พญากง พญาพาน วรรณกรรมอยุธยา ลูกฆ่าพ่อ สร้างสถูปล้างกรรม | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เรื่องพญากงในพงศาวดารเหนือ เป็นวรรณกรรมตำนานพระปฐมเจดีย์ที่ จ.นครปฐม ฉบับลายลักษณ์เก่าสุดขณะนี้

แต่ไม่ใช่ตำนานบอกความเป็นมาพระปฐมเจดีย์องค์แรก ยุคทวารวดี ราวหลัง พ.ศ.1000

หากเป็นคำบอกเล่าเรื่องปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ครั้งแรกเป็น “พระมหาธาตุหลวง” มียอดเป็นปรางค์ ยุคอโยธยาศรีรามเทพ ราวหลัง พ.ศ.1800

จะคัดจากพงศาวดารเหนือ โดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวก ดังต่อไปนี้

 

เรื่องพญากง

ขณะนั้น พญากงได้ครองเมืองกาญจนบุรี พระอัครมเหสีทรงพระครรภ์ ให้หาโหรมาทำนายว่าจะเป็นหญิงหรือชาย

โหรพิเคราะห์ดูก็รู้ว่าจะเป็นพระราชกุมาร โหรจึงกราบทูลว่าพระราชกุมารนี้มีบุญมากนัก ใจก็ฉกรรจ์ จะฆ่าพระราชบิดาเสียเป็นมั่นคง

ครั้นทรงพระครรภ์แก่ กำหนดจะประสูติพระราชกุมาร พระราชบิดาเอาพานรับพระราชกุมาร พระนลาฏกระทบขอบพานเป็นรอยบู้อยู่เป็นสำคัญ

พญากงมาคิดแต่ในพระทัยว่าจะเอากุมารนี้ไว้มิได้ พญากงให้เอาพระราชกุมารไปฆ่าเสีย

มารดารู้ว่าพระราชบิดาจะเอาบุตรไปฆ่าเสีย นางคิดกรุณาแก่บุตรยิ่งนัก จึงทำอุบายถ่ายเทปกปิดเสียให้กลบเกลื่อนสูญไป ด้วยความคิดของนางจึงลอบเอากุมารราชบุตรอายุ 11 เดือน ไปให้ยายหอมเลี้ยงไว้ ครั้นเจริญวัยใหญ่ขึ้น ยายหอมจึงเอากุมารไปให้พญาราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม

พญาราชบุรีให้ดูแลการงานเบ็ดเสร็จทุกสิ่ง ครั้นถึงเทศกาลเอาดอกไม้ทองเงินไปถวายพญากงทุกปีมิได้ขาด

บุตรบุญธรรมจึงถามว่าทำไมเอาดอกไม้ทองเงินไปให้พญากาญจนบุรีด้วยเหตุอันใด พญาราชบุรีบิดาเลี้ยงจึงว่าเราเป็นเมืองขึ้นแก่เขา พระราชบุตรตอบว่า ไม่เอาไปให้นั้นจะเป็นประการใด พญาราชบุรีว่าไม่ได้ เขาจะว่าเราคิดขบถ จะยกทัพลงมาจับเราฆ่าเสีย พระราชบุตรว่ากลัวอะไร

พญาราชบุรีก็นิ่งอยู่ ถึงปีแล้วหาเอาดอกไม้ทองเงินไปไม่

พญากงเจ้าเมืองกาญจนบุรีเห็นว่าพญาราชบุรีเป็นขบถ เกณฑ์พลลงมาจะจับพญาราชบุรีฆ่าเสีย

ครั้นพญาราชบุรีรู้ดังนั้น จึงเกณฑ์คนประจำหน้าที่ ให้บุตรบุญธรรมเป็นแม่ทัพ ยกออกรับทัพพญากาญจนบุรี พญากาญจนบุรีครั้นมาใกล้ประมาณ 30 เส้น ให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้แล้ว ให้มีหนังสือให้คนถือเข้าไปถึงพญาราชบุรีเป็นใจความว่า ให้พญาราชบุรีออกมาหาเรา แม้นมิออกมาหา เราจะปล้นเอาเมือง

พญาราชบุรีทราบดังนั้น ปรึกษากับบุตรบุญธรรมว่าจะคิดประการใดดี ราชบุตรจึงว่าจะขออาสาชนช้าง พระราชบิดาก็จัดช้างพลายงางอน สูง 6 ศอก ผูกเครื่องมั่นให้บุตรบุญธรรมเป็นนายทัพ ครั้นได้ฤกษ์ก็ยกออกไป

พญากงเห็นดังนั้น ก็ผูกช้างพลายมงคลออกมาท่ามกลางพล เข้าโจมไล่ช้างพระราชกุมาร พระราชกุมารรับช้างพญากง พญากงเสียทีขวางตัวทานบมิอยู่ พระราชกุมารจ้วงฟัน พญากงตายกับคอช้าง ไพร่พลนายทัพนายกองแตกระส่ำระสายหารับไม่ หนีไปเมือง

พระราชกุมารขับพลไล่รุกขึ้นไปถึงเมืองกาญจนบุรี เข้าล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าปล้นเอาเมืองได้ โหราปุโรหิตจึงยกพระราชกุมารขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อพญาพาน

ครั้นเข้าปฐมยาม พญาพานก็เข้าไปข้างใน ตั้งใจหมายจะสังวาสด้วยมารดา ก็เข้าไปในตำหนัก วิฬาร์แม่ลูกๆ ร้องจะกินนม แม่ห้ามลูกไว้ว่าอย่าร้องไป ดูลูกเขาจะเข้าหาแม่ พญาพานก็สะดุดตกใจ ไฉนวิฬาร์มาร้องดังนี้ก็ถอยออกมา

ครั้นถึงทุติยยามก็กลับเข้าไปอีก ม้าแม่ลูกอยู่ที่ใต้ถุน ลูกนั้นร้องจะกินนม แม่ม้าจึงว่าอย่าเพ่อกินก่อน ดูลูกเขาจะเข้าไปหาแม่ พญาพานก็ตกใจ เหตุไฉนม้าจึงว่าดังนี้ ก็ถอยออกมา

ครั้นถึงตติยยาม ก็กลับเข้าไปอีกถึงมารดา มารดาจึงถามว่าท่านเป็นบุตรผู้ใด พญาพานบอกว่าเป็นบุตรพญาราชบุรี

มารดาจึงถามว่า พญาราชบุรีได้มาแต่ไหน เจ้านี้เป็นลูกของข้า เมื่อประสูติบิดาเอาพานทองรับ พระพักตร์กระทบพานเป็นรอยบู้อยู่ ถ้ามิเชื่อส่องพระฉายดูเถิด พระองค์คือลูกของข้า โหรทำนายว่ามีบุญนัก บิดาจึงให้เอาเจ้าไปฆ่าเสีย แม่จึงเอาไปฝากยายหอมไว้

พญาพานได้สำคัญเป็นแน่ ก็ทรงพระกันแสงว่าได้ผิดไปแล้ว ฆ่าบิดาเสียดังนี้เศร้าพระทัยนัก จึงตรัสว่ายายหอมหาบอกให้รู้ไม่ ก็ให้เอายายหอมไปฆ่าเสีย แร้งลงกิน จึงเรียกว่าท่าแร้งมาจนคุ้มเท่าบัดนี้

ขณะเมื่อพญาพานฆ่าบิดากับยายเลี้ยงคิดเป็นเวร ตั้งแต่ทำบุญให้ทานแก่ยาจกวรรณิพกมิได้ขาดเป็นนิตย์

พระอัครมเหสีมีครรภ์แก่ประสูติพระกุมารพระองค์หนึ่ง พระองค์เสน่หาในพระราชบุตรเป็นกำลัง จึงทรงพระดำริว่าบิดารักเราผู้บุตร เหมือนหนึ่งเรารักพระราชโอรสเราฉะนี้ มิควรที่เราจะกระทำเลย เพราะว่าเราเป็นคนโมหะจิต มิได้คิดให้ผิด ด้วยเราหารู้ไม่ฉะนี้ ก็เสียพระทัยสลดลง จึงปรึกษากันว่าทำไฉนจึงจะล้างกรรมเวรอันนี้ได้ ทรงพระดำริว่ายังเห็นอยู่แต่องค์พระคิริมานนท์พอจะส่องสว่างได้ จึงให้อำมาตย์ราชเสวกาไปอาราธนาพระคิริมานนท์ แลพระองคุลิมาล มาฉันในพระมณเฑียรสถานให้ได้โดยเร็ว

อำมาตย์ก็ชวนกันไปเที่ยวอาราธนาพระคิริมานนท์ พระองคุลิมาล ซึ่งได้พระอรหัตตรัสรู้ธรรมพิเศษ เข้ามารับบิณฑบาตฉันในพระราชวัง ครั้นเพลาเช้าก็เข้าไปในพระราชวัง

พญาพานกราบนมัสการ ถวายเครื่องสูปะพยัญชนะแล้วเสร็จ ยกพระหัตถ์ขึ้นนมัสการตรัสถามพระผู้เป็นเจ้าว่า โยมนี้เป็นคนมืดมนหารู้จักคุณและโทษไม่ ฆ่าบิดาเสียฉะนี้ผิดหนักหนาแล้ว โยมนี้ทำผิดคิดจะหาความชอบ ฉะนี้เห็นจะเป็นประการใด

พระมหาเถรทั้งสองถวายพระพรว่า มหาบพิตรทำให้ผิดประเพณีให้เป็นครุกรรมถึงปิตุฆาต จะไปสู่มหาอเวจีช้านานนัก นี่หากว่าพระองค์รู้สึกตัวว่าทำผิดคิดจะใคร่หาความชอบ จะให้ตลอดไปนั้นมิได้ แต่ว่าจะบำบัดเบาลง 10 ส่วนเท่า คงอยู่สักเท่าส่วน 1 ให้ก่อพระเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน จะค่อยคลายโทษลง

พญาพานได้ฟังดังนั้นก็เลื่อมใสสัทธา พระมหาเถรทั้งสองก็ลาไปอาราม

ครั้นพระมหาเถรไปแล้ว จึงดำรัสสั่งให้เสนาบดีคิดการสร้างพระเจดีย์ใหญ่สูงชั่วนกเขาเหิน สร้างวัดเบื้องสูงท่าประธม ทำพระวิหาร 4 ทิศ ไว้พระจงกรมองค์ 1 พระสมาธิทั้ง 3 ด้าน ประตูแขวนฆ้องใหญ่ ปากกว้าง 3 ศอกทั้ง 4 ประตู ทำพระระเบียงรอบพระวิหาร แล้วบรรจุพระบรมธาตุพระเขี้ยวแก้วในพระเจดีย์ใหญ่

เสร็จแล้ว ฉลองเล่นมหรสพครบ 7 วัน 7 คืน ให้ทานยาจกวรรณิพกแล้ว ให้บุรณะพระแท่นประสูติพระพุทธเจ้า ณ เมืองโกสินาราย

 

พญากง พญาพาน

ตํานานเรื่องพระปฐมเจดีย์ที่แพร่หลายเป็นที่รู้จักทั่วไป มีเรื่องเดียว คือ พญากง บางทีก็เรียกรวมพ่อลูกว่าพญากง พญาพาน

แต่มีจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร 3 ฉบับ คือฉบับพิมพ์อยู่ในพงศาวดารเหนือ น่าจะเป็นฉบับเก่าสุด เพราะเป็นเอกสารครั้งกรุงศรีอยุธยา

กับอีก 2 ฉบับมีอยู่ในหนังสือเรื่องพระปฐมเจดีย์ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่าได้มาจากตาปะขาวรอต ฉบับหนึ่ง

และอีกฉบับหนึ่งได้มาจากพระยาราชสัมภารากร เจ้าพระยาทิพากรจึงคัดรวมเป็นเรื่องเดียวกัน

 

วรรณกรรมอินเดีย

พญากง พญาพาน เป็นนิทานดัดแปลงจากวรรณกรรมอินเดียที่แพร่หลายเข้ามา เมื่อท่านศรีศรัทธาปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหลวง เมืองนครชัยศรี

ในจารึกวัดศรีชุมกับจารึกวัดเขากบ ท่านศรีศรัทธาเรียกสถานที่แห่งหนึ่งว่า “นครพระกฤษณ์

ไมเคิล ไรท์ เสนอไว้เป็นคนแรกว่า นครพระกฤษณ์” หมายถึงเมืองโบราณที่นครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

พระกฤษณ์หรือพระกฤษณะ มีประวัติซับซ้อนหลายสำนวน แต่มักอธิบายกันว่าเป็นพระวิษณุนารายณ์อวตารปางที่ 8 แล้วภายหลังได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองทวารกา หรือ “ทวารวดี อยู่ริมทะเลทางฟากตะวันตกของอินเดีย

ในพระคัมภีร์Œมหาภาควัตปุราณะมีนิทานเรื่องกังสะวธะว่าด้วยพระกฤษณะเมื่อยังเป็นหนุ่มชื่อ พาลกฤษณ์” ได้ฆ่าพ่อชื่อ “กังสะ (บางสำนวนว่าฆ่าปู่หรือตา) ซึ่งสอดคล้องกับนิทานท้องถิ่นเรื่องพระประธมหรือพระปฐมเจดีย์และเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณ รวมทั้งมีอยู่ในพงศาวดารเหนือคือเรื่องพญากง

ชื่อพญากงคือ “กังสะ” หรือ กงส์ ส่วนพระยาพานก็คือ พาลกฤษณ์ หรือ พาล

 

นิทานฆ่าพ่อ

พญากง พญาพาน เป็นนิทานฆ่าพ่อที่น่าเชื่อว่าแรกเริ่มมีบอกเล่าเมื่อครั้งท่านศรีศรัทธาฯ ปฏิสังขรณ์สถูปใหญ่พระมหาธาตุหลวง (จ.นครปฐม)

พระนอนจักรสีห์ (จ.สิงห์บุรี) ก็มีนิทานฆ่าพ่อ แล้วมีร่องรอยหลักฐานว่าท่านศรีศรัทธาฯ ทรงสร้างพระปรางค์ไว้ที่นั่นด้วย

ท่านศรีศรัทธาฯ เป็นขุนศึกกรุงสุโขทัย แต่มีเหตุใหญ่สำคัญมากๆ ให้ต้องสละทางโลกทรงผนวชตั้งแต่อายุราว 29-30 พรรษา

มีนักค้นคว้าตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใหญ่นั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับท่านศรีศรัทธาฯ เป็นต้นเหตุให้บิดาตาย เลยต้องปฏิสังขรณ์สถูปใหญ่ แล้วผูกนิทานประกาศล้างกรรมไว้