ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 9 – 15 ก.ย. 59

เชื่อว่า หลายคน เข้าไปชม และกดไลก์ กดแชร์ matichonweekly.com กันบ้างแล้ว

รู้สึกอย่างไร อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง

จะน่ายินดียิ่งขึ้น หากเราจะได้รู้จักกลุ่มคนอ่าน “กลุ่มใหม่” ที่ไม่ได้เติบโตมากับสื่อกระดาษ

โดยเฉพาะ นักอ่านรุ่นใหม่ทั้งหลาย

การได้รู้จักกัน มีแต่จะนำมาสู่การแตกกอ ต่อยอด ออกไปอย่างกว้างขวางขึ้น


สําหรับ แฟนสื่อกระดาษ คงไม่รู้สึกถึงการถูกทอดทิ้ง

และไม่ควรเป็นเช่นนั้นเด็ดขาด

แม้จะมี “สัญญาณ” บ่งบอกบางอย่าง

เมื่อมีสิ่งนี้ จะไม่มีสิ่งนั้น

แต่ก็เชื่อเถิดว่า จะไม่มีการหักโค่นลงอย่างทันทีทันใดเช่นนั้น

ตรงกันข้าม เราเชื่อว่า โลกทั้งสองโลกยังสามารถเชื่อมต่อ เป็นส่วนช่วยเสริม ซึ่งกันและกัน

และเป็นอนาคต ของกันและกันได้ ในอีกหลายช่องทาง

มีจดหมายฉบับหนึ่ง ถูกส่งมาจากดินแดนที่ โลกดิจิตอล เข้าไปไม่ถึง

หรือถึง ก็คงมากด้วยข้อจำกัด

“สื่อกระดาษ” เป็นทางเดียว ที่เราสามารถติดต่อกันได้

โปรดอ่าน


สวัสดีครับพี่ บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์ ทุกท่าน

ผมไม่ใช่คนไทยนะครับ

แต่ชื่นชอบและติดตามอ่าน เพื่อเรียนรู้ศึกษาจากหนังสือเล่มนี้มากพอสมควร

ผมมีโอกาสได้รู้จักหนังสือเล่มนี้ ราวๆ ปี 2552 หมายถึงผมได้เข้ามาอยู่ในโลกสี่เหลี่ยมแห่งนี้แล้วครับ

แรกๆ ก็เข้าใจบ้าง รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง

ติดตามอ่านงานเขียนของพี่หนุ่มเมืองจันท์ เพราะทุกๆ ฉบับพี่เขาจะมีหลายแนวคิด หลายเคล็ดลับไปสู่ความสำเร็จ คิดบวก

บางครั้งคนในโลกสี่เหลี่ยม อย่างผมอ่านแล้วพอยิ้มได้ พอมีความหวังขึ้นมาเลย

ต่อด้วย สุรชาติ บำรุงสุข, นงนุช สิงหเดชะ

การเมืองวัฒนธรรม ของ เกษียร เตชะพีระ

คนแคระบนบ่ายักษ์ ของ แพทย์ พิจิตร, คำ ผกา

มาหลังๆ ผมชอบอ่านหนังสือเรียนสำหรับเด็ก ของ ฟ้า พูลวรลักษณ์ รู้จักเมื่อตอนที่ 90 แล้วเห็นจะได้ และเพิ่งมารู้ตอนหลังว่า ท่านอายุ 63 ปีแล้ว แต่การเขียนของท่านค่อนข้างลุ่มลึก อ่านจบถึงรู้ว่าใคร

ผมเป็นคนขาดความรู้ แต่ใจมันรักในแนวนี้ เลยต้องติดตาม

หาอ่านตามมีตามเกิด

อีกคอลัมน์ อัญเจียขะแมร์ คงต้องยอมรับว่าท่านเข้าใจและศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ได้ละเอียดอ่อนมากกว่าคนขะแมร์แท้ๆ ด้วยซ้ำ

ผมมีโอกาสได้รับทราบเรื่องราวต่างๆ ทางบ้านเกิด โดยท่านนำมาเล่าให้ฟังนี่แหละ

แม้แต่พจนานุกรมภาษาขะแมร์ ซึ่งคนขะแมร์ย่อมคิดว่าเป็นมรดกของ สมเด็จสงฆ์ฌัช นาด แต่เพียงผู้เดียว

เพิ่งรับรู้จากตรงนี้เองว่ายังมีสตรีบารัง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเป็นอย่างมาก

ที่สำคัญท่านทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อกัมพูชา ท่านเมตตา

แม้แต่เรื่อง ภูมิเดรัจฉาน น้อยคนนักที่จะรู้ รวมทั้งผมด้วย

ราวๆ ปี 2552 และ 2553 ผมเคยได้อ่านเรื่องราวพระราชประวัติของ เจ้านโรดม สีหนุ เมื่อครั้งหนึ่ง พระองค์ใช้เวลาเลี้ยงนก เลี้ยงจิ้งจก ตุ๊กแก แต่ในพระราชวังเขมรินทร์ กับเรื่องราวของพระโอรสองค์หนึ่งที่ได้หายสาบสูญ

ซึ่งชาวขะแมร์ให้ความเคารพรัก รอคอย อยากให้พระองค์กลับมาดูแลบ้านเมืองเพราะเมื่อตอนเด็กๆ ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่กระซิบให้ฟัง

ตามอ่านความคิดของปัญญาชน เป็นสิ่งดีที่สุดว่าเขาคิดอะไร

กราบขออภัยที่มารบกวน

ทางไกล คนไกลบ้าน

หลังกระดาษเขียนจดหมายลายมือสวย มีตรายาง หมึกสีแดง ประทับคำว่า “ตรวจแล้ว”

ก็ชัดเจนว่า “ทางไกล คนไกลบ้าน” อยู่ในพื้นที่ “พิเศษ”

อยู่มาตั้งแต่ปี 2552

และใช้สื่อกระดาษอย่าง “มติชนสุดสัปดาห์” เป็นหน้าต่างมองออกมายังโลกข้างนอก

ไม่ใช่คนไทย แต่สามารถเขียนจดหมายด้วยภาษาไทย ที่ถูกต้องเกือบ 100%

นั่นย่อมหมายถึง การฝึกฝนมาอย่างดี ทั้งอ่านและเขียน

จนสามารถอ่านงานของ สุรชาติ บำรุงสุข, เกษียร เตชะพีระ, แพทย์ พิจิตร, คำ ผกา, ฟ้า พูลวรลักษณ์ ฯลฯ ได้เข้าใจ

ย่อมไม่ธรรมดา

ขณะเดียวกัน ยังได้อัญเจียขะแมร์ ช่วยทำให้หายคิดถึงบ้าน ย่อมเป็นเรื่องที่คนทำตื้นตันใจ ว่า สิ่งที่ทำก็เป็นประโยชน์สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อย

แถมยังต้องอยู่ในดินแดนพิเศษอีกต่างหาก

นี่คือ “สื่อกระดาษ” ที่ยังคงความหมาย

และยิ่งจะมีความหมายยิ่งขึ้นหากประสานกับสื่อดิจิตอลได้อย่างลงตัว เป็นมิตร และใช้คุณพิเศษ คือสามารถแพร่ข่าวสารไปในวงกว้าง ชั่วพริบตา

ในวินาทีนี้อาจมีคนกดไลก์ ให้คุณ “ทางไกล คนไกลบ้าน” อย่างอบอุ่นแล้ว!