CPF เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหาร เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบ”เอลนีโญ”

เป็นที่คาดการณ์กันว่าปรากฎการณ์”เอลนีโญ” จะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง และอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร  หนึ่งในประเด็นสำคัญ

ที่ต้องสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบร่วมกัน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  ซึ่งจำเป็นต่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิตของทุกชีวิตบนโลก  

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจและสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ตระหนักและเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ขาดแคลนน้ำจากผลกระทบเอลนีโญ  ชูหลัก 3Rs ลดการดึงน้ำมาใช้(Reduce)นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)และนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในฟาร์มและโรงงานให้ดียิ่งขึ้น  

นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ  เปิดเผยว่า บริษัทฯส่งเสริมให้ทุกธุรกิจมีความตระหนักและรับผิดชอบต่อการนำทรัพยากรน้ำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ปฏิบัติตามมาตรการจัดการทรัพยากรน้ำ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)ในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  โดยนำหลัก 3Rsมาใช้  ทั้งลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ นำน้ำกลับมาใช้ใหม่  และนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เตรียมแผนรับมือผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญต่อประเทศไทย  ที่อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดลง มีโอกาสเกิดภัยแล้งในบางพื้นที่  และมีความเสี่ยงต่อพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการน้ำสูง      

     

สถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วประเทศ ทั้งธุรกิจสุกร ไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ และไก่ไข่ ได้สำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำจากผลกระทบเอลนีโญ รวมทั้งจัดทำแผนและนำมาตรการต่างๆมาใช้  อาทิ มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในฟาร์มและโรงงานให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้หลัก 3Rs มาตรการลดการใช้น้ำในการเตรียมโรงเรือน  ปรับเวลาการราดน้ำของชุดทำอุณหภูมิโรงเรือนระบบอีแว็ป (Evaporator)ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ  ปรับอัตราการไหลของน้ำที่ใช้ให้เหมาะสม ทำทางน้ำเพื่อรวบรวมน้ำธรรมชาติให้ไปอยู่ที่บ่อผิวดินเพื่อกักเก็บน้ำ  มาตรการขุดและสร้างบ่อผิวดินเพิ่มเติม  เจาะแหล่งน้ำบาดาล  รณรงค์ลดการใช้น้ำที่สิ้นเปลืองด้วยการเพิ่มความถี่ในการสำรวจจุดรั่วไหล  ใช้น้ำจากระบบบำบัดรดน้ำต้นไม้ในช่วงฤดูแล้ง  ฯลฯ     

รวมไปถึงการสำรองน้ำ(Reserve)โดยนำโมเดลธนาคารน้ำใต้ดินมาปรับใช้  ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ได้จัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและทดแทนการซื้อน้ำจากภายนอกได้กว่า 50,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นผลประหยัด 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเกษตรกร อาทิ  ผู้เลี้ยงสุกร ปลูกพืช ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวในการซื้อน้ำช่วงแล้ง    

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ  มุ่งมั่นลดการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง  และได้กำหนดให้การบริหารจัดการน้ำ  เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของเป้าหมายความยั่งยืนของบริษัทซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2565 กิจการประเทศไทยของซีพีเอฟ สามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลงได้ถึง 53 % เมื่อเทียบกับปี 2558  ขณะเดียวกัน กิจการในไทยและต่างประเทศ มีปริมาณน้ำที่นำกลับมาใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ คิดเป็น 24 % (กิจการประเทศไทยและต่างประเทศ) ของปริมาณการดึงน้ำมาใช้ทั้งหมด พร้อมกันนี้  ซีพีเอฟยังได้สนับสนุนคู่ค้าธุรกิจมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟและบริษัทคู่ค้าธุรกิจเองด้วย  .