E-DUANG : ​​​​แนวร่วม ไม่เอา ประยุทธ์ ​​​รากฐาน จาก รัฐธรรมนูญ

ข้อเรียกร้องในเชิงคุณธรรมที่ให้ 250 ส.ว.ต้องเคารพต่อมติและบท สรุปจาก 500 ส.ส. แย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มอบอำนาจให้กับ 250 ส.ว.อย่างแน่นอน

เห็นได้จากการยืนยันจากหลายพรรคการเมืองที่อยู่ในเครือข่ายของคสช.

เห็นได้จากความเชื่อมั่นของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

“วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอยู่ในกระเป๋าแล้ว 250  ต้องการอีกแค่ 126 ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี”

จึงไม่แปลกที่พรรคพลังประชารัฐจะประกาศเป้าหมายว่า พรรคพลังประชารัฐขอให้เพียงได้ ส.ส.อย่างน้อย 120 ทุกอย่างก็จะเรียบร้อยและราบรื่น

เพราะว่าการหาอีก 6 ไม่น่าจะยากลำบาก

 

หากการยืนขวางคสช. การยืนขวาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีเพียงพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรค เพื่อชาติ

ทางด้านพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็ไม่ตระหนกตกประหม่าเท่าใดนัก

แต่นี่มีพรรคประชาธิปัตย์ มีพรรคภูมิใจไทย

2 พรรคนี้มิได้ประกาศด้วยน้ำเสียงเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ แต่การแตะไปยังอำนาจของ 250 ส.ว.ก่อให้เกิด อาการงันชะงักขึ้นมาเล็กน้อย

นั่นก็คือ ทำให้ภาพของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกยกขึ้นเขียง ชำแหละโดยอัตโนมัติ

มองลึกไปยังกระบวนการทำ”ประชามติ”มัดมือชก

มองลึกไปยังการมิได้มอบ”อำนาจอธิปไตย”ให้เป็นของ”ปวงชน”อย่างเป็นจริงในที่สุดก็ตรวจสอบไปยังการวางระบอบคสช.ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

นั่นก็คือ แผนสืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร 2557

 

ความหวังที่จะหยิบชิ้นปลามันโดยอาศัยเงื่อนปมจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงใช่ว่าจะสามารถดำเนินไปได้โดยราบรื่น ง่ายดาย

พลันที่มีพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ยืนขวาง

อย่างน้อยจากเงื่อนปมนี้ก็นำไปสู่การสร้างแนวรบขึ้นมา 2 แนวประจันหน้ากันโดยอัตโนมัติ

นั่นก็คือ เอา หรือ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา