เปิดใจเลขาฯ สภาพัฒน์ กางแผนลงทุนภาครัฐ รอรัฐบาลชุดใหม่ฟันธง

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่งวดเข้ามาทุกขณะ แต่แน่นอนว่า ตามไทม์ไลน์แล้ว กระบวนการการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จะล่าช้าออกไปราว 6 เดือน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่า ราวเดือนมีนาคม 2567 กฎหมายงบประมาณจึงจะบังคับใช้ได้

นายดนุชา พิชญนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ได้ให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2566-มีนาคม 2567) ซึ่งรวมกับงบฯ ประจำที่ใช้ไปพลางก่อน ก็จะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจราว 1.7-1.8 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกัน สศช.ได้เตรียมรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อรัฐบาลชุดใหม่

พร้อมข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเสนอให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาคต่างประเทศจนตัวเลขส่งออกหดตัวมาต่อเนื่อง 8 เดือน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบมาถึงภาคการผลิต ที่จะมีการผลิตลดลง

และอาจจะกระทบต่อเนื่องไปถึงเรื่องการจ้างงาน

 

“ในช่วงปี 2566 จากตอนนี้ไปถึงสิ้นปี ทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศเอง เรื่องการบริโภค สภาพเศรษฐกิจภายใน ไม่น่าจะมีปัญหา ที่น่าเป็นกังวลมาก จะมีเรื่องเดียวก็คือ หนี้ครัวเรือนที่จะต้องมีการแก้ไขต่อเนื่อง แต่ว่าในส่วนของตัวต่างประเทศ จะมีสิ่งที่มากระทบเศรษฐกิจไทย ก็คือเรื่องการส่งออก ซึ่งในหลายๆ สินค้ามีการส่งออกลดลง ดังนั้น จึงต้องเร่งทำตลาด ขณะเดียวกันก็คงจะต้องเร่งมีการเจรจาที่เป็นลักษณะ FTA หรือว่ากรอบความตกลงทางการค้าอื่นๆ ให้เร็วขึ้น เพื่อที่จะขยายตลาดไปได้”

ขณะเดียวกันก็จะเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ สานต่อนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมาช่วยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์

รวมถึงโครงการดึงโรงงานผลิตชิพต้นน้ำเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เพราะจะเป็นส่วนสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

“ต่อไปอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะต้องพึ่งพาตัวชิพพวกนี้ แล้วก็อุตสาหกรรมเราเองที่เป็นอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตอนนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแล้ว เพราะฉะนั้น โรงงานผลิตชิปพวกนี้มีความจำเป็นที่จะต้องดึงเข้ามา”

นายดนุชากล่าวอีกว่า อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการส่งเสริมพลังงานทดแทน ที่อนาคตจะเข้ามาช่วยภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ในการลดปัญหาการถูกกีดกันทางการค้าจากเรื่องคาร์บอนเครดิตได้

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม อย่างเรื่องของโครงข่ายรถไฟ หรือการขนส่ง ยังมีโครงการในไปป์ไลน์ที่รอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติอยู่ ทั้งโครงการรถไฟทางคู่จากจังหวัดขอนแก่นไปหนองคาย เพื่อให้เชื่อมต่อกับรถไฟที่มาจาก สปป.ลาวได้ดียิ่งขึ้น

อีกส่วนหนึ่ง ก็คือโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมต่อจากนครราชสีมาไปถึงหนองคายเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับทาง สปป.ลาวและจีน ที่เป็นตลาดสำคัญของไทยได้สะดวกขึ้น

แล้วก็มีรถไฟทางคู่สายอื่นๆ ที่ยังต้องเดินหน้าเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสายทางเหนือที่จะต้องไปถึงเชียงใหม่ แล้วก็ทางใต้ที่จะมีอีกแค่บางช่วงที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งมูลค่าลงทุนรวมๆ แล้วก็เกือบ 1 แสนล้านบาท

“เป็นโครงการลงทุนในลักษณะที่จะเป็นการวางรากฐานของประเทศ เพราะว่าถ้าทางคู่ เราทำได้ครบหมดทุกเส้นทาง จะทำให้การให้บริการทางด้านรถไฟ การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะว่าคาปาซิตี้ของทางจะเพิ่มขึ้น ระยะเวลาเดินทางก็จะลดลง”

 

ด้านโครงการรถไฟฟ้า ก็มีที่ยังค้างอยู่ อย่างสายสีส้มฝั่งตะวันตก รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เฟส 2 จากบางซื่อที่จะผ่านไปทางบางลำภู ที่ยังมีเรื่องการเดินรถ ที่จะต้องมาเร่งพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบอย่างไร

ส่วนโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ยังติดอยู่ คงต้องมีการคุยกันระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงคมนาคม

“ต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว เรื่องสายสีเขียว ทุกอย่างผ่านกระบวนการไปหมดแล้ว เป็นการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งก็มีคณะกรรมการขึ้นมาดู แล้วก็ได้มีการเจรจากันเรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจภาคเอกชนด้วย เพราะเขาก็ดำเนินการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยมีสะดุด เพราะฉะนั้น เรื่องนี้คงต้องเร่งคุยกัน แล้วก็แก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติ เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา เพราะด้วยเงื่อนไขของการเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถที่จะดำเนินการอนุมัติในเรื่องที่เป็นภาระต่อเนื่องไปยังรัฐบาลถัดไปได้”

นอกจากนี้ ก็จะมีโครงการลงทุนที่เป็นลักษณะแผนงานประจำ อย่างการขยายกำลังการผลิตน้ำประปาที่ต้องเสนอรัฐบาลเช่นกัน รวมทั้งยังต้องผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องเร่งสร้างอีโคซิสเต็มของงานวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่อนุมัติไปแล้ว อย่าง biorefinery หรือว่าโครงการแสงซินโครตอน ที่จะช่วยในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเกษตร

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในช่วงระยะกลาง และระยะยาวนั้น สิ่งที่น่าจะต้องพิจารณา ก็คือการปรับโครงสร้างภาษี เพราะว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ และ ปัจจุบันมีการจัดสวัสดิการในลักษณะที่เป็นการพุ่งเป้าสำหรับคนเป็นกลุ่มๆ ซึ่งความต้องการสวัสดิการต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“การปรับโครงสร้างภาษี คงจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งในเรื่องการขยายฐาน เรื่องอัตราการลดหย่อน โดยเฉพาะการที่จะต้องเอาคนที่อยู่นอกระบบ เข้ามาในระบบ เพราะต้องยอมรับกันว่าประเทศไทยจะมี Informal sector อยู่ค่อนข้างเยอะ และเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น เราต้องพยายามดึงกลุ่มพวกนี้ให้เข้ามาในระบบ”

 

ด้านแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ถ้าจะเป็นรัฐสวัสดิการในทันที คงทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น เพราะว่าทุกวันนี้ในงบประมาณแผ่นดิน เรื่องสวัสดิการที่ทำแบบพุ่งเป้า ต้องใช้เงินงบประมาณอยู่ปีละประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาทอยู่แล้ว แล้วในการจัดทำงบประมาณ ยังต้องมีงบฯ ลงทุนด้วยที่จะต้องใส่เงินลงทุนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ตามกฎหมายกำหนดสัดส่วนที่ประมาณ 20% ของงบประมาณแต่ละปี

“ถ้าจะทำเป็นรัฐสวัสดิการ ก็ต้องบอกตามตรงว่า ยังทำไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ การจะทำให้ได้จริงๆ เราต้อง หนึ่ง มีฐานข้อมูลของประชาชนที่ครบถ้วน สอง ต้องมีการดูว่าตัวรายได้ขั้นต่ำของคนที่สามารถจะอยู่ได้ ควรจะเป็นเท่าไหร่ และสำคัญที่สุดที่จะต้องดู ก็คือฐานะการเงินการคลังของเรารับได้หรือเปล่า อย่างที่บอก ถ้าดูตัวเลข ณ วันนี้ ฐานะการเงินการคลังของประเทศยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำแบบนั้นได้” เลขาธิการ สศช.กล่าว

ทั้งหมดนั้นคือแผนงานการลงทุนเพื่อเตรียมปรับรากฐานและโครงสร้างประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งยังคงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเคาะ และตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง