E-DUANG : ​คะแนน ความนิยม ต่อ “ประยุทธ์”

ท่าทีและการแสดงออกของพรรคการเมืองและนักการเมืองดำเนิน ไปด้วยความอ่อนไหวอย่างเป็นพิเศษ

แต่ภายในความอ่อนไหวนั้นสะท้อนบาง “แนวโน้ม” ได้

อย่างเช่นท่าทีของพรรคการเมืองและนักการเมืองต่อรัฐประ หารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นมาตรวัดได้อย่างดีถึงความสำเร็จและความล้มเหลว

หากจำได้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่าน “ประชามติ” ในเดือนสิงหาคม 2559 ก็มีการประกาศจัดตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป” ขึ้น เพื่อต่อยอดความนิยมต่อคสช.และต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถามว่ามาถึงเดือนเมษายน 2561 ความนิยมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเส้นคงวาหรือไม่

 

หากศึกษาผ่านโพลบางสำนัก ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์โพล ไม่ว่าจะเป็นนิด้าโพล คะแนนและความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังนำ

ขณะที่หากศึกษาผ่านสวนดุสิตโพลและกรุงเทพโพลอาจตรงกันข้าม

แล้วความเป็นจริงจะ”อ่าน”ได้อย่างไร

ถามว่าอ่านจากความนิยมของประชาชนในการติดตามรายการ “ศาสตร์พระราชา”ทุกวันศุกร์ได้หรือไม่

ยังน่าสงสัย

เพราะแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็ออกมายอมรับว่าคนติดตามฟังน้อยลงเป็นลำดับ

ทั้งๆที่ดำเนินไปอย่าง”บังคับ”ให้ฟัง

 

กระนั้น ท่าทีของพรรคการเมืองในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นมาตรวัดหนึ่ง

เพราะพรรคการเมืองต้องฟังเสียง”ชาวบ้าน”

พรรคเพื่อไทยอันคะแนนนิยมอยู่อันดับ 1 ตั้งแต่ยังเป็นพรรคไทยรักไทยต่อมายังพรรคพลังประชาชน ประกาศเฉียบขาดว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พรรคประชาธิปัตย์อันคะแนนนิยมอยู่อันดับ 2 ก็ประกาศไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นเดียวกัน

ท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองจึงทรงความหมาย

ยิ่งใกล้เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยิ่งทรงความหมายว่าจะดำเนินไปอย่างไร