E-DUANG : ปรากฎการณ์ ของพริษฐ์ วัชรสินธุ เงาสะท้อน เสรีนิยม ชนชั้นกลาง

การปรากฏตัวผ่านกระบวนการ รี-โซลูชั่น ของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ  สร้างความตื่นตลึงในทางการเมืองเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าจะมองจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมองจากพรรคกล้า

เพราะว่าที่ยืนอยู่เรียงเคียงข้างกับ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ คือ นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า

อย่าแปลกใจหากจะมีข้อเสนอ ”เลิกวุฒิสภา” ตามมา

ความจริง ความคิดนี้เป็นของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตั้งแต่ยังเป็นกำลังสำคัญของกลุ่ม”นิว เด็ม”ภายในพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว พลันที่มาอยู่ในกลุ่ม ”รี-โซลูชั่น”

แนวคิดในเชิง ”รื้อ” การเมืองเก่าและสร้างการเมืองใหม่จึงฉายโชนออกมาอย่างต่อเนื่องและทรงพลัง

หากมองจากมุมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ย่อมมากด้วยความห่วงใย ยิ่งหากมองจากมุมของ นายกรณ์ จาติกวณิช ยิ่งมาก

ด้วยความกังวลเป็นอย่างสูง

ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะรู้สึกอย่างไร ไม่จำเป้นต้องกล่าวว่า นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จะหน้านิ่วคิ้วขมวด

 

ต้องยอมรับว่าเป้าหมายของ “รี-โซลูชั่น”มิได้อยู่ที่การวางรากฐานในทางความคิดเรื่อง”รัฐธรรมนูญ”เพื่อนำไปสู่การรื้อระบอบประยุทธ์ และเสริมเติมความแข็งแกร่งให้กับระบอบประชาธิปไตย

และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม นายพริษฐ วัชรสินธุ ก็ก้าวไปสู่แนวคิดในเรื่องของการปฏิรูปอย่างรอบด้าน

ไม่เพียงแต่จะปักธงในทางความคิดถึงความไม่จำเป็นที่จะต้องมีอยู่ของ”วุฒิสภา” หากแต่ยังทะยานเข้าไปสู่พรมแดนของประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างมีวุฒิภาวะ

ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะมองบทบาทของ นายพริษฐ วัชรสินธุ ว่าเป็นพวกซ้ายจัด เป็นพวกมาร์กซิสต์ เพราะรากฐานของ นายพริษฐ์  

คือ รากฐานของเสรีนิยม รากฐานของชนชั้นกลางอย่างเด่นชัด

 

ปรากฏการณ์ในแบบของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ คือ ปรากฏการณ์แบบเดียวกับที่เห็นผ่าน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ น.ส.ปภัสยา สิทธิ วัฒนจิกุล หรือ นายไผ่ ดาวดินจากชัยภูมิ

ท่วงท่าและการเคลื่อนไหวของพวกเขาต่างไปจาก”อดีต”

ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อ เดือนตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

หากจะเป็น”ซ้าย”ก็เป็นซ้ายในแบบ”เสรีนิยม”อย่างเด่นชัด