E-DUANG : ลักษณะ อนิจจัง ของสรรพสิ่ง เรื่องของ # อยู่เป็น อยู่ไม่เป็น

ระหว่าง # อยู่เป็น กับ # อยู่ไม่เป็น ดำเนินไปอย่างมีพลวัต ดำเนินไปตามกฎแห่งอนิจจัง ดำเนินไปอย่างมีลักษณะสัมพัทธ์

มิได้เป็นสภาพที่”สัมบูรณ์” ตายตัว

หากมองผ่านสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเรียกว่าคน ไม่ว่าจะเรียกว่าพรรค ไม่ว่าจะเรียกว่าคณะ ไม่ว่าจะเรียกว่ากลุ่ม

มิได้ดำรงอยู่อย่าง “สัมบูรณ์” ตายตัว

ตัวอย่างของ “อาฮุย” ถูกมองว่าเขามีลักษณะในแบบ”กลไก”เชิงเพลงยุทธ์

นั่นก็คือ ชมชอบแต่”แทงตรง” ทื่อๆ

แต่เมื่อผ่านการเคี่ยวกรำจากความเจ้าเล่ห์เพทุบายของลิ่มเซียนยี้ที่คิดว่า”อาฮุย”แทงตรงสถานเดียวไม่ใช่แล้ว

อาการ”คิดตก”ของเขานั่นแหละคือ ZATORI

 

แท้จริงแล้ว วิถีดำเนินแห่ง # อยู่เป็น กับ # อยู่ไม่เป็น ขึ้นอยู่กับห้วงเวลาและสถานการณ์อันแน่นอนหนึ่ง

บางครั้ง # อยู่เป็น อาจเหมาะสม

บางครั้งมีความจำเป็นต้องงัดเอาวิทยายุทธ์ในแบบ # อยู่ไม่เป็น มาสำแดงให้เห็น

2 กลยุทธ์นี้จึงดำเนินไปอย่างมีพลวัต แปรเปลี่ยน

อย่าว่าแต่ “กลยุทธ์” จะต้องแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละสภาพเลย แม้กระทั่ง “ยุทธศาสตร์”อันเป็นเป้าหมายหลักก็อาจต้องมีการปรับมี การเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม

ในเมื่อ # อยู่เป็น ก็ดี ในเมื่อ # อยู่ไม่เป็น เป็นกระบวนท่าอันเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ เป็นยุทธวิธี จึงมิได้เป็นเรื่องหยุดนิ่ง ตายตัว หากมีความจำเป็นก็ต้องปรับ

“ยุทธวิธี”ปรับได้ “ยุทธศาสตร์”ต่างหากที่ต้องแน่วแน่ มั่นคง

 

หากมองกระบวนการ # อยู่เป็น และ # อยู่ไม่เป็น ตามวิถีดำเนินของชีวิต ก็จะประจักษ์ในความเปลี่ยนแปลง

1 เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เป็นเรื่องของสังขาร

ขณะเดียวกัน 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางความคิด อันเป็นผลจากธรรมชาติและสังคม

ไม่มีอะไรที่หยุดนิ่ง ตายตัว ไม่มีการขยับ ปรับเปลี่ยน

ชีวิตในทางปัจเจกเป็นเช่นนี้ ชีวิตในทางสังคมก็เป็นเช่นนี้ นั่นก็คือขึ้นอยู่กับกฎแห่งอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

คำว่า”ยืดหยุ่น”และ”พลิกแพลง”จึงสำคัญและจำเป็น