ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 8 ก.ค. 59

แม้ อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีคดีต้องสะสาง

กระนั้น คงมิได้หมายความว่า “คดี” ดังกล่าวจะทำให้เสียสิทธิ ในการ “ชี้แจง” สิ่งที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับตนเอง

ดังอี-เมลฉบับนี้

จดหมายตอบโต้ นางนงนุช สิงหเดชะ ในบทความเรื่อง “อาการ “เข้างับ” และห้อยโหนโดยพลัน หลังไทยถูกซัก “สิทธิมนุษยชน””

ตามที่ผมได้ถูกนางนงนุชพาดพิง เกี่ยวกับการวิเคราะห์เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทย ภายใต้รัฐบาล คสช. นั้น

ขอแสดงความเห็น ดังนี้

1. นางนงนุชกล่าวหาผมว่าผมมีอคติขั้นรุนแรงที่จ้องจะหาเรื่องรัฐบาล คสช. ตามประสาคนมีแค้นอยู่แล้วนั้น

ในฐานะนักวิชาการ ผมย่อมวิพากษ์วิจารณ์ทุกรัฐบาลที่สร้างผลกระทบในทางลบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ

แม้แต่ในรัฐบาลของ คุณทักษิณ ชินวัตร เองนั้น ผมได้วิจารณ์ในหลายโอกาส เกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ

ถ้านางนงนุชมีเวลาว่าง ผมแนะนำให้นางนงนุชไปหาหนังสือ “การทูตทักษิณ” ของผมอ่านดูบ้าง อาจเป็นการประเทืองปัญหา และเพื่อที่จะเข้าใจว่า ผมวิจารณ์ทุกรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน

2. ผมรู้สึกประหลาดใจที่นางนงนุชเห็นว่า การละเมิดฯ ในยุค คสช. อย่างมากเป็นแค่การเรียกไปปรับทัศนคติหรือติดคุกเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่ารังเกียจเท่ากับยุคทักษิณ

สำหรับผม การละเมิดก็คือการละเมิด ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือรุนแรง กรณีของผมนั้น ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การมาเป็นผู้ต้องหาหนีคดีในความผิดที่ผมไม่ได้กระทำ ถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง และไม่สามารถกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่กรุงเทพฯ ได้

สำหรับผมถือว่าเป็นการฏิบัติที่รุนแรงมาก จึงน่าเป็นห่วงที่นักหนังสือพิมพ์อย่างนางนงนุช เห็นชอบว่า การละเมิดฯ ของ คสช. เป็นสิ่งที่น่ารับได้

3. นางนงนุชยังกล่าวหาว่า ผมวิจารณ์ทุกรัฐบาล ยกเว้นรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์

ผมขอย้ำอีกทีว่า ถ้าใครติดตามผมในเฟซบุ๊ก จะพบว่า ผมได้วิจารณ์ทุกรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และไม่จำเป็นต้องแก้ตัวไปมากกว่านี้

นางนงนุชเองต่างหาก ที่จ้องจะวิจารณ์แต่รัฐบาลของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ แต่กลับทำเป็นมองไม่เห็นเมื่อเป็นความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ หรือของ คสช.

อย่างนี้เข้าข่าย ความผิดตัวเองไม่เห็น ใจมีแต่อคติ มองเห็นแต่ความผิดของผู้อื่น

4. นางนงนุชใช้ว่า “นางชอบโผล่หน้าให้สัมภาษณ์ทีวีสิงคโปร์”

ไม่ทราบว่า นักข่าวที่อ้างว่าตัวเองมีจรรยาบรรณจะใช้สรรพนามเช่นนั้นในการเหยียดเพศ

5. นอกจากนี้ ผมเป็นนักวิชาการด้านการเมืองไทย ไม่ใช่การเมืองสิงคโปร์ ในแวดวงวิชาการรู้กันดีว่า หากไม่ใช่ field ถนัดของเรา ก็ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่เราไม่รู้ลึกซึ้ง

จึงไม่ใช่หน้าที่ของผมที่จะไปวิจารณ์ว่าสิงคโปร์จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

สุดท้ายนี้ หลายคนคงทราบว่า จริงๆ แล้ว ผมไม่เคยเห็นชอบต่อระบอบการปกครองของสิงคโปร์ที่มีความเป็นเผด็จการสูง

การที่ผมย้ายออกไปจากสิงคโปร์เพื่อไปรับตำแหน่งที่เกียวโตนั้น เป็นที่ทราบกันว่า เพราะผมไม่สามารถรับแรงกดดันจากสิงคโปร์ได้อีก โดยเฉพาะในเรื่องการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ

ดังนั้น แม้ผมจะไม่ได้วิจารณ์การเมืองสิงคโปร์อย่างโจ่งแจ้ง แต่ไม่อาจหมายว่า ผมยอมรับมัน

และการที่ผมลาออกจากสถาบันของสิงคโปร์ ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงการไม่ยอมรับความไม่เป็นประชาธิปไตยของสิงคโปร์

รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ไม่มีความเห็นเพิ่มเติมใดๆ สำหรับอี-เมลจากอาจารย์ปวิน และเชื่อว่า ผู้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” คงสามารถวินิจฉัยได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว

แต่ขอชี้แจงแทน “นงนุช สิงหเดชะ” เล็กน้อย ในประเด็น “นาง” ที่อาจารย์ปวินจงใจเรียกเพื่อตอบโต้ในข้อที่ 4 นั้น

เพื่อความถูกต้อง ขอเรียนว่า “นางสาว” ยังคงมั่นคงอยู่กับ “นาง”

และไม่ได้วางมือจาก สงครามสีเสื้อ ตามที่ “วีระชัย คิดต่าง” เข้าใจ

อาจเพราะ “บ.ก.” สื่อความไม่ชัดแจ้งเอง โดยระบุตอนที่ นงนุช สิงหเดชะ ไปวิพากษ์ผลการแข่งขันวอลเลย์บอลระหว่างทีมหญิงไทยกับทีมหญิงญี่ปุ่น ว่าเธอขอวางมือเรื่องสงครามสี ไปเขียนถึงวอลเลย์บอลแทน

จึงมิได้หมายถึงวางมือเรื่องสงครามสีอย่างที่ วีระชัย คิดต่าง เข้าใจ

นางยังอยู่และได้สิทธิ “เปิดกว้าง” ที่จะเขียนและถูกตอบโต้–เหมียนเดิม