ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

9 มิถุนายน 2566

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฉลองครบรอบ 25 ปี วันสถาปนาสำนักงาน

พร้อมเปลี่ยนสโลแกน

จากเดิม “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม”

ตัดคำว่า “โปร่งใส” ออกไป

แล้วเพิ่มคำว่า “ชอบด้วยกฎหมาย” เข้ามาแทน

เป็น “สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย”

นำไปสู่คำถาม และข้อวิพากษ์วิจารณ์

ว่าไฉน กกต.รังเกียจคำว่า “โปร่งใส”

 

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. รับหน้าเสื่อ ชี้แจงแทน “7 กกต.” อีกตามเคยว่า

“…ส่วนตัวมองว่าไม่ได้ต่างจากเดิม จะเขียนอย่างไร แต่อยู่ที่ตัวตนเรามากกว่า ว่าจะแสดงออกในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร

…ทำหน้าที่สมควรหรือมีเกียรติหรือไม่

ทั้งนี้ ขอขยายความเรื่องความโปร่งใส

ซึ่งดูได้ 2 อย่าง

คือเห็นได้ด้วยตา จากการที่ กกต.ให้ประชาชนไปร่วมสังเกตการณ์ และบันทึกภาพการเลือกตั้งได้ตลอดเวลา

ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือมีระบบการตรวจสอบ

ตรวจสอบได้ว่ากระบวนการที่ กกต.ดำเนินการเมื่อประชาชนสงสัยก็สามารถตรวจสอบได้ว่ากระบวนการแบบนี้ทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างไร

เหมือนกับกรณีการพิมพ์บัตร การแจกบัตร การนับคะแนน ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง…”

 

ฟังคำอธิบายทำนอง กกต.โปร่งใสอยู่แล้ว ของเลขาธิการ กกต.เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

คงว่าไปตามอัธยาศัย

แน่นอน ย่อมมีหลากหลายมุมมอง

และใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้ อดีต กกต.อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร”

เป็นหนึ่งในผู้ออกมาตั้งคำถาม

“โปร่งใส” หายไปไหน

 

 

ทั้งนี้ อาจารย์สมชัยได้อธิบาย “หลักการของความโปร่งใส” ให้ตรงกันว่า

ความโปร่งใส (Transparency) เป็นหนึ่งในหลักการธรรมาภิบาลของหน่วยงาน (Good Governance)

ประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า

หลักความโปร่งใสในที่นี้จึงหมายถึง การที่สาธารณะสามารถมองเข้าไปเห็นถึงการดำเนินกิจกรรมของหน่วยงาน

เห็นกระบวนการทำงาน เข้าใจเหตุผล วิธีการ และผลลัพธ์ของการดำเนินการต่างๆ

โดยไม่จำเป็นต้องสืบเสาะค้นหา หมายถึงความเปิดเผย (Openness) การสื่อสาร (Communication) และถือเป็นความรับผิดชอบที่หน่วยงานต้องยึดมั่นในหลักการนี้ตลอดเวลาของการทำงาน เพื่อให้องค์การมีความเป็นธรรมาภิบาล

สอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี

ความโปร่งใสจึงเป็นเรื่องที่องค์การต้องเต็มใจในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง จริงใจ ในรูปแบบที่สื่อสารเข้าใจได้ง่าย และสามารถให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก

การพร้อมชี้แจงข้อสงสัยของประชาชนด้วยท่าทีที่เป็นมิตร

ไม่ใช่การปิดบังอำพรางพร้อมข่มขู่คุกคามประชาชนหรือสร้างยุ่งยากลำบากใจให้แก่ประชาชนที่ปรารถนาเข้าถึงข้อมูล

 

หากเราในฐานะประชาชน และ กกต.ยอมรับ ตามหลักการของความโปร่งใส ที่อาจารย์สมชัยวางกรอบไว้ในเบื้องต้น

ต้องยอมรับว่า กกต.ชุดปัจจุบันกับคำว่าโปร่งใส มีปัญหาอยู่มาก

โดยเฉพาะคำว่า

ความเปิดเผย (Openness)

และการสื่อสาร (Communication)

ด้วยสาระสำคัญของงาน ของ กกต.ส่วนใหญ่ เป็นการชี้แจงของเลขาธิการ กกต.เท่านั้น

จะมีจากประธาน กกต.บ้าง ก็ประปราย

ส่วน กกต.อื่นๆ น้อย ถึงน้อยมาก

ที่เราจะได้ฟังคำอธิบาย ความเห็น และทัศนคติของ กกต.เหล่านั้น

 

นี่จึงทำให้อาจารย์สมชัยย้ำว่า

ความโปร่งใสที่สำคัญ คือ การตอบคำถามที่เป็นที่ข้องใจของประชาชนในทุกคำถามที่สงสัยในปัจจุบัน

การกล้าเผชิญหน้าสื่อและตอบคำถามแบบไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า คือ การสื่อสารที่ประชาชนเชื่อได้ว่า เป็นการตอบคำถามที่มาจากสิ่งที่เป็นจริง มิได้ปั้นแต่งหรือเตรียมข้อมูลมาตอบ

ในปัจจุบัน กกต.หลีกเลี่ยงที่จะพบปะกับสื่อมวลชนเพื่อตอบคำถาม แต่จะใช้วิธีการหลักคือใช้เอกสารแถลงข่าว (Press Release) เป็นวิธีการหลัก

การสื่อสารแบบเป็นทางการดังกล่าว แม้ว่าจะสามารถกำหนดเนื้อหาสาระที่ต้องการสื่อสารได้ครบถ้วน

แต่เป็นการสื่อสารทางเดียว หลีกเลี่ยงคำถามที่สื่อมวลชนสงสัย

และยังไม่หลุดพ้นจากคำว่า “ไม่โปร่งใส” ได้

 

วันนี้คำว่า โปร่งใส หลุดหายไปจากสโลแกนของ กกต.

โดยไปวางน้ำหนักไว้ที่ “ชอบด้วยกฎหมาย” แทน

ซึ่งพยายามมองโลกในแง่สวยอย่างที่เลขาฯ กกต.ว่า คือทุกอย่างยังเหมือนเดิม

เดิมแบบไหน อย่างไร

บทบาทสำคัญของ กกต. ในการชี้เป็นชี้ตาย นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งและเสียงส่วนใหญ่ให้การรับรอง

จะเป็นเครื่องพิสูจน์

พิสูจน์ท่ามกลางคำถามและคำวิจารณ์อันมากมาย •