ขอแสดงความนับถือ

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

ด้วยเรื่องเบา-เบา (จริงหรือเปล่าไม่รู้?)

กับบทความพิเศษ ของ พิณพิพัฒน ศรีทวี (หน้า 64)

“1 ศตวรรษ หุ่นยนต์สากลราวี

หนึ่งร้อยปีโรคระบาด

และความสำนึกพลาดในสังคม (ไม่) สมบูรณ์แบบ”

 

ปี ค.ศ.1920 คาเรล ชาเป็ก

นักเขียนและปัญญาชนสัญชาติเช็ก

ให้กำเนิดบทละครชิ้นสำคัญ เรื่อง R.U.R (Rossum’s Universal Robots)

บทละครชิ้นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ทำให้ศัพท์ “robot” ในความหมายของมนุษย์กลหรือหุ่นยนต์ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

อนึ่ง 90 ปีต่อมา บทละคร R.U.R ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศไทย

ในชื่อ “ห.ส.ร. หุ่นยนต์สากลราวี” แปลโดยปราบดา หยุ่น

 

ในบทละคร “ห.ส.ร. หุ่นยนต์สากลราวี”

“robot” หรือหุ่นยนต์ ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนอง “ปรัชญาแห่งความสมบูรณ์แบบ”

ผู้บริหารผลิตหุ่นยนต์ ประกาศอย่างอหังการ

“โอ้ อดัม อดัม! เจ้าจักไม่ต้องแลกขนมปังด้วยหยาดเหงื่ออีกต่อไป

เจ้าจะได้กลับคืนสู่สรวงสวรรค์ ที่ซึ่งเจ้าเคยได้รับการดูแลโดยพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

เจ้าจะเป็นอิสระและยิ่งใหญ่

เจ้าจักไม่ต้องมีภารกิจอื่นใด ไม่มีงาน ไม่มีอะไรให้ต้องเอาใจใส่นอกเหนือไปจากการพัฒนาตัวของเจ้าเองให้สมบูรณ์แบบ

เจ้าจะเป็นนายของสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลโลก”

ปี 2567 ที่กำลังมาถึง และในอนาคตอันใกล้

“โรบอต” และรวมถึง “ปัญญาประดิษฐ์” ทั้งหลายกำลังมาแรง

และน่าจะเป็นเทรนด์ของโลกที่ต้องจับตา

จับตาทั้งความเชื่อมั่นที่น่าจะเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการ ที่ทำให้ “โลกสมบูรณ์แบบ”

อีกด้าน จับตาทั้งความกังวลและห่วงใย ว่า โรบอตและปัญญาประดิษฐ์ อาจจะครองโลกและทำลายล้างมนุษย์ หาก “ผู้สร้าง” ไม่อาจควบคุมมันได้

ดังนั้น จึงมีคำเตือน ว่าการฝันถึง “โลกสมบูรณ์แบบ” อาจไม่จริง

และนำไปสู่หายนะได้

หายนะหากพวกหุ่นยนต์ถูกผู้สร้างป้อนข้อมูลให้เห็นว่ามนุษย์คือสิ่งเลวร้าย

แล้วพวกมันจะสร้างสังคมหุ่นยนต์สมบูรณ์แบบขึ้นครองโลกแทน

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อมิให้กังวลกับการคาดหมายในเชิงลบนั้น

ในบทความพิเศษ ของ พิณพิพัฒน ศรีทวี พยายามถ่วงดุลด้วยปรัชญา Wabi-sabi ของไดเซ็ทสึ สุซุคิ (1870-1966) นักเขียนและนักปรัชญาเซน

ที่อธิบายหลักการของวะบิ-ซะบิ ไว้ว่า

‘วะบิ’ คือความเบิกบานแม้ยามยากไร้

ส่วน ‘ซะบิ’ คือ ความสงบ

ปรัชญาวะบิ-ซะบิ จึงเป็น “ปรัชญาแห่งความไม่สมบูรณ์แบบ”

ที่ให้คุณค่าต่อความไม่สมบูรณ์แบบ ว่าเป็นความงาม เป็นความไม่ลงตัวที่ดำรงอยู่ในความเรียบง่าย

และความไม่สมบูรณ์แบบนั้น ทำให้เราเป็นมนุษย์

อันตรงกับแนวคิดทางจิตวิทยามนุษย์ เกี่ยวกับการยอมรับข้อบกพร่อง ยอมรับความผิดพลาด หรือยอมรับตนเอง

ซึ่งล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่การอัพเดตตัวเองอยู่เสมอ

ดังที่ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอร์ (1856-1950) นักประพันธ์บทละครรางวัลโนเบลชาวไอริช กล่าวว่า “การใช้ชีวิตที่ผิดพลาดไม่เพียงมีเกียรติ แต่มันมีประโยชน์มากกว่าชีวิตที่ใช้ไปโดยไม่ทำอะไรเลย”

 

“ปรัชญาแห่งความไม่สมบูรณ์แบบ” จึงพร้อมคัดง้างและถ่วงดุลกับ “ปรัชญาแห่งความสมบูรณ์แบบ”

โลกจะไม่สะวิงไปข้างหนึ่งข้างใด

และปลอบประโลมใจว่า ในปี 2567 หรือในอนาคต เราอาจไม่ต้องดิ้นรนเพื่อก้าวไปสู่โลกแห่งสมบูรณ์แบบมากจนเกินไปก็ได้

เพราะโลกอันไม่สมบูรณ์แบบ ก็มีความงดงาม

และเราสามารถหาความสุขในความไม่สมบูรณ์แบบได้

สวัสดีปีใหม่ •