E-DUANG : 4 ปี รัฐประหาร คสช. สงคราม “ความเชื่อมั่น”

มาตรการเข้มของคสช.ต่อ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”ได้เสนอคำถามอันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

นั่นก็คือ จะมี “เลือกตั้ง” หรือไม่

แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะยืนยันผ่านคำแถลงข่าวอย่างหนักแน่นเมื่อตอนบ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม ว่า

“กำหนดชัดเจนแล้วคือ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีเลือกตั้ง”

กระนั้น หากประเมินผ่านท่าทีที่ปฏิบัติต่อพรรคเพื่อไทยเมื่อประสานเข้ากับที่ปฏิบัติต่อ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ก็ไม่แน่ว่าจะมี เป้าหมายเพื่อ “การเลือกตั้ง”อย่างเป็นจริง

เพราะเป็นมาตรการ “เข้ม” เพราะเท่ากับยืนยันในบทบาทของคำสั่งคสช.ซึ่งอยู่เหนือกว่า “รัฐธรรมนูญ”

เหมือนกับย้อนไปยัง 22 พฤษภาคม เมื่อ 4 ปีก่อน

 

แท้จริงแล้ว การแสดงออกของ”กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง”เป็นเรื่องปก ติอย่างธรรมดายิ่งในสังคมประชาธิปไตย

เว้นก็แต่ในสังคม”อ-ประชาธิปไตย”เท่านั้นที่ผิดกฎหมาย

บทบาทและท่าทีอันมาจาก “คสช.” มิได้เป็นหลักประกันแม้แต่น้อยว่า “คสช.”มีความพร้อมที่จะเดินหน้าไปสู่”การเลือกตั้ง” ตามโรดแมป

แม้จะเอ่ยถึงภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ตาม

เพราะในความรับรู้ของประชาชน นี่มิได้เป็นครั้งแรกที่ “คสช.” ประกาศท่าทีใน “การเลือกตั้ง”

เคยมี “ปฎิญญาโตเกียว” เคยมี “ปฏิญญานิวยอร์ค”

และหลังสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ก็เคยมี “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ประกาศจะเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

แล้วผลที่ตามมาเป็นอย่างไร

ยิ่งผ่านไปนานวัน บทสรุปอันมาจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เมื่อเดือนกันยายน 2558 ยิ่งดังกึกก้อง

“เขาอยากอยู่ยาว”

 

สถานการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบทสรุป “เขาอยากอยู่ยาว”ของ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เป็นความจริงจนปี 2561

ปมตกค้างในความรู้สึกของประชาชนต่อ”คสช.”จึงยังเป็นปมเก่า นั่นก็คือ ปมจากความไม่เชื่อมั่น จากความไม่ไว้วางใจ

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน