E-DUANG : สรุป ประเมิน สามัคคีธรรม แปรรูป เป็น พลังประชารัฐ

การเมืองหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีความต่าง และความเหมือนไม่เพียงแต่กับการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อเดือน

กุมภาพันธ์ 2534

หากต่างและเหมือนแม้กระทั่งหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยา ยน 2549

จุดต่างอาจมาจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

แต่ความเหมือนอย่างยิ่งอยู่ที่การเคลื่อนไหวของนักการเมือง และพรรคการเมือง

นักการเมืองที่น่าจะสูญพันธุ์ แต่ไม่ยอมหมดสิ้นไป

เราจึงสัมผัสได้ถึงความพยายามประกอบส่วนแบบ”พรรคสามัคคีธรรม” แต่ด้วยองค์ประกอบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ตรงนี้แหละที่จะสร้าง”ผลต่าง”ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

เส้นแบ่งอย่างสำคัญในทางการเมืองที่ยากจะปฏิเสธบทบาทและผลสะเทือนจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

คือ การเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544

เป็นครั้งแรกที่มีการนำ”นโยบาย”ของพรรคมาเป็นปัจจัยเพื่อสร้างชัยชนะ

นั่นก็คือ นโยบายของ”พรรคไทยรักไทย”

ตามปกติแล้วแม้จะประกาศนโยบาย แม้จะเป็นรัฐบาล พรรคการเมืองก็ไม่มีโอกาสได้นำนโยบายไปปฏิบัติเพราะส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลผสม

แต่พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกอย่างเป็นกอบเป็นกำและที่สำคัญได้นำนโยบายไปลงมือ”ปฏิบัติ”อย่างจริงจัง

นี่แหละคือฐานอันแข็งแกร่งในทางการเมือง

ทำให้ไม่ว่าจะยุบพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะยุบพรรคพลังประ ชาชน เมื่อมาเป็นพรรคเพื่อไทยก็ยังได้ชัยชนะ

นี่คือ เส้นแบ่งอันสร้าง”จุดต่าง”อย่างสำคัญทางการเมือง

 

มีความพยายามจะฟื้นกระบวนการสร้างพรรคในแบบพรรคสามัคคีธรรมหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ขึ้นมาอีก

เห็นได้จาก “พรรคพลังประชารัฐ”

นี่คือการผสมผสานระหว่างพรรคสามัคคีธรรมเมื่อปี 2534 เข้ากับพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อปี 2550 หวังว่าจะสามารถสร้างชัยชนะขึ้น

ทั้งๆที่ผลสะเทือนจากเมื่อเดือนมกราคม 2544 ยังคงอยู่