E-DUANG : เสียงตะโกน ออกไป ดังกึกก้อง สนองตอบ ต่ออารมณ์ “สังคม”

ไม่ว่าจะเป็น “นักการเมือง” ไม่ว่าจะเป็น “นักเคลื่อนไหว”ในทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น “นักการตลาด” จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อวิถีแห่งการขับเคลื่อนของ “สังคม”

นั่นก็คือ ต้องติดตามและจับ “แนวโน้ม”ให้ได้ว่ากำลังดำเนินไปอย่างไร

หากไม่เข้าใจต่อ”แนวโน้ม” ก็มองไม่เห็น “กระแส”

ที่ปราชญ์ทางการเมืองสรุปว่า “มวลชนคือวีรชนที่แท้จริง”ไม่เพียงเป็นการเน้นบทบาทและความหมายของมวลชนในฐานะอันเป็นพลัง

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากเพราะว่า ทิศทางในการเคลื่อนไหว ของมวลชนสะท้อนให้เห็นถึงความเรียกร้อง ความต้องการของมวล ชนว่าเป็นอย่างไร

นี่ย่อมสอดรับกับบทสรุปทางการตลาด”ลูกค้าคือพระเจ้า”

เหตุใดเสียงร้องตะโกน “ออกไป ออกไป”จึงดังกึกก้อง เหตุใดเสียงนี้จึงกลายเป็นความต้องการที่กว้างขวางและลึกซึ้ง

กระทั่ง มีความเป็นไปได้ที่จะเป็น”อารมณ์ร่วม”ของสังคม

 

ถามว่าสภาวะอันเป็นรากฐานแห่งเสียงร้องตะโกน”ออกไป ออกไป”ที่เคยดังกึกก้องเมื่อเดือนธันวาคม 2562 นั้นประกอบส่วนในทางความคิดมาอย่างไร

อาจเริ่มต้นจากปากของ “นักการเมือง” บางคนจากบางพรรค แต่คำถามก็คือมีผู้เห็นด้วยหรือไม่

รูปธรรมแห่งการเห็นด้วยอาจยังไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลันทันใด แต่การเคลื่อนไหวเกือบตลอดปี 2562 ก็เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

ยืนยันว่า “หวอด”แห่งความไม่พอใจอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่ก็เริ่มขยายออกไปสู่สังคมในวงกว้าง

กลายเป็นเสียงร้องของคนใน”กลุ่มไทยไม่ทน”ในที่สุด

 

อารมณ์ในทางสังคมเช่นนี้มีรากฐานมาจากรัฐประหารอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประ หารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ยิ่งเมื่อประสบกับวิกฤตอันเนื่องแต่การแพร่ระบาดของไวรัส

ยิ่งทำให้ความทุกข์ยากแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและซึมลึกกวาดตะกอนอันนอนก้นอยู่ให้ปรากฏออกมา

นี่คือ แนวโน้ม นี่คืออารมณ์และความรู้สึก”ร่วม”ในสังคม