E-DUANG : ปรากฏการณ์ อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมได้ก่อให้เกิดสภาวะแปลกแยกในทางการเมืองขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะมองผ่านปรากฏ การณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคอนาคตใหม่

มองเห็นความร่วงโรย มองเห็นความรุ่งโรจน์

ขณะเดียวกัน เมื่อมองผ่านการปะทะอย่างต่อเนื่องระหว่าง พรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ก็สัมผัสได้ในการดำรงคงอยู่ ของพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

นี่คือภาพเงาที่เป็นจริงซึ่งเหมือนกับผลสะเทือนของการเมือง ในยุคแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 และ พ.ศ.2534

ทั้งๆที่นี่คือการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562

เป็นการเลือกตั้งบนพื้นฐานการปฏิรูปตามบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันเป็นผลพวงของ”รัฐประหาร”

 

ลีลาอย่างที่เห็นในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐโดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นตัวขับเคลื่อนอย่างสำคัญผ่านบทบาทของ

“กลุ่มสามมิตร”

ไม่เพียงแต่ทำให้นึกถึง นายมนตรี พงษ์พานิช หากแต่ยังทำให้นึกถึง พรรคสามัคคีธรรม

เมื่อมี น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา แสดงบทบาทผ่านพรรคชาติไทยพัฒนา เมื่อมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล แสดงบทบาทผ่านพรรคภูมิใจไทย

ภาพของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ภาพของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็โดดเด่นขึ้นมา

แม้จะผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แม้จะมีพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล

นี่คือปรากฏการณ์อันเป็นภาพสะท้อนทั้งการเมือง”เก่า” และการเมือง “ใหม่”

 

ในเมื่อรัฐประหารเมือ่เดือนพฤษภาคม 2557 ยังดำรงคงอยู่ ในเมื่อเครื่องมือของคสช.คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็อย่าได้แปลกใจที่จะเกิด 2 ปรากฏการณ์นี้ให้เห็น

1 ย่อมเป็นปรากฏการณ์อนาคตใหม่ สามัญชน

ขณะเดียวกัน 1 ย่อมเป็นปรากฏการณ์ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และพลังประชารัฐ

2 ปรากฏการณ์นี้ย่อมต่อสู้ หักหาญกันและกัน