ขอแสดงความนับถือ

เราได้อ่านข่าว “หญิง” ถูกกระทำจาก “ชาย”

ทั้งทำร้ายร่างกาย จากบาดเจ็บไปแม้กระทั่ง “เสียชีวิต”

จนแทบจะเป็นข่าวรายวัน

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ เลยอยากพลิก “สถานการณ์” กลับข้าง

ยืนอยู่ข้างผู้หญิงบ้าง

แม้จะเป็นอดีต และเป็นสิ่งใน “จินตนาการ” ก็ตาม

 

เริ่มจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ

ที่นำเสนอบทความเรื่อง “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว / อยากมีลูก ไม่อยากมีผัว”

โดยชี้ตั้งแต่ประเด็นเปราะบางอย่าง “อยู่ก่อนแต่ง”

ที่ในอดีตมิได้เป็นสิ่งไม่ดี หรือสังคมรับไม่ได้

แต่ว่า แท้จริงแล้วเป็นประเพณีดั้งเดิมของอุษาคเนย์ รวมทั้งไทยด้วย

“หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว” เป็นคำคล้องจองของตระกูลไท-ไต มีมาแต่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์

หมายถึงหญิงมีอำนาจสูงกว่าชาย

ชายมีอำนาจบ้าง แต่ต่ำกว่าหญิง

เมื่อชายเป็นบ่าวรับใช้บ้านหญิง เพื่อหวังจะแต่งงานเป็นผัวเมียต่อไปข้างหน้า

ต้องยอมเป็นบ่าวไปจนกว่าเครือญาติฝ่ายหญิงจะยอมรับ ซึ่งใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือหลายปีก็ได้

เช่น 5 ปี 10 ปีก็มี

ระหว่างนี้สังคมยุคนั้น ยอมให้ “อยู่ก่อนแต่ง” และมีลูกก็ได้

 

ส่วน “อยากมีลูก แต่ไม่อยากมีผัว” และ “ลูกรู้จักแม่ แต่ไม่รู้จักพ่อ” นั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า เป็นร่องรอยวิถีชีวิตดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว

อย่างหมัวซัวเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนานในจีน

ฝ่ายชายจะไปที่บ้านหญิงคนรักแล้วนอนค้างคืนด้วยกัน

พอรุ่งเช้าฝ่ายชายก็กลับบ้านของตน

สะท้อนว่าในอดีต บทบาทของฝ่ายชายมีน้อยกว่าฝ่ายหญิงอย่างชัดเจน

แม้กระทั่งเรื่องท้องก่อนแต่ง ซึ่งเป็นเรื่องซีเรียสในปัจจุบัน

แต่ในยุคโบราณ กลับมีคำอธิบายที่ยืนอยู่ข้างผู้หญิง “อย่างก้าวหน้า”

ก้าวหน้าอย่างไร พลิกอ่านที่หน้า 70

ขณะที่คอลัมน์ “เครื่องเคียงข้างจอ” ของ วัชระ แวววุฒินันท์

นำเสนอบทความ “Poor Things ใครน่าสงสารกันแน่”

แน่นอน ใครที่ว่านั้น คือ “ผู้หญิง” และ “ผู้ชาย”

“Poor Things” เป็นหนังที่กำลังมาแรง

กวาดรางวัลในเวทีต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน

และยังได้เข้าชิงถึง 11 รางวัลในงานประกาศผลออสการ์ปีนี้ที่จะมีขึ้นในเช้าวันที่ 11 มีนาคม 2567 นี้

ที่ถูกจับตามาก คือ เอ็มม่า สโตน ที่นำแสดงอย่างโดดเด่น

มีสิทธิลุ้นสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

 

Poor Things เล่าเรื่องในยุควิกตอเรียนของอังกฤษ

ที่หมอศัลยกรรมชื่อ ก็อตวิน แบ็กซ์เตอร์ ได้สร้าง “เบลล่า” ขึ้นมา

โดยการนำสมองของเด็กทารกแรกเกิดมาใส่ในร่างกายของหญิงที่เพิ่งเสียชีวิต

เราจึงได้เห็นเบลล่าที่มีร่างกายเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากมีสมองของเด็กน้อยค่อยๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ อันเป็นธรรมชาติของชีวิต

รวมถึงเรื่องเพศที่เป็นประเด็นใหญ่ของเรื่องนี้

และเพราะเธอไม่ได้เติบโตขึ้นมาแบบคนปกติ

เบลล่าจึงใช้ชีวิตแบบอิสระเสรีที่ไม่มีกรอบของสังคมมาคอยกำหนด

โดยเฉพาะกับความเป็นเพศหญิงที่ถูกกำหนดโดยเพศชายว่าต้องเป็นอย่างไร ห้ามทำอะไร และต้องทำอะไร

แต่เบลล่าไม่ใช่ สิ่งที่เธอคิด พูด และทำออกมา

จึงเป็นพฤติกรรมที่เหมือนตบหน้าผู้ชายอยู่ตลอดเวลา

อันนำไปสู่ข้อสรุปว่า ที่แท้แล้ว ฝ่ายไหนระหว่างชายกับหญิง ที่เป็น Poor Things

 

ที่จงใจขับเน้นไปยังเรื่องของ สุจิตต์ วงษ์เทศ และของ วัชระ แวววุฒินันท์ นั้น

มิได้ต้องการนำไปพาไปสู่กระแส “สตรีนิยม” อย่างสุดขั้ว แต่อย่างใด

หากแต่ต้องการให้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต่างตระหนักถึงความสำคัญของแต่ละฝ่าย

ซึ่งแน่นอน มีภาวะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง คลี่คลาย ไปในแต่ละยุคสมัย

มิได้ให้ฝ่ายหนึ่ง เหนือและหรือต่ำกว่า อีกฝ่ายหนึ่ง

ซึ่งหากเราตระหนักและเห็นภาวะเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่การ “ยอมรับ” และอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเสรี

ไม่คิดกดขี่ ข่มเหง ด้วยเพียงเพราะเห็นว่า ตนเอง “เหนือกว่า” •