E-DUANG : หลักแห่ง “อนิจจัง” กับสถานะ “คสช.”

 

ไม่มีอะไรสะท้อน “หลักคิด”ของคสช.ได้ยอดเยี่ยมเท่ากับการผลิตประดิษฐ์สร้าง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

1 สะท้อนหลักคิดในแบบ”คุณพ่อรู้ดี”

ไม่เพียงแต่จะรู้ดีภายในกรอบเพียง 5-10 ปี หากแต่มีความมั่นใจถึงระดับ 20 ปี

1 สะท้อนหลักคิดในเรื่อง “อำนาจ”

มั่นใจว่าอำนาจและการตัดสินใจจะอยู่ในกำมือและความรับผิดชอบของตนยืนยาวไปไม่ต่ำกว่า 20 ปี

ตรงนี้คือคำตอบในประเด็น”การสืบทอด”

1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดยังเป็นการยืนยันในหลักคิดอันขัดกับหลักการพื้นฐานของพุทธธรรมอย่างสิ้นเชิง

นั่นก็คือ มองข้ามความเป็นจริงแห่ง”อนิจจัง”

 

เหมือนกับการกำหนด“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”จะยอมรับในภาวะ แห่งความเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ของสังคม

เพราะมีคำว่า 20 ปีเป็นตราประทับ

แต่ลองมองสภาพที่แวดล้อมอันเป็นเหมือนบริบทของสิ่งที่รองรับ “ยุทธศาสตร์” ก็จะประจักษ์ในหลักคิดอันจำหลักอย่างหนักแน่น

นั่นก็คือ หลักคิดที่มองสรรพสิ่งอย่างสถิต หยุดนิ่ง กักขังอยู่ภายในกรอบ

เริ่มจากความเป็นจริงพื้นฐานแห่ง “อำนาจ”

ไม่จำเป็นต้องมองล่วงหน้าไปอีก 20 ปีขอให้มองย้อนกลับไปยังเกือบ 4 ปีภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็จะสัมผัสได้ในความเปลี่ยนแปลง

“อำนาจ”ในเดือนเมษายน 2561 กับ “อำนาจ”ในเดือนพฤษภาคม 2557 แข็งแกร่ง มั่นคงเหมือนเดิมหรือไม่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตอบได้ดีที่สุด

 

ไม่ว่าปรากฎการณ์ที่เห็นผ่านคำสั่งคสช.ฉบับที่ 53/2560 ไม่ว่าปรากฎการณ์ที่เห็นผ่านร่างพรป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

นี่ย่อมเป็น “สินค้า” ตัวอย่างอันเท่ากับเป็นเงาสะท้อน”หลักคิด”

หลักคิดที่มองสรรพสิ่งอย่างสถิต หยุดนิ่ง ตายตัว

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง สรรพสิ่งล้วนหนีไม่พ้นกฎแห่งอนิจจังไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน