อ่วม! ส่งออกอาหารไทยปี 63 ลด 4.1% เหลือ 9.8 แสนล้าน ลุ้นปี 64 ตั้งเป้า 1.05 ล้านล้าน

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ว่า ในปี 2563 ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยหดตัวลง 6.5% เป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะในกลุ่มมันสำปะหลัง อ้อย (น้ำตาล) และสับปะรด

ส่วนภาคการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2563 มีมูลค่า 980,703 ล้านบาท ลดลง 4.1% หรือในรูปดอลลาร์คิดเป็นมูลค่าส่งออก 31,284 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 5.1% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.32% จาก 2.49% ในปี 2562 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อนโดยจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย

นางอนงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ยังมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมีมูลค่าส่งออก 581,533 ล้านบาท หดตัวลง 5.6% หรือมีสัดส่วนส่งออก 59.3% ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบมีมูลค่าส่งออก 399,170 ล้านบาท ลดลง 2.0% หรือมีสัดส่วน 40.7% ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม

ส่วนแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,050,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1. สินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากที่หลายประเทศเริ่มมีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 แก่ประชาชน 2. ราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสับปะรด 3. การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าที่นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์ธุรกิจส่งออกอาหารของไทยทั้งระยะสั้น กลาง ยาว โดยสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขระยะสั้นคือ ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะเป็นอุปสรรคอย่างมากในการส่งออกของไทยวันนี้ควรประคองให้ค่าเงินอยู่ที่ 31.50-32.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จึงจะแข่งกับประเทศอื่นได้ รวมทั้งแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์และการขนส่งทางเรือ คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน และแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง รวมทั้งข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่ต้องเร่งทำข้อตกลง เพราะไทยมีเพียงข้อตกลงอาร์เซป และยังเสียอัตราภาษีที่เคยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี หรือจีเอสพี รวมทั้งเอฟทีเอ ที่ไทยยังไม่ได้ลงนามกับหลายประเทศ ก็ยิ่งทำให้ไทยสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน

ส่วนในระยะกลางมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ที่ไทยนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทูน่าที่ไทยต้องนำเข้า 90% เพื่อแปรรูปส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งกุ้ง หมึก ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนทั้งสองทาง คือ ทั้งการนำเข้าและส่งออก เพราะประเทศไทยต้องการเป็นครัวของโลก ซึ่งจะเป็นไม่ได้หากขาดแคลนวัตถุดิบ ประเทศไทยมีความชำนาญด้านการแปรรูปอาหาร โดยต้องมีความชัดเจนว่าจะนำเข้าสินค้าเกษตรมาเพื่ออะไรเพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรภายในประเทศ ภาคเอกชนขออนุญาตมานานแต่ไม่ได้รับการอนุญาต เพราะห่วงเรื่องโรคติดต่อและกระทบต่อเกษตร

ส่วนปัญหาระยะยาวรัฐบาลต้องศึกษาความได้เปรียบเสียเปรียบโอกาสของประเทศเทียบกับทั่วโลก ทั้งด้านวัตถุดิบ การแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าที่ผ่านการแปรรูปแล้ว และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจะเป็นอย่างไรในอนาคตรัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทั้งระบบ เพื่อให้เอกชนมีเข็มทิศที่เดินไปได้

“เราหมดเวลาแล้วที่จะบอกว่าเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ไม่สามารถนั่งอยู่จมกับอดีตที่หอมหวนอีกต่อไปได้น่ากลัวมากที่เราตกอันดับจากประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 เป็นอันดับที่ 13 ของโลกภายในปีเดียวและรัฐบาลควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารได้แล้ว” นายพจน์ กล่าว

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งเป็นอะไรที่เอกชนไม่สามารถยอมรับได้ยอดส่งออกในบางตลาดก็ลดต่ำลงคือตลาดยุโรปที่ไทยสูญเสียสิทธิจีเอสพีไปแล้วทำให้ประเทศที่ยังได้สิทธินี้และมีการลงนามเอฟทีเอส่งออกได้มากขึ้น เท่ากับว่าไทยสูญตลาดในส่วนนี้ไปอย่างมาก และหากปัญหาต่างๆ ที่ภาคเอกชนไม่ได้รับการแก้ไขก็จะทำให้ไทยตกขบวนการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารหรือแม้กระทั่งการเป็นครัวของโลกไปให้กับประเทศคู่แข่ง คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เพราะประเทศเหล่านี้มีข้อตกลงทางการค้าเยอะมาก มีการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาแปรรูปและส่งออกจำนวนมาก