E-DUANG : ประกาศ และคำสั่ง “คสช.” ภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2560

การที่ยังมีการเชิญตัว “นักเคลื่อนไหว” ไม่ว่าเนื่องในวาระ 10 ธัน วาคม ไม่ว่าเนื่องในการรำลึกการตายเนื่องในเหตุการณ์เดือนเมษายน 2553

เท่ากับเป็นเครื่องย้ำ “เตือน”ไม่เพียงแต่ให้รำลึกว่า ประเทศยังอยู่ในเงื้อมเงาแห่ง “รัฐประหาร”

มิใช่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างเดียว

ตรงกันข้าม ยังเป็นความต่อเนื่องมาจากรัฐประหารเมื่อเดือน กันยายน 2549 อย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งกว่านั้น วันที่ 10 ธันวาคม อันเป็นการย้อนรำลึกไปถึงสถานการณ์ของรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนธันวาคม 2476 ยังเท่ากับสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดือนมิถุนยน 2475 อีกด้วย

ทุก”การเคลื่อนไหว”จึงทรงความหมายในทาง”การเมือง”

 

ทำไมจึงต้องมีการเชิญตัว”นักเคลื่อนไหว”จากบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังสถานีตำรวจ

คำตอบเพราะยังมี “ล็อก”ในทางการเมือง

1 เนื่องแต่ประกาศคสช.ฉบับที่ 57/2557 และ 1 เนื่องแต่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

ความหมายคือ ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

ประกาศและคำสั่งหัวหน้าคสช.ทั้ง 2 ฉบับนี้จึงมิได้เป็น”ล็อก”ต่อการเคลื่อนไหวของทุกพรรคการเมือง หากแต่ยังครอบคลุมไปยังทุกกิจกรรมอันถือได้ว่าเป็นการเมืองอีกด้วย

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ประเทศมี”รัฐธรรมนูญ”ประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง สถานการณ์การเลือกตั้งจะเริ่มเมื่อพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

กระนั้น ประกาศและคำสั่งตามมาตรา 44 ก็ยังครอบคลุมอยู่เหนือสังคมประเทศไทย

 

สภาพความเป็นจริงในทางการเมืองเช่นนี้มิได้เป็นข้อกล่าวหาไปยังคสช.และรัฐบาลอันเป็นผลพวงจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างเลื่อนลอย

ตรงกันข้าม แม้คสช.และรัฐบาลเองก็ยอมรับในสถานะอันเป็น “เครื่องมือ”ที่มีอยู่

เป็นเครื่องมือในนามแห่งความสงบเรียบร้อยของสังคม