เมืองอโยธยา ต้นแบบกรุงรัตนโกสินทร์

เมืองอโยธยา (จ.พระนครศรีอยุธยา) เป็นต้นแบบให้ไทยในหลายเรื่อง ได้แก่ กรุงรัตนโกสินทร์, พระราม, เถรวาท, คนไทย, วรรณกรรมภาษาไทย

1. กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ต้นแบบจากกรุงอโยธยา ถ้าสืบย้อนหลังทางตรง มีดังนี้

กรุงรัตนโกสินทร์-กรุงธนบุรี-กรุงศรีอยุธยา-กรุงอโยธยา ส่วนย้อนหลังกรุงอโยธยาไม่เป็นทางตรง แต่เป็นแพร่งแยกหลายทิศทางมารวมศูนย์ที่เมืองอโยธยา

[“กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย ล้วนเรื่องไม่จริง แต่เป็น “เรื่องแต่ง” เพื่อการเมืองชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” จึงจัดอยู่ในข่าย “เฟกนิวส์” ที่รัฐบาลไทยสมัยก่อนใช้เป็นอาวุธทางการเมือง “หลอก” คนไทย แล้วยังตาม “หลอน” สืบมาจนถึงสมัยนี้]

2. พระราม เป็นความเชื่อได้ต้นแบบจากอโยธยา นามเต็มว่า “อโยธยาศรีรามเทพ” มีศูนย์กลางอยู่เมืองอโยธยา

“อโยธยา” เป็นชื่อเมืองพระราม (อวตารของพระนารายณ์) หมายถึงเมืองที่ไม่แพ้หรือไม่มีผู้ใดพิชิตได้ ส่วนพระรามในมหากาพย์รามายณะถูกกล่าวขวัญยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความมั่นคงทรงพลังอำนาจ จึงมีความมั่งคั่งอย่างยิ่ง

ต่อมาเกิดโรคระบาดเมืองอโยธยา (กาฬโรค) หลังจากนั้นสถาปนาศูนย์กลางแห่งใหม่ พบร่องรอยแก้อาถรรพณ์ด้วยการขนานนามเมืองเสียใหม่ว่า “กรุงศรีอยุธยา” (พ.ศ.1893) แล้วเฉลิมพระนามกษัตริย์ว่า “รามาธิบดี”

พระรามาธิบดี เป็น กษัตริย์องค์สุดท้าย ของรัฐอโยธยา จากนั้นเป็น กษัตริย์องค์แรก ของรัฐอยุธยา ความเชื่อพระรามสืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์

3. เถรวาท ได้ต้นแบบจากอโยธยา

ศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกาแม้จะมีก่อนแล้ว แต่รุ่งเรืองอย่างรุ่งโรจน์ในรัฐอโยธยา เพราะแนวคิดเรื่อง “ผู้มีบุญ” คนทำบุญสะสมมาก ย่อมมีบารมีได้เป็นพระราชา สอดคล้องกับการค้าสำเภากับจีน ทำให้พ่อค้าเป็น “ผู้มีบุญ” และมีอำนาจ

4. คนไทย เริ่มต้นแบบที่อโยธยา

คนหลายชาติพันธุ์ในอโยธยา ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้ากับบ้านเมืองภายในภาคพื้นทวีปและทางศาสนา นานไปก็พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็นไทย หรือ คนไทย

(1.) ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้ากับดินแดนที่อยู่ภายใน (เช่น ลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำดำ-แดง ในเวียดนาม, ลุ่มน้ำแยงซีในจีน เป็นต้น) เพื่อขนย้ายทรัพยากร (เช่น ของป่า) ลงไปลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นสินค้าส่งขายกับจีนที่กำลังขยายกว้างขวางมากทางการค้าสำเภา และ

(2.) ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการเผยแผ่ศาสนาพุทธเถรวาทแบบลังกา ซึ่งรัฐ อโยธยานับถือเป็นหลัก (โดยผสมกลมกลืนกับศาสนาผีและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู)

ราชสำนักอโยธยาศรีรามเทพ มีเจ้านายเป็นเครือญาติอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1.) เจ้านายพูดภาษาเขมร (เป็น “ขอม”) จากรัฐละโว้ (ที่ลพบุรี) กับ (2.) เจ้านายพูดภาษาไทย (เป็น “สยาม”) จากรัฐสุพรรณภูมิ (ที่สุพรรณบุรี)

ส่วนขุนนางข้าราชการชนชั้นนำประกอบด้วยคนหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ต่างมีภาษาพูดหลายตระกูลของใครของมัน (เช่น ตระกูลภาษามอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ทิเบต-พม่า, ไท-ไต เป็นต้น) โดยใช้ภาษาไทย (ต้นตอจากภาษาไท-ไต) เป็นภาษากลางเพื่อการสื่อสารเข้าใจตรงกัน

5. วรรณกรรมภาษาไทย มีต้นแบบจากวรรณกรรมอโยธยา ได้แก่

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีสำนวนเก่ามากสมัยอโยธยา ราว 115 ปีก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ทำขึ้นราว พ.ศ.1778 [ในต้นฉบับกฎหมายลงศักราช 1156 ปีมะแมได้จากการคำนวณของ จิตร ภูมิศักดิ์ (ในหนังสือ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา สำนักพิมพ์ไม้งาม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2526 หน้า 45-47) และจากการตรวจสอบสนับสนุนของ ล้อม เพ็งแก้ว (ในบทความเรื่อง “วันเดือนปีในกฎหมายที่ได้ตราขึ้นก่อนวันสถาปนากรุงศรีอยุธยา” พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2529 หน้า 42-44)]

คำว่า “เบ็ดเสร็จ” ตรงกับคำปัจจุบันว่าเบ็ดเตล็ด หมายถึงกฎหมายหลายเรื่องต่างๆ กันที่นำมารวมไว้ด้วยกัน และไม่อาจให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ถนัด เพราะเป็นเรื่องย่อยๆ ทั้งนั้น

บรรดากฎหมายและเอกสารสำคัญทั้งหลายจึงเขียนด้วยอักษรเขมร (เพราะสมัยนั้นยังไม่มีอักษรไทย) แต่งเป็นภาษาไทย (ลักษณะอย่างนี้เรียก “ขอมไทย”) เพื่อให้เป็นที่รับรู้ในหมู่ชนชั้นนำซึ่งประกอบด้วยเจ้านาย, ขุนนาง, ข้าราชการหลายเผ่าพันธุ์

แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพื้นฐานสังคมรัฐอโยธยามีสำนึกทางกฎหมายก้าวหน้าขั้นสูง คือไม่ใช้ระบบแก้แค้นตามแบบสังคมดึกดำบรรพ์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หรือ “หนามยอก หนามบ่ง” กล่าวคือเมื่อผู้หนึ่งถูกฟันแขนขาดก็ต้องตัดสินโดยการตอบโต้ให้ฟันอีกฝ่ายหนึ่งแขนขาดบ้าง ซึ่งเป็นสำนึกแบบแก้แค้นด้วยการกระทำตอบแทนอย่างเดียวกัน แต่สังคมลุ่มน้ำเจ้าพระยาพัฒนาเสียใหม่โดยกำหนดให้ผู้ผิดเสียเงินสินไหมชดเชยเป็นค่าเสียหาย

[ร. แลงกาต์ (นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์กฎหมายโบราณของไทย) อ้างในหนังสือ สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 51-54]

เมืองอโยธยาสุ่มเสี่ยงสาบสูญ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการทำลาย (ซ้าย) ทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา (ในวงกลม) อยู่ในเมืองอโยธยา ริมแม่น้ำป่าสัก (ขวา) เกาะเมืองอยุธยาบริเวณหัวรอและวังจันทรเกษม (วังหน้า)

รถไฟความเร็วสูง

เมืองอโยธยาทุกวันนี้ มีสถานีรถไฟอยุธยาและมีทางรถไฟผ่าเมือง (สายเหนือกับสายอีสาน) แต่กำลังเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างสูงจนอาจถูกทำลายสูญหายหมดเมืองจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะลงมือเร็วๆ นี้ โดยบางส่วนอาจทำล่วงหน้าไปแล้ว แต่สาธารณชนไม่รู้

1. โลกสมัยใหม่ปัจจุบันและอนาคตเห็นความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ดังนี้ (1.) ไม่ทำลายทรัพย์สินทางวัฒนธรรม เช่น เมืองเก่า เป็นต้น (2.) สงวนรักษาเมืองเก่าควบคู่กับการพัฒนาเมืองใหม่ไม่ให้ขัดขวางซึ่งกันและกัน มีตัวอย่างมากมายในยุโรปและอเมริกา รวมทั้งในเอเชีย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน ฯลฯ (3.) เมืองเก่ามีประโยชน์ 2 ทาง ทั้งคุณค่าและมูลค่า ได้แก่ หนึ่ง คุณค่าทางวัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และ สอง มูลค่าทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำรายได้เป็นนิรันดร์ให้ท้องถิ่น

2. ไม่ต่อต้านระบบรถไฟความเร็วสูง เพราะจำเป็นต้องมีและดีมากๆ

3. แต่คัดค้านการก่อสร้างขนาดใหญ่ผ่าเมืองอโยธยา เพราะจะส่งผลให้เกิดการทำลายครั้งยิ่งใหญ่ต่อเมืองอโยธยาและพื้นที่ต่อเนื่องเมืองเก่าอยุธยา

4. เมืองอโยธยาถูกทำลายหลายครั้งหลายหนมากต่อมากจนล้นเกิน จึงควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรทำลายซ้ำๆ อีก •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ