ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

อย่างที่เกริ่นไว้ในฉบับที่แล้ว

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ราคา 60 บาท

เราจะมีนักวิชาการ “หมุมเวียน” มาช่วยจับชีพจรประเทศไทย ในแง่มุมต่างๆ ให้เราได้อ่าน

ทุกสัปดาห์บ้าง เว้นสัปดาห์บ้าง

เพื่อให้ผู้อ่านทันต่อเหตุการณ์บ้านเมืองที่คาดหมายว่าจะเข้มข้นตั้งแต่ปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปถึงปีหน้าทั้งปี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

อาจารย์ “ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี” ประเดิมข้อเขียน ผ่านคอลัมน์ “ฝนไม่ถึงดิน”

ทำไมถึง ฝนไม่ถึงดิน

นี่คือคำอธิบาย…

“เราอาจตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ทุกครั้งที่ฝนตก ใต้ท้องฟ้าเดียวกัน ห่าฝนเดียวกัน

แต่ความชุ่มชื่นของสายฝนอาจไม่ได้ตกลงสู่พื้นดิน…

ดอกหญ้าที่เจริญบนผิวดินก็ไม่ได้รับความชุ่มชื่นเสียที…

ประเทศไทยมีงบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท

งบประมาณมหาศาลนี้ถูกแบ่งตามกระทรวง

แบ่งตามยุทธศาสตร์กระจายออกไป

แต่งบประมาณเหล่านี้ได้ถูกส่งตรงสู่ประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ประเทศที่มีการตั้งงบประมาณหมวดสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำไว้สูงมากกว่า 7 แสนล้านบาท

แต่งบประมาณเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกส่งตรงสู่ประชาชน

งบประมาณเหล่านี้ถูกส่งผ่านระบบราชการ และรัฐรวมศูนย์

โดยมีฐานความคิดสำคัญว่าประชาชนไม่สามารถกำหนดชีวิตของตนเองได้…

ประชาชนธรรมดาหากจะมีชีวิตที่ดีได้ ก็จำเป็นต้องได้รับการอนุญาต

พวกเขาจะทำการอนุญาตให้พวกเราสามารถใช้ชีวิตที่ดีได้เมื่อพวกเขาเห็นชอบเท่านั้น”

นี่จึงเป็นที่มาของคอลัมน์ “ฝนไม่ถึงดิน” (หน้า 30)

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ขณะที่ หากพลิกไปที่หน้า 39

จะพบคอลัมน์ “กาลเปลี่ยนแปลง”

โปรดสังเกต เป็นคำ “ก-า-ล” อันหมายถึง เวลา

เวลาหรือ “กาล” ที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เห็นว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว

เปลี่ยนแปลง หลังระบอบประยุทธ์ปกครองประเทศมาร่วมหนึ่งทศวรรษ

โดยมีความทะเยอทะยานในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐและสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนอย่างเป็นระบบ

เพื่อสร้างระบอบการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

โดยใช้อำนาจบังคับให้กลุ่มสังคมต่างๆ สยบยอม

ถ้าไม่ได้ด้วยการกดปราบอย่างรุนแรง

ก็ด้วยการใช้กฎหมาย

การใช้อามิสสินจ้าง

รวมถึงการตบรางวัลและให้ตำแหน่งกับชนชั้นนำในภาคราชการ กองทัพ ตำรวจ องค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ นายแพทย์ สื่อ นักวิชาการ ศิลปินแห่งชาติ และนักการเมืองให้เข้ามาสวามิภักดิ์

จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจของคณะรัฐประหาร

ทั้งยังแทรกซึมวัฒนธรรมความคิดแบบทหารเข้าไปในสังคม พยายามกล่อมเกลาความคิดประชาชนให้ยอมรับระบบเจ้าขุนมูลอันย้อนยุค…

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุนก็ถูกปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่รัฐเผด็จการทหาร

เอื้อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีเส้นสายเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจได้เข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบาย ทรัพยากร และสถานะที่สามารถครอบงำระบบเศรษฐกิจไทย

และกีดกันไม่ให้กลุ่มทุนรายย่อยและผู้ประกอบการอิสระสามารถแข่งขันในระบบอย่างเท่าเทียมกันได้

เกิดเป็นระบบทุนนิยมแบบช่วงชั้น

ที่ทุนขนาดใหญ่จำนวนหยิบมือหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดมหาศาลและช่วยค้ำจุนระบอบการเมืองแบบเผด็จการทหารเอาไว้อย่างมั่นคง

กลายเป็นปัญหาของประเทศ

ที่จำเป็นจะต้องถึง “กาล” แห่งการเปลี่ยนแปลงแล้ว!

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

หากถามว่า จะ “เปลี่ยนแปลง” อะไร

พลิกไปที่หน้า 38

อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

พุ่งเป้าไปที่ รัฐธรรมนูญแป๊ะ ที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาลนี้บัญญัติขึ้น

โดยชี้ว่า การที่ “แป๊ะ” หรือ “คสช.” ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 โดยอ้างว่าเข้ามาแก้วิกฤตและปฏิรูปประเทศชั่วคราว

แต่ “แป๊ะ” ก็ผูกปมสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายของประเทศในปัจจุบัน

จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนจาก “รัฐธรรมนูญแป๊ะ”

มาเป็น “รัฐธรรมนูญประชาชน” ก่อนที่จะเกิด “วิกฤตรัฐธรรมนูญ” อีกครั้ง ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่ทางตัน

และเมื่อถึงเวลานั้น อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย บอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขี้น

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

โดยยึดสำนวน “ลงเรือประชาชน ตามใจประชาชน”

มิใช่ตามใจแป๊ะ!! •