E-DUANG : โรดแมป “เลือกตั้ง” บนฐาน “ง่อนแง่น”

ความเชื่อมั่นที่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้หมดสิ้นไปแล้วโดยพื้นฐาน

คล้ายกับจะบังเกิด”ความเชื่อมั่น”ใหม่ขึ้นมา

นั่นก็คือ ความเชื่อมั่นที่ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

แต่ถามว่ามี”ความเชื่อมั่น”อย่าง”มั่นใจ”หรือไม่

หากจับอากัปกิริยาจากนักการเมืองระดับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำ รุง หรือ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ก็เด่นชัดว่าไม่มั่นใจ

ยิ่ง นายเสนาะ เทียนทอง ยิ่งฟันธง

ฟันธงด้วยความจัดเจนเป็นอย่างสูงว่าจะยังไม่มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นี่คือ “ความมั่นใจ”อันมีพื้นฐานมาจาก”ความไม่มั่นใจ”

 

ความไม่มั่นใจต่อโรดแมปการเลือกตั้งไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเริ่มเข้าใจมากยิ่งขึ้น

เพราะ “นักการเมือง” ย่อมสัมพันธ์กับ “ประชาชน”

บทสรุปของนักการเมืองจึงนอกจากจะมาจากประสบการณ์และความจัดเจนในทางการเมืองแล้ว

ยังอยู่ที่การรับฟังความเห็นและความรู้สึกของประชาชน

ความจัดเจน 1 ที่รู้สึกร่วมกันก็คือ คำประกาศโรดแมปอันมาจากคสช.และรัฐบาลดำเนินไปอย่างไม่อยู่กับร่องกับรอย มีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เห็นได้จากเมื่อมี”ปฏิญญาโตเกียว”ก็มี”ปฏิญญานิวยอร์ค”และมี”ปฏิญญาทำเนียบขาว”

ขนาดประกาศต่อ”ผู้นำ”ระดับ”โลก”ยังแปรเปลี่ยน

จากความจัดเจนที่สะสมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงนำไปสู่ความมั่นใจ 1 ซึ่งสำคัญ คือความมั่นใจในภาวะที่ขาดความเชื่อมั่น

ขาดความเชื่อมั่นต่อคสช. ขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล

 

เป็นอันว่า ในทางการเมืองไม่เพียงแต่มองข้ามโรดแมปเดือนพฤศจิกายน 2561 ไปแล้วเท่านั้น

หากที่ตั้งเป้าไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ไม่แน่ใจ

1 ไม่แน่ใจว่าคสช.ได้ตระเตรียมฐานในทางการเมืองของตนเอาไว้มากน้อยเพียงใด และ 1 ไม่แน่ใจว่าคสช.มีความมั่นใจในฐานทางการเมืองของตนมากน้อยเพียงใด

ความไม่แน่ใจนั่นแหละคือ”ตัวกำหนด”ทางการเมือง