ขอแสดงความนับถือ ประจำวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ฉบับที่ 2164

ประจำวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ฉบับที่ 2164

ขอแสดงความนับถือ

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร แห่งศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

เขียนบทความ “ถอดบทเรียนการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 จตุจักร หลักสี่” ให้อ่านที่หน้า 10

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

คือการเพิ่มขึ้นของคะแนน “ฝ่ายเสรีนิยม”

น่าสังเกตว่า การเลือกตั้งทั่วไปของเขตเลือกตั้งที่ 9 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562

หากนำคะแนนของฝ่ายเสรีนิยม คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ มารวมกัน

แล้วนำไปเปรียบเทียบกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม คือ พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ มารวมกัน

จะมีสัดส่วนคะแนนประมาณ 53 : 47

 

ส่วนการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

เมื่อนำคะแนนของพรรคฝ่ายเสรีนิยม

คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมารวมกัน จะคิดเป็นร้อยละ 58.92

ในขณะที่หากนำคะแนนของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม คือ พรรคกล้า พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยภักดี มารวมกัน คิดเป็นร้อยละ 40.18

หรือคิดเป็นจำนวนง่ายๆ คือ 60 : 40

การเพิ่มขึ้นของฝ่ายเสรีนิยมนี้ อาจารย์สมชัยชี้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนว่า พลังของกระแสเสรีนิยมนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เป็นการเพิ่มขึ้นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ (New Voters) ที่มีแนวโน้มเป็นเสรีนิยม

 

แนวโน้มนี้ อาจารย์สมชัยยังไม่ได้ลงลึกว่าจะนำไปสู่อะไร

แต่กระนั้น ก็มีคนจำนวนไม่น้อยมองในทางร้ายว่า สังคมไทยอาจเกิดภาวะปะทะกันระหว่างกระแสเสรีนิยมกับกระแสอนุรักษ์

ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะรุนแรง หรือรอมชอมกันได้ขนาดไหน

ถ้าพอรอมชอมกันได้ การเปลี่ยนผ่านก็น่าจะราบรื่น หรือไม่เลวร้ายถึงขั้นแตกหัก

แต่ถ้ารุนแรง หรือรอมชอมกันไม่ได้

หลายคนอีกเช่นกัน ที่มองถึงทางออกแบบไทยๆ ที่มักถูกนำมาใช้

นั่นคือ การปฏิวัติรัฐประหาร

ดังที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หยิบขึ้นมาพูดว่าได้ “กลิ่นปฏิวัติ”

 

นี่จึงทำให้ข้อเขียน “วัฒนธรรมรัฐประหารไทย” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ น่าสนใจ

แม้ว่าอาจารย์นิธิจะบอกว่า

“บางคนได้กลิ่นรัฐประหารแล้ว จมูกผมไม่ดีขนาดนั้น จึงยังไม่ได้กลิ่น”

แต่กระนั้น อาจารย์นิธิบอกว่า ถึงไม่ได้กลิ่นรัฐประหารในครั้งนี้

แต่ก็ไม่กล้ายืนยันว่าไม่เกิดแน่

เพียงแต่ถ้าเกิดขึ้น ก็จะประหลาดใจอย่างยิ่ง

เพราะดูจะไม่จำเป็นเลยสำหรับการบริหารที่ไม่ประชาธิปไตยของฝ่ายอำนาจ

และดูจะเสี่ยงมากกว่าการรัฐประหารครั้งอื่น

 

ทําไมรัฐประหารครั้งใหม่ถึงเสี่ยง

อาจารย์นิธิบอกว่า ว่าที่จริง รัฐประหารเป็นสิ่งล้าสมัยและให้ผลตอบแทนต่ำ

เหลือแต่ตัวผู้ร้ายเซ่อๆ ซ่าๆ เท่านั้นที่ยังทำอยู่

เพราะรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจที่ต้นทุนสูงมาก

ไหนจะโดนต่อต้านจากประชาชนภายใน

หรือไปจับเขา (ฝ่ายต่อต้าน) ติดคุกหรืออุ้มเขาหาย กลับทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษ

ส่วนต่างชาติก็ต้องมีหรือทำทีต่อต้าน เพื่อรักษาหน้าของตนเอง และเหยียบเรืออีกแคมหนึ่งไว้ให้ดี เพราะไม่มีใครรู้ว่ารัฐประหารจะถูกโค่นลงเมื่อไรและอย่างไร

การรัฐประหารแบบโต้งๆ จึงอาจไม่อยู่ในยุคสมัยอีกแล้ว

แต่กระนั้น ก็อย่าวางใจ

ด้วยเผด็จการทั่วโลก (รวมถึงในไทย) ก็มีการปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการให้แนบเนียน สลับซับซ้อนขึ้น

สมัยนิยมของเผด็จการทั่วโลกเป็นอย่างไร

ทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายเสรีนิยม สมควรต้องอ่าน “วัฒนธรรมรัฐประหารไทย” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่หน้า 28

 

อนึ่ง การ์ตูนเจ้าตัวเล็ก ที่มุมปกด้านล่างของมติชนสุดสัปดาห์

แจ้งขออภัยที่ขวัญผวาจากปฏิบัติการ “แทงมิดด้าม”

เลยป้ำเป๋อ บอกว่า “ตู่ ณัฐวุฒิ เขาว่า แทงมิดด้าม หนูไม่เกี่ยวนะลุงตู่”

ความจริงแล้วต้องเป็น “เต้น ณัฐวุฒิ” มิใช่ “ตู่ ณัฐวุฒิ”

ทราบแล้วเปลี่ยน