E-DUANG : รัฐบาล ประยุทธ์ พลังประชารัฐ บทเรียนจาก พรรคทหารในอดีต

พลันที่พรรคพลังประชารัฐดึงพรรคชาติพัฒนาเข้ามาแล้วมอบตำ แหน่งรัฐมนตรีให้ 1 ตำแหน่ง ความขัดแย้ง แตกแยกภายในก็ปรา กฎออกมาอย่างเด่นชัด

เห็นจากความไม่พอใจเงียบๆจากพะเยา เห็นจากความไม่พอใจเงียบๆจากชลบุรี

แต่ที่ดุดันมากที่สุดกลับมาจาก”กลุ่มสามมิตร”

ไม่ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่า นายอนุชา นาคาศัย ล้วนหงุดหงิด

หงุดหงิดเพราะที่เคยจัดวาง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อยู่กระ ทรวงพลังงานกลับกลายเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม หงุดหงิดเพราะ นายอนุชา นาคาศัย หลุดออกจากวงโคจร

ป้อมค่ายที่คิดว่าแข็งแกร่งกลับทำท่าง่อนแง่น โงนเงน

 

ถามว่ารัฐบาลพรรคเสรีมนังคศิลาถึงคราพินาศมาจากปัจจัยใด ถามว่ารัฐบาลพรรคชาติสังคมถึงคราพินาศมาจากปัจจัยใด ถาม ว่ารัฐบาลพรรคสหประชาไทยถึงคราพินาศมาจากปัจจัยใด

คำตอบก็คือ มาจากความขัดแย้ง แตกแยก “ภายใน”

พรรคเสรีมนังคศิลาเกิดการแยกตัวเป็นพรรคที่มี นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ เป็นหัวหน้า พรรคชาติสังคมเพราะส.ส.เริ่มทวงถามเรื่องผลประโยชน์

พรรคสหประชาไทยก็เดินตามรอยพรรคชาติสังคมอย่างเข้มข้น

ผลก็คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 ผลก็คือ รัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ผลก็คือรัฐประหารเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2514

ขณะที่พรรคเสรีมนังคศิลาแตกแยกเมื่อจัดตั้งรัฐบาลและเข้าบริหาร ขณะที่พรรคชาติสังคมแตกแยกเมื่อจัดตั้งรัฐบาลและเข้าบริหารระยะหนึ่ง

แต่กรณีของพรรคพลังประชารัฐเริ่มแตกแยกตั้งแต่ฟอร์มครม.อันเท่ากับเรือยังมิได้ออกจากท่าก็มีแววว่าอาจจะอับปาง

 

เป้าหมายของกลุ่มสามมิตรที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายอนุชา นาคาศัยแสดงออกมิได้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากแต่อยู่ที่ฝ่ายบริหารภายในพรรค

แต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปัดการรับผิดชอบไปได้อย่างง่ายดาย

คำถามอยู่ที่ว่าจะใช้ไม้แข็ง หรือไม้นวม