E-DUANG : การตัดสินใจ สำคัญ การเมือง บทเรียน จากกรณี เสรีพิศุทธิ์

คำประกาศความพร้อมของพรรคเสรีรวมไทยโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ กำลังจะกลายเป็น”กรณีศึกษา”ในทางการเมือง

มีความร้อนแรงแหลมคมไม่ยิ่งหย่อนกว่าการตัดสินใจเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก่อนหน้านี้

คำถามอยู่ที่ว่าเพียงการมองและประเมินว่าพรรคพลังประชารัฐไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่ก็เท่ากับว่าพรรคพลัง ประชารัฐหลุดพ้นจากคุณภาพ”เดิม”ในทางการเมือง

ความหมายอย่างตรงตัวก็คือ แม้จะยังมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เป็นคนละส่วนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความหมายอย่างตรงตัวก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้มีบทบาทอะไรกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แค่ รับเชิญจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเท่านั้น

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐก็เท่ากับว่า พรรคพลังประชารัฐและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลอยตัวและแยกออกมาต่างหาก

ปฏิกิริยาต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส จีงเป็นคำตอบหนึ่ง

 

จริงละหรือที่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มิได้มีส่วนอะไรกับรัฐ ประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เพราะเมื่อปี 2549 เป็นงานของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใน ขณะที่เมื่อปี 2557 เป็นงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่คำถามซึ่งต้องการการสังเคราะห์อย่างจริงจังก็คือ  รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับ รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กันหรือไม่

จากพื้นฐานนี้จึงนำไปสู่การมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลหลังยุบพรรคพลังประชาชน และนำไปสู่การร่วมในรัฐบาลหลัง รัฐ ประหารเดือนพฤษภาคม 2557

บทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในพรรคพลังประชารัฐและรับแผนสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ความสัมพันธ์และการตัดสินใจระหว่างพรรคเสรีรวมไทยกับพรรค พลังประชารัฐ ระหว่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำเนินไปอย่างไร

เป็นการตัดสินใจในทาง”ส่วนตัว” หรือเป็นเรื่อง”การเมือง”

เป็นการเมืองอันสะท้อนถึงบทบาทและพฤติกรรมที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันและขับเคลื่อนทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ทั้งหมดนี้กำลังเป็น”คำถาม” และเป็น”กรณีศึกษา”อันแหลมคมยิ่งต่อแต่ละการให้”คำตอบ”ในทางการเมือง