัยในประเทศเล็กๆ พวกเราจึงมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวนานาชาติ เรารู้ว่าคนในประเทศอื่นๆ ใช้ชีวิตแตกต่างจากเราอย่างไร แต่สิ่งที่ฉันได้พบในอเมริกาก็คือว่าคนอเมริกันมักรู้แต่เพียงเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศของเขา

ฉันจำได้แม่นถึงคำถามที่หญิงชราชาวอเมริกันคนหนึ่งเคยถามฉันเมื่อแรกเดินทางมาอยู่ที่นี่ ตอนนั้น เธอก็มีอายุเท่าๆ ฉันในตอนนี้นี่แหละ หญิงชราคนดังกล่าวถามฉันว่า บ้านเธอที่เกาหลีอยู่ใต้ “ฟ้าเดียวกัน” กับพวกเราไหม? ฉันไม่เข้าใจความหมายของคำถามนี้เลย เมื่อได้ยินมันเป็นหนแรก

จริงๆ แล้ว หญิงชราคนนั้นไม่เคยเดินทางออกไปยังสถานที่แห่งอื่นๆ เลย อินเดียนาคือชีวิตทั้งชีวิตของเธอ เธอจึงเพิ่งได้เห็นผู้หญิงเอเชียอย่างฉันเป็นครั้งแรกสุดในชีวิต

ตอนนั้น ฉันเลยไม่เข้าใจว่าทำไมเธอจึงมาตั้งคำถามเรื่อง “ฟ้าเดียวกัน” กับฉัน แต่ต่อมา ฉันถึงค่อยๆ คิดหาคำตอบต่อคำถามดังกล่าวออกว่า

“ท้องฟ้าที่เกาหลีก็เป็นสีฟ้า เหมือนกับที่อเมริกานั่นแหละ”

 

ข้อมูลจาก https://thefilmstage.com/minari-star-youn-yuh-jung-on-memories-mountain-dew-and-a-myopic-america/