E-DUANG : บทเรียน ความล้มเหลว ยุบพรรค จากไทยรักไทย ถึง”อนาคตใหม่”

การยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองอาจเป็น”เครื่องมือ”หนึ่งในการจัดการกับพรรคการเมืองและนักการเมือง

เหมือนที่จัดการกับ”ไทยรักไทย”และ”อนาคตใหม่”

ในทางรูปแบบสามารถลบคำว่า”ไทยรักไทย”ออกไปได้ สามารถลบคำว่า”อนาคตใหม่”ให้ออกไปได้จากสารบบการจดจัดตั้งพรรคการเมือง

แต่ไม่สามารถทำให้ “ไทยรักไทย” ทำให้”อนาคตใหม่”สลายไปได้ในทางเป็นจริง

เพราะเมื่อมีการยุบพรรคไทยรักไทยก็เกิดพรรคพลังประชาชน และเมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชน ทุกวันนี้สังคมก็รับรู้ในบทบาท และความหมายของพรรคเพื่อไทย

และเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่เพียงแต่พรรคก้าวไกลจะได้บังเกิด หากการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้าก็คึกคัก

การยุบพรรคจึงมีความหมายและผลสะเทือนในทางกายภาพ ในทางรูปแบบเท่านั้น

ขณะที่ในทาง”ความคิด”ในทาง”การเมือง”ยังคงดำรงอยู่

 

จากนี้จึงเห็นอย่างเด่นชัดว่า รากฐานในการกำหนดมาตรการการลงโทษโดยผ่านกระบวนการยุบพรรค เป็นการลงโทษแต่เพียงในทาง กายภาพถือได้ว่าเป็นลัทธิรูปแบบอย่างหนึ่งในทางการเมือง

นั่นก็คือ ส่งผลให้ไม่มีพรรคชื่อไทยรักไทย ชื่อพลังประชาชน ส่งผลให้ไม่มีพรรคชื่ออนาคตใหม่

ขณะเดียวกัน ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไม่อาจลงสมัครรับเลือกตั้งได้ระยะหนึ่ง

แต่ถามว่าคนอย่าง นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่เคยถูกตัดสิทธิใน ทางการเมืองไม่สามารถเคลื่อนไหวได้จริงละหรือ

ความเป็นจริงก็คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ยังเคลื่อนไหวได้

 

การเห็นบทบาทของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง การเห็นบทบาทของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงเท่ากับยืนยันว่าการยุบพรรคการเมือง การตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเพียงการลงโทษในทางกายภาพ

ยิ่งรากฐานแห่งการตัดสินมากด้วยเงื่อนปมยิ่งกลายเป็นปัญหา

เป็นปัญหาค้างคาใจพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ค้างคาใจนักการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อในการกลั่นแกล้ง

ยิ่งทำให้กระบวนการต่อต้านแข็งขืนมีความแข็งแกร่ง มั่นคง