E-DUANG : บทเรียน กรณี อับดุลเลาะห์ บทเรียน กรณี ของ “บิลลี่”

ไม่ว่ากรณีของอับดุลเลาะห์แห่งสายบุรี ปัตตานี ไม่ว่ากรณีของบิลลี่แห่งแก่งกระจาน เพชรบุรี

คือ อาการป่วยไข้ของสังคม

ถามว่าในยุคคสช.เรื่องเช่นนี้สามารถปรากฏและสำแดงออกมาได้อย่างเสรีหรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่

มีคนจำนวนมากมีชะตากรรมอย่างเดียวกับบิลลี่ และเสียชีวิตอย่างมากด้วยเงื่อนงำอย่างเดียวกับอับดุลเลาะห์ คนแล้วคนเล่าศพแล้วศพเล่า

แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้ง แต่เมื่อแสงแห่งประชาธิปไตยแม้จะยังน้อยนิดเป็นอย่างมาก

แต่ก็ส่องไล่”ความมืด”ที่เคยครอบงำออกไปได้

 

เด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ว่ากรณีของอับดุลเลาะห์ ไม่ว่ากรณีของบิลลี่มีชะตากรรมสัมพันธ์อยู่กับอำนาจรัฐ อยู่กับกลไกแห่งอำนาจรัฐ

นั่นก็คือ สามารถจับกุมและกักตัวได้เพียงแต่เกิดความแคลง คลางกังขา

บิลลี่เมื่อถูกจับกุมก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย

มาปรากฏอีกครั้งก็ปรากฏว่าถูกอัดแน่นอยู่ในถังซึ่งถูกถ่วงจมอยู่ในสายน้ำ

ต้องขอบคุณ DSI ที่ทำให้ได้เห็น

กรณีของอับดุลเลาะห์ถูกจับไปเมื่อเดือนกรกฎาคมและกลับออกมาจากค่ายทหารในเดือนสิงหาคมก็เป็นศพ

ท่ามกลางความกังขาของภรรยาและเครือญาติ

เงื่อนงำที่กังขาเมือ่ไม่ได้รับความกระจ่างจากทางทหารก็กลายเป็นความกังขาระดับกว้าง จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามายังกรุงเทพมหานคร

และก็เข้าสู่คำถามผ่าน”สภาผู้แทนราษฎร”

 

จากนี้จึงเด่นชัดยิ่งว่ากระแสอันเนื่องจากกรณีอับดุลเลาะห์ กระแสอันเนื่องจากบิลลี่ ดำเนินไปในแบบน้ำลดตอผุด ความจริง ก็สำแดงตัวออกมา

อุปมาเหมือนคสช.เป็นดังความมืดที่เคยครอบงำ ฉันใด การมาของการเลือกตั้งคือแสงอันสาดฉายเข้าไป ฉันนั้น

      ต้องขอบคุณ”ประชาธิปไตย”ที่เบิกสถานการณ์ เบิกมิติใหม่ในทางการเมือง