‘บุรัฐ’ และ ‘บุราง’ สองเมืองที่สาบสูญในตำนานเส้นทางเสด็จพระนางจามเทวี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

จากการศึกษาตำนานที่ระบุชื่อเมืองในเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีหลายฉบับ พบว่ามีอยู่สองเมืองที่เรายังค้นหาไม่พบ นั่นคือ “เมืองบุรัฐ” กับ “เมืองบุราง” นอกจากนั้น เป็นเมืองที่เราค้นเจอหมดแล้วทุกแห่ง

เอกสารที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางเสด็จมี ตำนานมูลศาสนา พงศาวดารโยนก และตำนานนางจามเทวีฉบับพื้นบ้านที่เขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ตามวัดต่างๆ

ตำนานมูลศาสนา เขียนโดยพระพุทธพุกามราว 500 กว่าปีมาแล้วระบุว่า “พระนางนำเอารี้พลเสนามาครั้งนั้น ตั้งเมืองโดยลำดับขึ้นมา เป็นต้นว่า เมืองพระบาง เมืองคันธิกะ เมืองบุรัฐ เมืองบุราง (มูลศาสนาบางสำนวนเขียน ปุราณ/บุรา) แล้วเสด็จขึ้นมาตั้งเมืองเทพบุรี เมืองบางพล เมืองรากเสียด (ราเสียด) เสด็จโดยลำดับ”

พงศาวดารโยนก พระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) กล่าวไว้ในปริเฉทที่ 7 ว่าด้วยระยะทางนางจามเทวีว่า

“ครั้นถึงกำหนดศุภวารดิถีอุดมฤกษ์ ก็ประชุมกันส่งเสด็จพระนางเจ้าลงสู่เรือพระที่นั่ง พร้อมสะพรั่งด้วยเรือกระบวนและบริพารให้เคลื่อนขบวนเรือทรงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปก่อนในเบื้องหน้า เรือที่นั่งก็เคลื่อนคลาโดยขบวนตามไปเป็นลำดับ คับคั่งนัททีธารทางชลมารค ออกจากกรุงละโว้มหานคร ไปประทับยั้งประชุมพล ณ ตำบลเมืองบางประบาง”

ข้อความนี้ให้ภาพว่ามีเรือต้นอัญเชิญพระรัตนตรัย กอปรด้วยพระพุทธ (พระแก้วขาวเสตังคมณี กับพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ) พระธรรม (คัมภีร์พระไตรปิฎก) และพระสงฆ์ นั่งในลำแรกไปก่อนด้วย จากนั้นจึงเป็นเรือพระที่นั่งของพระนางจามเทวี

“ครั้นยกจากเมืองบางประบาง ไปประทับพักพล ณ เมืองคันธิกะ ยกจากเมืองคันธิกะไปประทับพักพล ณ เมืองบุรัฐะ ยกจากเมืองบุรัฐะขึ้นไปประทับ ณ เมืองบุราณะ ยกจากเมืองบุราณะขึ้นไปประทับเมืองเทพบุรี ยกจากเมืองเทพบุรีไปประทับเมืองบางพล”

ตำนานนางจามเทวี ฉบับพระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ วัดหอธรรม เจดีย์หลวงเชียงใหม่ ปริวรรตโดยอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ พ.ศ.2515

“ยักษ์ทั้งหลาย 1,000 ตน มีเทโคยักษ์เป็นประธาน หากมาตามรักษานาง ก็ขึ้นมาตั้งเมืองอันหนึ่งชื่อพระบาง แล้วขึ้นมาตั้งเมืองคนิทกะ แล้วขึ้นมาตั้งเมืองบุระระฐะ แล้วขึ้นมาตั้งเมืองปางพล แล้วขึ้นมาตั้งเมืองราเสียด”

ตำนานนางจามเทวี ฉบับวัดทากาศ อ.แม่ทา จ.ลำพูน จารโดยพระภิกษุชื่ออภิวงส์ พ.ศ.2452 ในผูกที่ 3 กล่าวว่า

“ท่านทั้ง 3 ตนยกขึ้นมาตั้งเมืองบาพระบาน ขึ้นมาตั้งเมืองคันธิกะแล้ว ขึ้นมาตั้งเมืองปาฐะแล้ว ก็ขึ้นมาตั้งเมืองปุราณะแล้ว ก็ขึ้นมาตั้งเมืองเทพปุรีแล้ว ก็ขึ้นมาตั้งเมืองบางพล”

ท่านทั้ง 3 ตน ในที่นี้หมายถึง พระนางจามเทวี ฤษีวาสุเทพ และทูตคะวิยะ

ตำนานจามเทวีหริภุญชัยเชียงใหม่ ฉบับสมุดข่อยอักษรลานนาไทย (ไม่ได้ระบุว่าได้มาจากวัดใด) ซึ่งอาจารย์มหาสิงฆะ วรรณสัย นำมาอ้างอิงในหนังสือ “ประวัติพระนางจามเทวีและจังหวัดลำพูน” บันทึกไว้ว่า

“นางก็ขึ้นมาตั้งเมืองอันหนึ่งชื่อ พระบาง แล้วขึ้นมาตั้งเมืองคนธิกะ แล้วก็ขึ้นมาตั้งเมืองปุรรัฏฐะ แล้วขึ้นมาตั้งเมืองบุราณ แล้วขึ้นมาตั้งเมืองเทพบุรี แล้วขึ้นมาตั้งเมืองบางพล”

ความแตกต่างของการใช้ถ้อยคำอธิบายวิธีการเสด็จของพระนางจามเทวีผ่านเมืองต่างๆ ระหว่างเอกสารสองกลุ่มนี้มีความน่าสนใจ ตำนานมูลศาสนา และตำนานจามเทวีฝ่ายวัดฉบับต่างๆ ใช้คำว่า “ตั้งเมือง” หมายถึงการ “สถาปนาเมือง/สร้างเมือง” คือการยกชุมชนเล็กๆ ของคนพื้นถิ่นที่พอจะมีสังคมระดับหมู่บ้านอยู่ก่อนแล้วให้ขึ้นเป็นเมืองในเครือข่ายรัฐละโว้ ในทุกหนแห่งที่พระนางจามเทวีเสด็จผ่าน

ในขณะที่พงศาวดารโยนกซึ่งเขียนขึ้นในชั้นหลังใช้แค่คำว่า “ประทับพักพล” เท่านั้น อันเป็นคำที่ไม่ได้มีเป้าหมายผูกพันในเชิงการสร้างเครือข่ายกับเมืองที่ผ่านทางนั้นๆ แต่อย่างใด

หลวงพ่อโตพุทธศรีมงคล พระศิลาแลงที่วัดวังโบสถ์ร้าง ที่เมืองคันธิกะ (บ้านโคน) อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ ของเดิมอาจจะเก่าถึงสมัยทวารวดี
ด้านหลังที่โคนไม้หลวงพ่อโตวัดวังโบสถ์มีก้อนศิลาแลงวางกอง เป็นส่วนหนึ่งของเมืองคณฑี (คันธิกะในตำนานที่พระนางจามเทวีเสด็จผ่าน)

พระบาง-คันทิกะ เมืองคู่กันจนถึงสมัยสุโขทัย

เมืองพระบางในที่นี้ หมายถึง นครสวรรค์ช่วงวัดเขากบ หรือวัดวรนาถบรรพต ส่วนเมืองคันธิกะ หมายถึงบริเวณบ้านโคน หรือเมืองคณฑี ในเขตกำแพงเพชรตอนล่างฟากตะวันออก

น่าสนใจว่า ชื่อของเมืองพระบาง มักปรากฏคู่กันกับเมืองคณฑี (คนที) หลายต่อหลายครั้งในจารึกสมัยสุโขทัย เช่นศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 20 เอ่ยถึงชื่อพระบางไว้ดังนี้

“ปราบเบื้องตะวันออกรอดสรลวงสองแคว ลุมบาจาย สค้า เท้าฝั่งของเถิงเวียงจันเวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบูรี เพชรบูรี ศรีธรรมราชฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว”

จารึกหลักที่ 3 หรือจารึกนครชุม เฉพาะด้านที่ 3 ปรากฏชื่อเมืองพระบางถึง 3 จุด ขอยกตัวอย่างให้ดู 2 จุดดังนี้

บรรทัดที่ 19 กล่าวถึงการเมืองหลังรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงว่า “…เมืองคนที พระบาง หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองเชียงทองหาเป็นขุนหนึ่ง…”

บรรทัดที่ 27 กล่าวถึงเมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยหลังจากพระญาฦๅไทย (นิยมเรียกว่าพระญาลิไท) ทรงครองราชย์แล้วใน พ.ศ.1890 ว่า “คนที พระบาง กโรม ในตีนพิงนี้”

การปรากฏชื่อเมืองพระบางกับคนที (คันธิกะ) ในจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลัก สะท้อนว่าสองเมืองนี้เป็นเมืองที่สำคัญ มักถูกกล่าวถึงในลักษณะเมืองคู่กันเสมอ ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่ห่างไกลกันพอสมควร เป็นเมืองที่สร้างตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีก็จริง แต่ก็หลงเหลือหลักฐานสมัยทวารวดีน้อยมาก มาเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ คือราว 600 ปีมาแล้ว ซึ่งร่วมสมัยกับช่วงที่พระภิกษุล้านนากำลังรจนาตำนานมูลศาสนาอยู่พอดี

วัดปราสาท เมืองคณฑี ซากศาสนสถานที่ได้รับการบูรณะใหม่ ใต้ฐานอาคารพบว่ามีซากศิลาแลงรุ่นเก่ากล่นเกลื่อนอยู่
วัดกาทึ้งสามัคคีธรรม เมืองคณฑี มีซากกองอิฐฐานอุโบสถเก่า

เมืองบุรัฐ/บุรัฐะ/บุระระฐะ/ปาฐะ/ปุรรัฏฐะ

ชื่อเมืองลำดับที่สามของตำนาน ไม่พบว่าอยู่แห่งหนตำบลใดในเขตจังหวัดกำแพงเพชร

ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากหากพิจารณาความต่อเนื่องของพื้นที่ เมืองบุรัฐควรอยู่ในลำดับถัดขึ้นไปทางเหนือต่อจากเมืองคณฑี

แต่จวบจนทุกวันนี้ปราชญ์เมืองกำแพงเพชรหลายท่านกล่าวว่ายังไม่พบร่องรอยของชื่อบ้านนามเมืองว่า “บุรัฐ/ปาฐะ” ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรหรือนครสวรรค์แต่อย่างใดเลย

แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองโบราณยุคทวารวดีใน จ.กำแพงเพชร พบว่าเมืองคณฑีกับเทพนคร (รวมไตรตรึงษ์ กลายเป็นเทพบุรี) ตั้งอยู่ใกล้ชิดกันมาก มากเสีนจนเกิดคำถามว่า ควรจะให้เมืองบุรัฐกับบุรางแทรกเบียดตั้งอยู่ที่ไหน?
เมืองโบราณนครไตรตรึงษ์ ตั้งอีกฟากของแม่น้ำปิง (ฟากตะวันตก) ตรงข้ามกับเมืองคณฑี

เมืองบุราง/ปุราณ/บุราณะ/ปุราณะ/บุราณ

พระยาประชากิจกรจักร์สันนิษฐานในพงศาวดารโยนกว่าคือ “ท่าเฉลียง” หรือ “เมืองเชลียง” อันเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเพชรอีกเช่นกัน (หมายเหตุ ไม่ใช่เชลียง อันหมายถึงศรีสัชนาลัยในสุโขทัย)

ซ้ำคำว่าบุราง/ปุราณะ นี้ไม่ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเลย ผิดกับเมืองพระบางและคณฑี

อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์ด้านสุโขทัยศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่าได้พบชื่อที่คล้ายกันกับคำว่า “บุราณ” ซึ่งแปลว่าเก่าแก่ คือชื่อ “เมืองโบราณราช” อาจารย์สมชายจึงสันนิษฐานว่าสองชื่อนี้น่าจะเป็นชื่อเมืองเดียวกัน ด้วยรากศัพท์ภาษาที่ยังตกค้างอยู่ เมืองนี้น่าจะอยู่ในเขตกำแพงเพชร

ด้วยปรากฏอยู่ในจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) คราวปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ระหว่าง พ.ศ.2374-2381 สมัยรัชกาลที่ 3 มีใบบอกให้หัวเมืองต่างๆ เข้ามาช่วยงาน โดยในส่วนของกำแพงเพชรนั้นมีสถานะเป็นหัวเมืองชั้นโท มีเมืองที่ขึ้นตรงกับกำแพงเพชรอยู่ 5 เมือง ได้แก่ เมืองโกสามพิน เมืองบงการบุรี เมืองโบราณราช เมืองนาถบุรี และเมืองไตรตรึงษ์

ในบรรดาเมืองทั้ง 5 นี้ เมืองที่เรารู้จักกันดีเพราะยังมีชื่อเรียกสืบต่อมาจนปัจจุบันได้แก่ โกสามพิน (โกสัมพี) และไตรตรึงษ์ ส่วนอีกสามเมืองที่แม้แต่ปราชญ์เมืองกำแพงเพชรบอกว่าชื่อไม่คุ้นหูเลยนั้น ปัจจุบันไม่ปรากฏนามอีกแล้ว ได้แก่ บงการบุรี โบราณราช และนาถบุรี

อาจเป็นไปได้ว่าในยุคปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 หรือยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สมัยใดสมัยหนึ่ง ได้ทำการยุบสถานะเมืองทั้งสามนี้ลงเป็นตำบล หมู่บ้าน แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่

ดิฉันมีความเห็นสอดคล้องกับอาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ ว่าเมืองบุราณที่สร้างตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี น่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองโบราณราช

พิจารณาจากชื่อเมืองแล้ว พอจะอนุมานได้ว่าเมืองนี้น่าจะเป็นเมืองทวารวดีรุ่นเก่ามาก ต่อมาล่มสลายสูญหายไป จนมองไม่เห็นคันน้ำดูดินแล้ว จึงถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ

ตะเกียงดินเผาสมัยทวารวดีจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ได้มาจากนครไตรตรึงษ์
เศียรพระพุทธรูปปูนปั้นทวารวดี ได้มาจาก อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร

ปัจจุบันคงเป็นเพียงย่านชุมชนเล็กๆ ที่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ และซ่อนตัว ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแถวอำเภอคลองขลุงหรืออำเภอขาณุวรลักษณ์ ทางตอนใต้ของกำแพงเพชรก็เป็นได้ หรืออาจคาบเกี่ยวไปถึงเขตพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ก็ได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสมัยต้นรัตนโกสินทร์เขตปกครองของกำแพงเพชรมีอำนาจกว้างไกลและครอบคลุมบางพื้นที่ในเขตนครสวรรค์ด้วย

หลังจากเมืองบุรัฐกับบุรางแล้ว พระนางจามเทวีก็ตั้งเมือง “เทพบุรี” และ “ปางพล” เทพบุรีคือเมืองนครไตรตรึงษ์ อยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำปิง ส่วนปางพลหรือบางพลหมายถึงเมืองเก่ากำแพงเพชร (อยู่แถวอุทยานประวัติศาสตร์)

การที่ที่ตั้งของเทพบุรีและปางพล เกาะกลุ่มกระจุกตัวกันแน่นในเขตจังหวัดกำแพงเพชรเช่นนี้ มุมหนึ่งคล้ายกับว่าน่าจะช่วยบีบพื้นที่ในการค้นหา “บุรัฐ-บุราง” ให้แคบเข้า คืออย่างไรเสียต้องอยู่ระหว่าง “คณฑี” กับ “ไตรตรึงษ์” อย่างแน่นอน

แต่อีกมุมหนึ่งนั้น กลายเป็นความลำบากยากยิ่ง เพราะเราแทบไม่เหลือพื้นที่ให้แทรกเบียดเมืองบุรัฐกับบุราง เข้าระหว่างเมืองคณฑีกับไตรตรึงษ์ (เทพบุรี) ได้อีกเลย ด้วยสองเมืองนี้ตั้งอยู่ตรงกันข้ามแค่คนละฟากของแม่น้ำปิง? •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ