ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

เทศกาลคริสต์มาส และต่อเนื่องไปถึงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 นี้

คาดหมายว่า ลุงซานต้า ทางการเมือง

คงต้องทำงานหนัก ในการแจก “ของขวัญ” เพื่อซื้อใจชาวบ้าน

ปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

แน่นอน “ของขวัญ” ที่ถูกหว่านออกไป

คงเป็นไปอย่างบทความของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ว่าไว้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

คือ มีทั้งปริมาณ คุณภาพ ปั่นราคา สร้างกระแส

ต้องกลั่นกรองกันดีๆ

 

อาจารย์สมชัยบอกว่า ขณะนี้พรรคการเมืองต่างๆ กำลังเล่นเกมตัวเลข

เพื่อสร้างภาพต่อสาธารณะ ให้เชื่อมั่นต่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง

ที่ล้วนประเมินถึงตัวเลข ส.ส.ที่จะได้ เอาไว้สูงลิบลิ่ว

รวมไปรวมมา ส.ส.ที่คุยว่าจะได้นั้น อาจถึง 1,000 กว่าคน ทั้งๆ ที่เก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรมีเพียง 500 ที่

ตัวเลขที่โชว์กัน จึงมีแนวโน้มเป็นเรื่อง “ปริมาณ” มากกว่า “คุณภาพ”

กระนั้น ถึงจะถูกมองเป็นปริมาณ พรรคการเมืองก็คงลุยกันไม่ยั้ง

ด้วยเป็นอย่างที่อาจารย์สมชัยบอก นั่นคือ นอกจากจะสร้างภาพจูงใจประชาชนแล้ว

แต่อีกประเด็นที่สำคัญ

คือเป็นเกมของตัวเลขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มทุนสนับสนุน

ต้องไม่ลืมการเมืองไทยนอกจากเรื่องกระแส ที่เป็นเรื่องความนิยมชมชอบที่มีต่อบุคคล ต่อพรรคการเมือง ต่อจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคแล้ว

ประเด็น “กระสุน” ก็สำคัญยิ่ง

เพราะถือเป็นความพรั่งพร้อมในการออกศึกเลือกตั้ง

กระสุนจะมีได้ ต้องมีนายทุนสนับสนุน

และการสนับสนุนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทุนเล็งเห็นว่าพรรคการเมืองนั้นมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง หรือมีโอกาสเป็นรัฐบาลในอนาคต

การปั่นราคาเพื่อสร้างกระแสเพื่อให้ได้มาซึ่งกระสุนเพียงพอที่จะใช้ในการเลือกตั้งจึงต้องเกิดขึ้น

ทั้งกระแสจริง

ทั้งกระแสที่ปั่นขึ้นมาเอง หรือเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ

เหมือนใช้หลักการตลาดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวสินค้า

ทั้งๆ ที่จริงๆ อาจไม่ได้เป็นอย่างที่อวดอ้างเลย

 

เมื่อกล่าวถึงการตลาดแล้ว

คอลัมน์ “ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง” ของประกิต กอบกิจวัฒนา

มีคำแนะนำไปยังพรรค นักการเมือง ที่ควรใส่ใจ

นั่นคือ “แบรนดิ้งพรรคการเมืองยังไง ให้เป็นแบรนด์ประชาธิปไตย…”

ซึ่งมีหลายคำแนะนำที่น่าทำ

เช่น พรรคการเมืองที่อยากประกาศว่ามีความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย จำต้องชูเรื่อง “พื้นที่” สำหรับผู้คนเป็นอย่างแรก

“พื้นที่” คือการที่พรรคมีกระบวนการที่แสดงออกว่ารับฟังเสียงความต้องการของแต่ละคน

พรรคได้ยินเสียงของคนทำโฆษณา พร้อมกับได้ยินเสียงชาวนา

ได้ยินเสียงชาว LGBTQ+ พร้อมกับเสียงคนพิการ

เสียงคนทำงานออฟฟิศ พร้อมกับเสียงวัยรุ่นที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ฯลฯ

ดังนั้น ประกิต กอบกิจวัฒนา จึงย้ำว่าพรรคที่มีความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตยต้องจัดการ “พื้นที่” ให้ทุกคนรู้สึกว่าสามารถเข้ามาร่วมออกแบบ เสนอแนะนโยบายที่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา

ไม่ใช่เพียงมานั่งฟังคำปราศรัยนโยบายจากพรรคฝ่ายเดียวอีกแล้ว

พรรคที่อยากสร้างให้เกิดความเป็นแบรนด์ประชาธิปไตย

ต้องทำให้ประชาชนที่ศรัทธาในพรรครู้สึกว่าได้รับการเคารพ และมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

นั่นหมายถึงว่า “พรรคได้ยินเสียงของทุกคนทุกกลุ่ม”

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา แย้มว่า วิธีคิดในการเปิด “พื้นที่” ให้ทุกกลุ่มได้ออกแบบนโยบายกลุ่มของตัวเอง

นั่นคือเหตุผลหลัก

และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนแบบที่เราไม่เคยเห็นมานานแล้ว

ดังนั้น อยากมีแบรนด์หรือมีภาพประชาธิปไตยเช่นนั้นบ้าง

คอลัมน์ “ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง” (หน้า 38) ช่วยมาทำการบ้านให้บางส่วนแล้ว–เชิญพิจารณา •