พาไปดูศูนย์การค้าทางการแพทย์ของสิงคโปร์ แล้วกลับย้อนมองสถาปนิกบ้านเรา มักคิดแคบๆ ?

ปริญญา ตรีน้อยใส

เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสร่วมเดินทางไปดูงานโรงพยาบาลที่สิงคโปร์ กับฝ่ายกายภาพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อไม่ได้เป็นแพทย์ หากเป็นสถาปนิก สิ่งที่พบเห็นและสนใจ จึงไม่เกี่ยวกับการแพทย์และการรักษาพยาบาล หากเป็นอาคารสิ่งก่อสร้างและสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นที่มาของมองบ้านมองเมืองสัญจร ครั้งนี้

หนึ่งในสถานที่ไปดูงาน คือเมืองสาธารณสุขโนวินา Novena Health City ที่ตั้งอยู่กลางเมือง ไม่ไกลจากย่านการค้าออร์ชาร์ด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาทางการแพทย์ ของเจ็ดหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน มีทั้งโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรค สถาบันวิจัยทางการแพทย์ และโรงเรียนแพทย์

การดำเนินงานยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็มีความก้าวหน้าเห็นรูปธรรมชัดเจน ภายในพื้นที่กว่าพันไร่ มีทั้งการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ การปรับปรุงอาคารเดิม และการสร้างอาคารใหม่ รวมพื้นที่ใช้สอยในทุกอาคาร มากถึงหกแสนตารางเมตร

เพื่อรองรับผู้ป่วยใน 1,500 เตียง รวมผู้ป่วยนอก แพทย์ เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป หมื่นกว่าคนต่อวัน

นอกจากเป็นการเพิ่มความสามารถในการรักษาพยาบาลโรคร้ายต่างๆ แล้วยังมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาต่อเนื่อง และศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ เมื่อรวมกับความยุ่งยากซับซ้อนในการรักษาพยาบาล การเรียนการสอน และการวิจัยเฉพาะทาง อีกทั้งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสารสนเทศ

ทำให้การออกแบบและก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่และอาคารต่างๆ มีรายละเอียดมากกว่าอาคารทั่วไป

เฉพาะการสัญจรติดต่อและขนส่ง ที่ต้องออกแบบและวางผัง การเข้าถึง การติดต่อหรือเชื่อมต่อภายใน ของผู้คนจำนวนมาก หลากหลายประเภท คือมีทั้งแพทย์ เจ้าหน้าที่ บุคลากร คนไข้ ญาติ และผู้ที่มาติดต่อ ทั้งการขนส่งเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา อาหาร เสื้อผ้า ของใช้ ไปจนถึงขยะธรรมดาและขยะอันตราย ที่จะต้องมีลำดับ มีความต่อเนื่อง มีความชัดเจนและสะดวก อีกทั้งปลอดโรค ผ่านตามถนนและทางเท้าบนดิน สกายวอล์กและทางข้ามลอยฟ้า และทางเดินและทางลอดใต้ดิน

ส่วนเรื่องความร่มรื่น พื้นที่สีเขียว และต้นไม้ ภายในโครงการนั้น ไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นจุดขายของสิงคโปร์อยู่แล้ว

ที่น่าสนใจคือ มีการวางแผนให้อาคารและพื้นที่ภายในโครงการ สัมพันธ์กับอาคารและพื้นที่ภายนอกโดยรอบ ที่มีทั้งร้านค้า ศูนย์การค้า โรงแรม และคอนโดมิเนียม รวมไปถึงโครงข่ายการจราจร ระบบขนส่งมวลชนทั้งระบบราง และรถยนต์

ด้วยแนวคิดประสานประโยชน์กับอาคารที่อยู่โดยรอบ ที่เป็นที่จอดรถ ร้านอาหาร ร้านค้าทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวการรักษาพยาบาล รวมทั้งสถานีรถไฟใต้ดิน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกผู้เจ็บไข้และเจ้าหน้าที่ และลดปัญหา ลดภาระ และพื้นที่ส่วนโรงพยาบาล

ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของโครงการ นอกจากการรักษาพยาบาล และการเรียนรู้และวิจัยแล้ว คือความสัมพันธ์ และความเชื่อมต่อกับชุมชนโดยรอบ

เห็นแล้วนึกย้อนกลับมามองบ้านเรา คงไม่เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น หากสถานที่ราชการอื่น เช่น โรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย จะพบเห็นแต่อาคารใหญ่โต สวยงาม และทันสมัยเหมือนบ้านเขา

แต่ทว่า สถาปนิกบ้านเรา มักคิดแคบๆ ออกแบบแยกจากพื้นที่และชุมชนโดยรอบ เริ่มตั้งแต่ก่อรั้วสูง และสร้างกำแพงป้ายชื่อมโหฬาร นอกจากไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม และการสัญจรติดต่อแล้ว ยังไม่เตรียมส่วนบริการ โดยผลักปัญหาออกนอกพื้นที่ เช่น ร้านค้า ที่จอดรถ โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ ปล่อยให้เกิดแผงค้า รถเข็น ขายของขายอาหารรอบๆ พื้นที่

เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับข้าราชการเจ้าหน้าที่ประจำ โดยไม่สนใจประชาชนชาวบ้านทั่วไป ทั้งๆ ที่เป็นผู้เสียภาษีสำหรับก่อสร้างสถานที่ และจ้างเจ้าหน้าที่มาให้บริการ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส