ซีพีเอฟมุ่งแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน เดินหน้า “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ปีที่ 20

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลให้ฤดูฝนของไทย ปี 2566 ล่าช้าและค่าฝนตกเฉลี่ยน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3 ปี เรื่องนี้เกษตรกรที่อยู่ใน “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กลับไม่ต้องวิตก เพราะมีน้ำปุ๋ยที่บริษัทแบ่งปันให้ สำหรับใช้รดพืชผลทางการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ทำให้ไม่ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งมานานกว่า 20 ปี

หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของโครงการฯ นี้ อยู่ที่ฟาร์มสุกรจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ริเริ่มโครงการปันน้ำปุ๋ย เมื่อ 17 ปีก่อน จากจุดเริ่มต้นของปัญหาภัยแล้งและน้ำจากแม่น้ำปิงยังเข้าไม่ถึง ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรทำการเกษตรไม่ได้ ขณะที่ฟาร์มจอมทองมีระบบใช้น้ำหมุนเวียนภายในฟาร์ม ไม่มีการปล่อยน้ำออกสู่ภายนอกดังเช่นฟาร์มของบริษัททั่วประเทศโดยใช้น้ำปุ๋ยจากบ่อบำบัดบ่อสุดท้ายหลังออกมาจากระบบไบโอแก๊ส (Biogas) สำหรับรดน้ำต้นไม้ในฟาร์ม เมื่อเกษตรกรสังเกตว่าในฟาร์มไม่เคยมีปัญหาแล้ง จึงขอนำน้ำปุ๋ยไปใช้ ปัจจุบันมีเกษตรกรรับน้ำรวม 13 ราย

นางพันธนา สิงห์ทะ หนึ่งในเกษตรกรผู้ใช้น้ำเป็นรายแรกๆ บอกว่า ก่อนที่จะร่วมโครงการฯ พื้นที่ทั้งหมดปลูกพืชแทบไม่ได้เลย เพราะพื้นที่เป็นดินทราย หลังจากได้น้ำปุ๋ยของฟาร์มจอมทองมาใช้ทั้งปลูกข้าวโพด ปลูกพริก ปลูกมะเขือ พบว่าผลผลิตดีมากโดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีเลย เกษตรกรจึงตั้งชื่อว่าน้ำวิเศษ สอดคล้องกับ นายอินทัน สิงห์ทะ กล่าวว่า หากไม่ใช้น้ำปุ๋ยผลผลิตจะไม่ดีเท่าที่ควร น้ำที่ได้รับนี้มีประโยชน์มาก ช่วยประหยัดต้นทุน พืชผลเจริญเติบโตดี เพราะในน้ำมีแร่ธาตุที่เหมาะกับพืช ตอนนี้ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว สามารถปลูกพืชได้ตลอดปี และไม่เคยประสบปัญหาภัยแล้งอีกเลย ด้าน นายสุเทพ อะตะมะ ขอบคุณซีพีเอฟที่จัดโครงการนี้ ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีน้ำใช้ ก็ได้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มหมูมาช่วยไว้ ทำให้พืชผลงอกงาม ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพราะหากไม่ได้ใช้น้ำปุ๋ยต้นพืชจะไม่งาม และสิ้นเปลืองปุ๋ยเคมี ส่วนที่ ฟาร์มสุกรปราจีนบุรี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ที่จัดโครงการน้ำปุ๋ยให้กับเกษตรรอบข้าง มานานกว่า 15 ปี ปัจจุบันมีเกษตรกร 6 ราย รับน้ำไปใช้ต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ นางนิมนต์ วงษ์แก้ว บอกว่า รับน้ำปุ๋ยมาตั้งแต่ปี 2556 หลังจากเห็นตัวอย่างฟาร์มอื่นๆ ของบริษัทที่จัดโครงการปันน้ำปุ๋ย จึงขอรับน้ำมาใช้ซึ่งใช้ได้กับพืชผักทุกชนิด ทั้งกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ ข่า ตะไคร้ ชะอม ผักสวนครัว ให้ผลผลิตดีมาก ตอนหลังปลูกมะพร้าว ซึ่งปกติ 7 – 8 ปี ถึงจะติดลูก แต่ที่สวนปลูกแค่ 4 – 5 ปี ก็เก็บผลผลิตได้ขอบคุณซีพีเอฟที่ปันน้ำปุ๋ยให้ตลอด 10 ปี เกษตรกรรอบข้างไม่เคยประสบปัญหาแล้งเลย

ทางด้าน ฟาร์มสุกรนนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่แบ่งปันน้ำให้เกษตรกร 9 ราย สำหรับใช้ปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยูคา หญ้าเลี้ยงสัตว์ พืชสวนครัว โดยพื้นที่ 2 – 3 กิโลเมตรรอบฟาร์ม จะต่อท่อน้ำให้เกษตรกร ส่วนพื้นที่ไกลกว่านั้นเกษตรกรจะมาสูบน้ำไปใช้เอง นอกจากนี้ฟาร์มยังแบ่งปันกากมูลสุกรหลังการบำบัดจาก Biogas ให้เกษตรกรด้วย 

นายอ๊อด ปัทธิสามะ เกษตรกรผู้รับน้ำปุ๋ยเป็นรายแรกตั้งแต่ปี 2558 เล่าว่า เนื่องจากปัญหาภัยแล้งไม่มีน้ำใช้ ผู้จัดการฟาร์มจึงแนะนำให้ลองใช้น้ำปุ๋ยไปรดต้นยูคา มะละกอ พริก ฟักทอง เผือก ซึ่งได้ผลผลิตดีมากเพราะน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสม ช่วยลดค่าปุ๋ยได้มากกว่า 70% ขอบคุณทางฟาร์มที่ปันน้ำให้และยังรับซื้อผลผลิตจากสวน นำไปปรุงอาหารให้กับพนักงาน ส่วน นายยนต์ คงโนนนนอก บอกว่าเมื่อได้ทดลองใช้น้ำปุ๋ยผสมกับน้ำที่ขังในนาข้าว พบว่าผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นกว่า 50% หลังเกี่ยวข้าวก็ปลูกข้าวโพดหลังนาต่อ โดยใช้ปุ๋ยเสริมเล็กน้อยในช่วงออกดอกเข้าฝัก ผลผลิตก็ดีอีก ช่วยประหยัดต้นทุนเพิ่มรายได้

ความสำเร็จจากธุรกิจสุกรที่ดำเนิน “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” รอบข้างฟาร์มมานานกว่า20 ปี ปัจจุบันได้ต่อยอดสู่ธุรกิจไก่ไข่ ด้วยการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบ Biogas ให้เกษตรกรข้างเคียงนำไปใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิต ภายใต้หลักการ 3Rs : Reduce Reuse Recycle ซีพีเอฟภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนค่าน้ำ ค่าปุ๋ย แก่เกษตรกร