สัมภาษณ์ : “เป็นเอก-ภาสกร” กับ ประชาธิป”ไทย ภาค2 ที่ตอนนี้ยังฉายไม่ได้! และสารคดีชีวิตเนปาลหลังแผ่นดินไหว

เป็นเอก-ภาสกร นำเสนอสารคดีชีวิตชาวเนปาลหลังแผ่นดินไหว รอบรรยากาศเหมาะสมฉาย ประชาธิป”ไทย ภาค 2

เป็นเอก รัตนเรือง และภาสกร ประมูลวงศ์ – สองชื่อนี้คอการเมืองคงจะคุ้นอยู่บ้าง แม้ว่าจะเป็นคอหนังหรือไม่ก็ตาม เพราะเขาสองคนเคยร่วมกันสร้างสรรค์ภาพยนตร์สารคดีการเมืองไทยอันเข้มข้นเรื่อง ประชาธิป”ไทย เข้าฉายเมื่อปี 2556

และเนื้อหาในสารคดีถูกนำมาเรียบเรียงตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเดียวกันโดยสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งติดอันดับหนังสือการเมืองขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง

ช่วงปลายปีนี้สองผู้กำกับฯ-เป็นเอกและภาสกรมีผลงานภาพยนตร์สารคดีร่วมกันอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้ไม่ได้ทำเรื่องเมืองไทย พวกเขายกกองถ่ายทำภาพยนตร์เดินทางขึ้นเทือกเขาสูงในประเทศเนปาล

เพื่อนำเสนอเรื่องราวชีวิตของชาวเนปาลที่หมู่บ้าน “กัตลัง” ว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรหลังแผ่นดินไหว

ทั้งสองคนบอกว่า ตอนแรกคิดจะทำหนังที่หน่อมแน้ม สวยๆ ใสๆ แบบคนเมืองไปเจอความสงบเรียบง่าย รู้สึกว่าได้เจอคือสวรรค์ ซึ่งพวกเขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

ก่อนจะโดนความจริงกระชากให้หลุดจากจากมายาคติของคนเมือง เพราะสิ่งที่คนในพื้นที่เขารู้สึกอยู่นั้นไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่า “สวรรค์” สักนิด

ต่อไปนี้คือสิ่งที่เป็นเอกและภาสกรบอกเล่า ก่อนที่หนัง “กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง” จะเข้าโรงฉายไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

: ความเป็นมาการทำหนังสารคดีเรื่องนี้

เป็นเอก : ความเป็นมาคือเอก (ภาสกร) เขาคุยกับเพื่อนชาวเยอรมันที่ย้ายมาอยู่กาฐมาณฑุว่าจะหาหมู่บ้านที่โดนแผ่นดินไหวทำเรื่องชีวิตชาวบ้านเขาอยู่กันอย่างไรหลังแผ่นดินไหว แล้วเขาไปเจอหมู่บ้านชื่อกัตลัง (Gatlang) เป็นหมู่บ้านที่น่ารัก ผู้คนบริสุทธิ์ผ่องใส เอกมาชวนผม ผมก็ตกลงทำ

: ได้ไปดูเปรียบเทียบหลายที่หรือเปล่า เหตุผลที่เลือกหมู่บ้านนี้มันมีอะไรดึงดูดกว่าที่อื่น

ภาสกร : ไปดูหลายที่ครับ จริงๆ ที่ผมคุยกันไว้จะถ่ายที่หมู่บ้าน “ลุกลา” และ “บาพัก” เป็นเซ็นเตอร์ของแผ่นดินไหว แต่มันถ่ายหนังไม่ได้เพราะชาวบ้านเขาสร้างบ้านใหม่เกือบเสร็จหมดแล้ว แทบไม่เหลือโครงสร้างเดิมเลย และสเกลหมู่บ้านมันใหญ่มากจนเราไม่รู้จะโฟกัสตรงไหน แล้วก็การขึ้นไปมันยากมาก โลจิสติกส์กองถ่ายขึ้นไปไม่ได้ ก็คิดว่ามันคงไม่เหมาะที่จะถ่ายหนังเรื่องนี้ แล้วเพื่อนชาวเยอรมันบอกว่ามีอีกหมู่บ้านหนึ่ง แต่ต้องนั่งรถไปอีก 20 ชั่วโมง ผมก็โอเค ก็ไป ตอนนั้นไม่ได้ตกใจอะไรเลย มันเหมือนมีอะไรเรียกเราไป พอไปถึงที่นั่นผมชอบเลย ด้านหนึ่งมันเป็นหิมาลัย อีกด้านหนึ่งเป็นพรมแดนจีน ผู้คนก็น่ารัก

: เหตุผลที่ผู้กำกับฯ ต้องเป็น “เป็นเอก รัตนเรือง”

ภาสกร : ผมชอบทำงานกับพี่ต้อม เพราะว่าทุกครั้งที่ทำงานกับพี่ต้อมผมจะมีความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมาเสมอ และสิ่งที่ดีก็คือพี่ต้อมเก่งเรื่องมนุษย์ พี่ต้อมสามารถดึงความเป็นมนุษย์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ และทำงานกับพี่ต้อมดีอย่างหนึ่งคือพี่ต้อมไม่ค่อยตกใจ (เวลาไม่มีอะไรเป็นไปตามแผน-เป็นเอกเสริมและหัวเราะหึหึหึ)

: เรื่องราวที่จะนำเสนอมันต้องไปดูตามสถานการณ์จริง ผู้กำกับฯ ขีดเส้นมันได้มากแค่ไหน

เป็นเอก : โห มันได้มากกว่าที่เราคาดหวังประมาณ 3 เท่า เราต้องการจะทำหนังที่มันหน่อมแน้มกว่านี้เยอะ แบบคนเมืองไปเจอความสงบ เจอสวรรค์ เราก็มีความกังวลในความหน่อมแน้มอยู่เหมือนกันนะ แต่รู้ว่าพอมันอยู่ในมือเรา มันคงไม่หน่อมแน้มมาก

ภาสกร : ผมแทบไม่อยากให้ใครดูสคริปต์ดราฟต์แรกเลย อ๊ายอาย ตอนนั้นมันคิดได้แค่นั้นจริงๆ และมันเห็นแค่นั้น เราไม่มีอะไรในชีวิต เราก็จะค้นหาสิ่งนั้น ใช่มั้ย

เป็นเอก : เราไม่มีความสงบ เราก็โหยหาความสงบ โหยหาความสุข แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่เจอหนังเวอร์ชั่นนี้ แล้วเราทำออกมาได้เท่าที่เราตั้งใจไว้ มันก็ไม่แย่ฮะ ถ้ามันอยู่ในมือเรา เราว่ามันไม่แย่หรอก แต่มันจะไม่ได้เลเวลนี้ อันนี้เรียกว่ามันพาตัวเองไปอีกขึ้นหนึ่งฮะ ไอ้สวรรค์ที่เราคิดว่าที่นั่นเป็น ไอ้สโลว์ไลฟ์ ชีวิตความสุขอะไร ที่นั่นเขาไม่ได้มีอย่างที่เราคิด

: เขายังขาด และเขาก็ต้องการแบบที่คนเมืองมี?

เป็นเอก : โอ้โห มันไม่ใช่สวรรค์นะ มันนรกสำหรับเขาอ่ะ เราไปมองเอง แต่โชคดีที่เรดาร์ของเรามันทำงาน ตอนอยู่ที่นั่นเราเปิดเรดาร์ แล้วเราดาร์มันจับได้ว่าอย่าไปทางนี้เด็ดขาด แต่เราคิดว่าการ turn around ของหนังจากสิ่งที่เราคิดว่ามันหน่อมแน้มมาเป็นแบบนี้ได้ เพราะใจเรามันเปิดฟังชาวบ้าน ถ้าใจเราไม่เปิด เราก็จะไม่ได้ยินสิ่งที่เขาพยายามพูด เราก็จะพยายามกลับมาตัดต่อหนังด้วยการบิดทุกอย่างให้มันลงล็อก มันก็คือการเปิดใจไว้เพื่อจะฟังจริงๆ ว่าเขาไม่ได้พูดสิ่งที่เราคิดเลย

ภาสกร : จะถามให้ตายยังไง เขาก็ตอบแบบนั้นอ่ะ จะไปใช้เทคนิคการสัมภาษณ์ยังไงวะให้ได้อย่างที่เราต้องการ มันไม่มีทาง ชาวบ้านพวกนั้นเขาไม่มีสารพัดเลยฮะ ไม่มีเงิน ไม่มีม้า ไม่มีชีวิตที่ดี ไม่มีอะไรเลย แต่เขามีสตอรี่ที่ดีมาก แล้วเขาแชร์เต็มที่เลยฮะ

เป็นเอก : และเขามีความบริสุทธิ์ ความเยือกเย็น ใครก็ตามที่ปรากฏตัวในหนัง ไม่มีใครเยอะอ่ะ ไม่มีใครดีใจจนเกินเหตุ และไม่มีใครเสียใจจนเกินเหตุ ทุกคนมีความสงบนิ่ง ซึ่งสำหรับผมมันเป็นแก่นของหนังเลย มันทำให้คนที่นี่มีศักดิ์ศรีอ่ะ ไอ้ความนิ่งความสงบอันนี้ เขาไม่ได้มีความสุขนะ อาจจะมีความทุกข์มากกว่าด้วยซ้ำ แต่ว่าไม่มีใครร้องแรกแหกกระเชอกับชีวิต ไม่มีใครเรียกร้องอะไร ทุกคนมีหน้าที่อย่างเดียวคือ survive แบบมีศักดิ์ศรีไปเรื่อยๆ อันนี้มันเป็นสิ่งที่ออกมาเองในหนัง หนังมันให้เราเอง

ภาสกร : ผมไปที่นี่สามรอบ ทั้งสามรอบเราไปกันอย่างช้ามาก เส้นทางจากกาฐมาณฑุไปกัตลัง 160 กิโลเมตรเองนะ แต่มันต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง

เป็นเอก : ความยากลำบากทางร่างกายมันสอนอะไรเราเยอะ ถ้าเป็นเมื่อก่อน มาเมเจอร์รัชโยธินเก้าโมง รถติด แม่งเหี้ยมาก เดี๋ยวนี้สบายมากครับ ไม่เป็นไรครับ คือการเป็นคนขี้บ่นมันหายไปเยอะเหมือนกัน

: เหมือนการทำหนังเรื่องนี้เปลี่ยนความคิด?

เป็นเอก : มันไม่ได้เปลี่ยนหรอก มันแค่ทำให้มีวัคซีน เราเป็นคนใจร้อนก็ใจร้อนเหมือนเดิม แต่มันมีวัคซีน อย่างน้อยก็รู้ว่าใจร้อนเกินแล้ว ใจเย็นลงหน่อย มันรู้เร็วขึ้นครับ แต่ว่าการเป็นคนมีศักดิ์ศรี เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ รู้เลยว่าคนมีศักดิ์ศรีมันเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน มันจะอยู่ด้วยความนิ่ง แต่ละคนในหนังเรื่องนี้เขาไม่ได้อยากเป็นคนอื่นเลย เขาเป็นได้แค่อย่างที่เขาเป็น และเขาก็เป็นอย่างที่มันเป็น ซึ่งพูดให้เข้าใจยาก ต้องมาดูหนังอ่ะ

ภาสกร : กัตลังมันเปลี่ยนผมนิดหน่อย ความคิด ความเรียบง่าย การใช้ชีวิตของคนพวกนั้น ความงดงามของการอยู่เฉยๆ เวลาเขาอยู่นิ่งๆ นี่ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำงานนะ เขากำลังคิดว่าจะเอาข้าวโพดไปเทรดกับข้าวดีมั้ยวะ ผมอาจไม่มีสิ่งนี้มั้ง ผมก็เลยชอบ แต่ให้อยู่เลยไม่อยู่นะ

เป็นเอก : คนพวกนี้มีแสงในตัว มันมีความสว่างใส ไม่รู้ว่าจะพูดว่ายังไง พวกเราแม่งมีความสะดวกมีอะไรหมดเลย แต่แสงที่เปล่งจากตัวพวกเรามันหม่นๆ พวกนั้นแสงมันประกาย เขาไม่มีอะไรเลย แต่มันมีแสงประกายออกมา นั่นคือสิ่งที่เราได้รับ เรียนรู้อะไรหรือเปล่าไม่รู้

แต่การได้ไปปะทะกับคนที่มีแสงในตัวแบบนี้ สำหรับเราแม่งเป็นบุญแล้วอ่ะ ผมจำได้ตอนที่ไปคุยของบกับทรู มีคำถามหนึ่ง ซึ่งมันสร้างความกังวลให้เรามาก เขาถามว่า ทำไมต้องให้เงินทำสารคดีหมู่บ้านนี้ ทำไมพี่ไม่ไปทำหมู่บ้านชาวประมงภาคใต้ หรือไปแม่ฮ่องสอน แล้วผมตอบไม่ได้ เพราะผมไม่รู้ว่าทำไม แต่พอหนังเสร็จรู้เลยว่าไม่มีที่ไหนได้แบบนี้ แล้วพอหนังตัดเสร็จแล้ว เอาให้ทรูดู คำถามนี้ไม่มีเลยครับ โดยที่ไม่ต้องตอบ

: ตั้งเป้าว่าหนังจะสื่อสารกับใคร อยากให้มันทำหน้าที่อย่างไร

ภาสกร : ในฐานะโปรดิวเซอร์ ถ้าผมรู้กลุ่มเป้าหมาย ผมไม่ทำหนังสารคดีหรอกฮะ ผมทำหนังฮอลลีวู้ดแล้ว แต่นี่ผมไม่รู้ ผมทำเพราะมันมีเสียงเรียกให้ผมไปทำ ถ้าผมต้องทำหนังเรื่องนี้โดยที่มีคนดูห้าคน ผมยังจะทำอยู่หรือเปล่า คำตอบคือ ผมทำ

เป็นเอก : ก็สื่อสารกับคนอย่างเรา คนเมือง คนที่ลืมไปแล้วว่าจังหวะชีวิตมันน่าจะเป็นยังไง ไอ้ที่ว่าหน่อมแน้มตอนแรกอ่ะ เราคิดอย่างนี้ หนังทุกเรื่องเราทำให้คนอย่างเราดู จริงๆ คำถามที่เรามักจะถามกันเองเวลาทำหนังไม่ใช่ว่าใครจะดู แต่เราถามว่า เราจะทำยังไงให้เราชอบ ซึ่งแค่นั้นก็ยากฉิบหายแล้ว

ภาสกร : เรามีมาตรฐานของเรา และเราจะไม่ยอมหลุดไปจากมาตรฐานนั้น การทำหนังเรื่องนี้มีอุปสรรคเยอะแยะ แต่เราจะทำให้อยู่ในมาตรฐานของเราให้ได้

: หลังจากหมดยุคนี้จะทำ ประชาธิป”ไทย ต่อมั้ย

เป็นเอก : ตอนนี้มันมีภาคสองอยู่ เพียงแต่ว่ามันยังฉายไม่ได้ บรรยากาศยังไม่พร้อม เนื้อหาก็ต่อเนื่องจากภาคแรก เพียงแต่มันมี subject ที่เรายังไม่ได้พูดในภาคแรก ซึ่ง subject มันยังไม่สอดคล้องกับบรรยากาศ ประชาธิป”ไทย มันคือสารคดีใต้ตุ่ม ยังไงก็ต้องบันทึกไว้ จะได้ดูเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ประเทศนี้มันเดินไปข้างหน้าสองก้าวถอยหลังสามก้าว เดินไปข้างหน้าสามก้าวถอยหลังอีกก้าว มันก็เลยอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่มันไม่ก้าวหน้านะ มันก้าว แต่มันก้าวแบบนี้ จังหวะของประเทศนี้มันเป็นอย่างนี้

ภาสกร : คงได้ฉายครับ แต่ว่าไม่รู้เมื่อไหร่ เขาเลิกถือไม้เรียวเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละ คงได้ฉายสักวัน