ซีพีเอฟ “การ์ดไม่ตก” ยกระบบคอมพาร์ทเมนต์ หัวใจป้องกันไข้หวัดนก สร้างอาหารมั่นคงปลอดภัย

องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในหลายประเทศในช่วงต้นปี 2565 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานพบการติดเชื้อในคนในหลายประเทศ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่ประเทศอังกฤษ รวมถึงรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H9N2 H5N2 และ H5N6 ในหลายมณฑลในสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่ประเทศไทย กรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมรับมือและดำเนินการเฝ้าระวังโรคสัตว์ปีกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ไทยมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรค รวมถึงมีระบบคอมพาร์ทเมนต์ที่แข็งแกร่งตามมาตรฐานของ OIE จึงสามารถป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้จนถึงปัจจุบัน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือ ซีพีเอฟ ยกระดับมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามรูปแบบการบริหารจัดการภายใต้หลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และระบบคอมพาร์ทเมนต์ (compartment) ซึ่งซีพีเอฟได้ผ่านการรับรองมาตรฐานคอมพาร์ทเมนต์ของ OIE สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อตั้งแต่ปี 2554 เป็นรายแรกของไทยและได้ขยายขอบเขตการรับรองมาตรฐานครอบคลุมตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มสัตว์ปีกพันธุ์ โรงฟักไข่สัตว์ปีก ฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อ และโรงงานแปรรูปสัตว์ปีก เพื่อวางมาตรการและควบคุมระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (HACCP) เพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงในการเกิดโรคตลอดกระบวนการผลิตสัตว์ปีก

สพ..ดร.พัชรีภรณ์ นิลวิไล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สัตวแพทย์บริการด้านสัตว์ปีก กล่าวว่า บริษัทฯ มีการตรวจติดตามสถานะสุขภาพฝูงสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง อาทิ มีโปรแกรมการเก็บตัวอย่างswab จากฝูงสัตว์ปีกพันธุ์และสัตว์ปีกไข่เพื่อส่งตรวจแยกเชื้อไวรัสก่อโรคสำคัญ รวมถึงเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจติดตามสถานะทางภูมิคุ้มกันของฝูงสัตว์ปีกต่อโรคติดเชื้อสำคัญเป็นประจำทุกเดือน สำหรับฟาร์มสัตว์ปีกเนื้อ จะมีการสุ่มเก็บตัวอย่าง swab และอวัยวะทุกฝูงก่อนปลด เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ว่าฝูงสัตว์ปีกปราศจากการติดเชื้อไวรัสสำคัญ (ได้แก่ ไข้หวัดนกและนิวคาสเซิล) ควบคู่กับการตรวจสอบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะและสารตกค้าง เพื่อสร้างความมั่นใจของผู้บริโภค สำหรับโรงงานแปรรูปจะมีการส่งตัวอย่างเนื้อและผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจยืนยันอีกครั้งว่าผลิตภัณฑ์ปราศจากจุลชีพก่อโรคและปลอดสารตกค้างก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค โดยการดำเนินการทุกขั้นตอนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขออนุมัติจับและเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกสู่โรงงานแปรรูปจากกรมปศุสัตว์ ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟมีโครงการเก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรคสำคัญในสัตว์ปีกในบริเวณพื้นที่กันชนรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม รวมถึงมีการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการให้รวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีทันสมัยด้วยระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ปีกในฟาร์มระบบปิด ป้องกันการสัมผัสเพื่อลดความเสี่ยงที่พนักงานจะนำโรคเข้าสู่ฝูงสัตว์ปีกและลดความเครียดของตัวสัตว์ด้วย ตัวอย่างเช่น กล้องวงจรปิด ระบบการควบคุมระบบระบายอากาศ แสง ความชื้นและอุณหภูมิภายในโรงเรือน อุปกรณ์อัตโนมัติควบคุมให้อาหารและน้ำ เครื่องชั่งน้ำหนักอัตโนมัติหุ่นยนต์กลับแกลบ และการพัฒนา application ควบคุม ติดตาม รายงานและวิเคราะห์ข้อมูลด้านประสิทธิภาพการเลี้ยง ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดการเข้าสัมผัสสัตว์ปีกของพนักงาน ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการเป็นพาหะของโรค

ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ได้นำระบบควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity control) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญด้านการจัดการและวางมาตรการเพื่อป้องกันโรค ลดความเสี่ยงของการนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามาสู่ฟาร์มและฝูงสัตว์ปีกภายในฟาร์ม ลดโอกาสการระบาดของโรคทั้งภายในและระหว่างฟาร์ม ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการควบคุมและป้องกันโรคมาใช้ควบคู่กับระบบคอมพาร์ทเมนต์ สิ่งสำคัญของอาหารปลอดภัย ต้องมาจากกระบวนการผลิตที่ดี มีคุณภาพ ซีพีเอฟ จึงมุ่งมั่นดำเนินการผลิตด้วยระบบการจัดการฟาร์มที่ดี ควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ สามารถควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย บนหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใส่ใจชุมชนอย่างยั่งยืน