E-DUANG : อนาคต ของ ประชาธิปัตย์ การตัดสินใจ ใน 5 มิถุนายน

พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในจุดตัดอย่างสำคัญยิ่งในทางการเมือง นั่น ก็คือ จุดตัดระหว่างการเมืองแบบเก่า กับ การเมืองแบบใหม่

การเมืองแบบเก่าต่อรองเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า

นั่นก็คือ ขอให้ได้ผลประโยชน์ ได้กระทรวงสำคัญอันเป็นเป้าหมายก็เพียงพอ

อาจจะอ้างนโยบาย อาจจะอ้างอุดมการณ์ แต่ก็รับรู้กันว่าเสมอเป็นเพียง “น้ำยาบ้วนปาก” เป็นเหตุผลตามสมัยนิยมแต่มิได้จริงจังอะไรมากนัก

ตรงกันข้าม การเมืองแบบใหม่ คือ การเมืองที่มองไกลไปยังอนาคตในเชิง”ยุทธศาสตร์”

มิได้มองแค่ “ยุทธวิธี”เฉพาะหน้า

มิได้มองแค่ “เก้าอี้” หรือ “ตำแหน่ง”ใกล้มือ

 

การที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล 1 เรื่องนโยบายอันเกี่ยวกับราคาพืชผลการเกษตร อาจชวนให้คิดได้ว่าต้องการตำแหน่ง

นั่นคือตำแหน่งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นคือ ตำแหน่งในกระทรวงพาณิชย์

แต่ข้อเสนอนี้ก็ยึดโยงอยู่กับ”นโยบาย”

ขณะเดียวกัน 1 เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดว่าจะต้องมี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทำให้มองเห็นเด่นชัดว่าตระหนักในปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น

แทงลึกลงไปยังรัฐประหารเมือ่เดือนพฤษภาคม 2557 แทงลึกลงไปใน”กล่องดวงใจ”ของคสช.

เท่ากับเป็นการตรวจสอบคสช.ในเรื่องของ”หลักการ”

เพราะเมื่อผ่านการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมมาสังคมรับรู้ในเรื่องความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญ และนับวันกระแสเรียกร้องต้องการให้แก้ไขยิ่งสูงขึ้นเป็นลำดับ

คำถามอยู่ที่ว่าคสช.และพรรคพลังประชารัฐจะตอบอย่างไร

 

ไม่ว่าในที่สุดแล้วคำตอบจากพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไร คำตอบจากพรรคพลังประชารัฐอันปรากฏผ่าน”มติพรรค”จะเป็นอย่างไร นี่ย่อมเป็นจังหวะก้าวอันดี

ทำให้ภาพของพรรคประชาธิปัตย์มีความแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

แจ่มชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์คิดในเชิง”ยุทธวิธี” หรือนำเอายุทธวิธีที่รองรับ”ยุทธศาสตร์”อย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด

ทั่งหมดนี้ล้วนมีผลสะเทือนต่ออนาคตของพรรคประชาธิปัตย์