ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 26 เม.ย. – 2 พ.ค. 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

แม้ดูเหมือนว่า มติชนสุดสัปดาห์ จะให้พื้นที่ “คนรุ่นใหม่” มาก

แต่หากวัดพื้นที่กันจริงๆ

เนื้อหาของผู้สูงวัยใน “มติชนสุดสัปดาห์” มีอยู่มากกว่า

เพียงแต่ผู้สูงวัยที่โน้มเอียงไปในทาง “อนุรักษนิยม” นั้น มิได้ “ตกขอบ”

หรือไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง

เนื้อหาและการนำเสนอจึงมีพลวัต

มีการขับเคลื่อนไปในสิ่งใหม่

ไม่รั้งดึงให้ผิดธรรมชาติ

ที่สำคัญไม่ใช้ “เงื่อนไข” นี้ไปทำลายล้างฝ่ายใด

ไม่ว่า “อนุรักษนิยมหรือก้าวหน้า” ก็ตาม

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ เรามีบทความพิเศษ

เรื่อง “รัชศก เรวะ ของญี่ปุ่น : อนาคตที่เปี่ยมด้วยความหวัง”

ของ สุภา ปัทมานันท์ มาให้อ่าน

อย่างที่ทราบกัน

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2562 นี้

หลังทรงสละราชบัลลังก์และยุติรัชศกเฮเซ ของพระองค์

1 พฤษภาคม 2562 มกุฎราชกุมาร นารุฮิโตะ จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

และเริ่มต้นรัชศก “เรวะ” ขึ้น

นายกรัฐมนตรีอาเบะกล่าวว่า

“หลังจากความหนาวเหน็บในฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิกำลังมาเยือน เหมือนดังดอกเหมยที่ผลิดอก บานอย่างสง่างาม

ขอให้พวกเราชาวญี่ปุ่นทุกคนมีอนาคตที่เปี่ยมด้วยความหวัง

ให้ดอกไม้ในดวงใจผลิบานจนสำเร็จ

ให้ญี่ปุ่นได้เป็นอย่างที่พวกเราปรารถนา ชื่อรัชศก ‘เรวะ'”

 

สุภา ปัทมานันท์ ขยายความโดยตั้งข้อสังเกตว่า

คำกล่าวของนายกฯ อาเบะ

สะท้อนให้เห็นความเป็นอนุรักษนิยม

ต้องการให้คนญี่ปุ่นภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง

แต่อีกด้าน

รัชศกเรวะ ก็ให้นัยยะถึงการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน

“สภาพสังคมผู้สูงอายุ และสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขาดแคลนแรงงาน

กดดันให้รัฐบาลต้องผ่อนปรนให้มีการนำเข้าแรงงานต่างชาติได้

นับจากนี้ ชาวญี่ปุ่นต้องปรับตัวให้อยู่ร่วมกับคนต่างชาติได้อย่างมีระเบียบ และมีความกลมกลืน

ไม่ก่อให้เกิดความแปลกแยกในสังคมยุคใหม่จนนำไปสู่ความไม่สงบ”

นี่คืออีกนัยหนึ่งของ “รัชศกเรวะ” ที่น่าสนใจ

 

กลับมาสู่ไทย

ธงทอง จันทรางศุ ป่าวประกาศในคอลัมน์ “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง”

“จะเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว”

นับเป็นความโชคดียิ่งของปวงพสกนิกรแห่งยุคสมัยนี้

ที่จะได้ชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันยิ่งใหญ่

ทั้งในวันเสาร์ที่สี่พฤษภาคมตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร ในเวลาเย็นวันที่ 5 พฤษภาคม

“กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคนี้

…ผมเข้าใจว่าเป็นดำริอันชาญฉลาดของท่านผู้ใหญ่แต่ก่อน

ที่จะให้ประชาชนได้เฝ้าฯ ชมพระบารมีของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

…ประชาชนที่เฝ้าฯ รายทางอยู่ทั้งสองฝั่งถนนจะได้เกิดความมั่นใจว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่บัดนี้ได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกโดยเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว

…ความรู้สึกจงรักภักดีที่เพิ่มพูนขึ้น

เมื่อได้เห็นพระองค์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วยสายตาตัวเอง”

“จะเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว…”