รัฐสุพรรณภูมิ ‘เจินหลี่ฟู่’ อยู่เมืองสุพรรณ แม่น้ำท่าจีน | สุจิตต์ วงษ์เทศ

รัฐสุพรรณภูมิมีตัวตนจริงอยู่เมืองสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) ตั้งแต่ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา แล้วอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา (ตอนต้น) กระทั่งหลัง พ.ศ.2000 เปลี่ยนชื่อสุพรรณภูมิเป็นสุพรรณบุรี

รัฐสุพรรณภูมิถูกกีดกันและถูกด้อยค่าจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ทั้งๆ รัฐสุพรรณภูมิมีจริงเกี่ยวกับดินแดนและผู้คน แล้วยังมีกษัตริย์องค์สำคัญ คือ ขุนหลวงพะงั่ว, เจ้านครอินทร์ ฯลฯ ทั้งสององค์ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์อยุธยาสืบเชื้อวงศ์สุพรรณยาวนานมาก

โดยเฉพาะเจ้านครอินทร์จากรัฐสุพรรณภูมิ ได้สร้างสรรค์อยุธยาเป็นเมืองมั่งคั่งใหญ่โตโอ่อ่าจากการค้านานาชาติ และเปลี่ยนรัฐอยุธยาแต่เดิมจากพูดภาษาเขมรเป็น “ขอม” ให้พูดภาษาไทย เป็น “สยาม” สืบเนื่องถึงประเทศไทยทุกวันนี้

 

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐสุพรรณภูมิ มีลำดับโดยย่อต่อไปนี้

(1.) การค้าระยะไกลทางทะเลสมุทรจากอินเดีย เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1

มีชุมทางอยู่ “สุวรรณภูมิ” (แปลว่าดินแดนมีทองแดง) หมายถึง แผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลถึงทางตอนใต้ของจีน โดยมิได้ระบุตำแหน่งแห่งหนที่ใดที่หนึ่ง แต่มีบริเวณขนถ่ายสินค้าอยู่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง

(2.) การค้าโลก เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000 สืบเนื่องสมัยก่อนหน้าจากการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร แล้วขยายไปที่ต่างๆ กว้างขวางในโลก เริ่มจากอินเดีย-จีน และตะวันออกกลาง

บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองขยายเมืองเป็นรัฐขนาดใหญ่ที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีเครือข่ายกว้างไกลถึงนครปฐม, ราชบุรี, ชัยนาท ฯลฯ (นักโบราณคดีไทยเรียกสมัยทวารวดี)

(3.) การค้าจีน ราว 1,000 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1500 เมื่อจีนแต่งสำเภาออกค้าขายด้วยตนเอง

ระยะแรกขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรผ่านดินแดนลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี-ช่องสิงขร ซึ่งต้องติดต่อคนพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองเป็นสำคัญ จีนจึงหนุนให้เป็นบ้านเมืองใหญ่โตจนเป็นที่รู้จักสมัยหลังในชื่อตามเอกสารจีนว่า “เจินหลี่ฟู่” บริเวณแม่น้ำท่าจีน

ค้าขายกับเมืองจีน รัฐสุพรรณภูมิ หรือเจินหลี่ฟู่ เติบโตแข็งแรงก่อน พ.ศ.1700 เพราะหลังจากนั้นไม่นานได้ส่งทูตไปเมืองจีน พบบันทึกในเอกสารมีตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ.1708 พ่อค้าไปถึงจีนแล้วเสียชีวิต

พ.ศ.1743, 1745, 1748 พ่อค้าจากเจินหลี่ฟู่ไปค้าขาย นิยมแพรพรรณและเครื่องถ้วยจีน

[เรื่องราวของเจินหลี่ฟู่ในเอกสารประวัติศาสตร์จีนโบราณนั้นได้รับความสนใจจากนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว เริ่มตั้งแต่ ศาสตราจารย์ฝางกั๋วอิ่ว ผู้เสนอบทความเรื่อง Notes on Chen-li-fu : A tributary state to China during the Sung dynasty ซึ่งพิมพ์ลงใน Journal of the South Seas Society ใน ค.ศ.1947 จนถึง ศาสตราจารย์ O.W. Wolters เรื่อง Chen-li-fu: A state on the Gulf of Siam at the beginning of the 13th century ใน Journal of the Siam Society ใน ค.ศ.1960 สรุปจากหนังสือ ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์ พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล บรรณาธิการ โดย วินัย พงศ์ศรีเพียร จัดพิมพ์เผยแพร่โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2539 หน้า 239-254]

หลังจากนั้นทำให้มีสิ่งสำคัญเกิดขึ้น ดังนี้

(ก.) ภาษาไทย ทรัพยากรที่จะค้าขายกับจีนและอินเดียอยู่ดินแดนภายในบริเวณลุ่มน้ำโขงและทางใต้ของจีน ซึ่งใช้ภาษาไทย (ต้นตอจากตระกูลภาษาไท-ไต) เป็นภาษากลางทางการค้า จึงมีความเคลื่อนไหวขนย้ายทรัพยากรและโยกย้ายผู้คนใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางจากลุ่มน้ำโขงและตอนใต้ของจีนลงไปลุ่มน้ำท่าจีน

ทำให้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าบริเวณฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา

(ข.) สุพรรณภูมิ เป็นพื้นที่สืบเนื่องจากชื่อดั้งเดิมที่อินเดียเรียก “สุวรรณภูมิ” เมื่อมีการค้าคับคั่งและมีคนพูดภาษาไทยเป็นภาษากลางมากขึ้น ทำให้พื้นที่แถบนี้ถูกเรียก “สยาม” ส่วนจีนเรียก “เสียม” หรือ “เสียน” ราว พ.ศ.1700

ต่อมาบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนถูกเรียกว่า “สุพรรณภูมิ” เลียนแบบความศักดิ์สิทธิ์จากชื่อ “สุวรรณภูมิ”

เมืองสุพรรณภูมิ (สมัยแรก) คูน้ำและคันดิน (แนวสีเขียว) คร่อมสองฟากแม่น้ำท่าจีน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เมืองสุพรรณภูมิ (สมัยต่อมา) ลดขนาดเหลือส่วนเดียวทางฟากตะวันตกแม่น้ำท่าจีน มีคูน้ำและสร้างกำแพงอิฐ (แนวสีแดง) มีป้อมโทนอยู่กลางคูน้ำ 7 แห่ง

เอกสารจีนราวหลัง พ.ศ.1700 เรียกรัฐสุพรรณภูมิว่า “เจินหลี่ฟู่” อยู่บริเวณเมืองสุพรรณ แม่น้ำท่าจีน ถึงเมืองแพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท [บทความเรื่อง “แพรกศรีราชาถึงสรรคบุรี พัฒนาการของเมืองและรัฐภายในของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน” โดยศรีศักร วัลลิโภดม วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2557) หน้า 27]

รัฐสุพรรณภูมิมีพัฒนาการตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1700 (ก่อนสมัยอยุธยา) แล้วอยู่สืบเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาตอนต้น (ในแผ่นดินพระรามราชา) พบหลักฐานจารึกหลักที่ 48 จารึกลานทองวัดส่องคบ (อ.เมือง จ.ชัยนาท) ระบุศักราช จ.ศ.770 ตรงกับ พ.ศ.1951 (สรุปจากหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2508 หน้า 77-81)

เมืองสุพรรณภูมิ แบ่งเป็น 2 สมัย คือ สมัยแรก กับ สมัยหลัง

สมัยแรก มีคูน้ำคันดินคร่อมสองฟากแม่น้ำท่าจีน (ฝั่งตะวันออก-ตะวันตก) ทำให้แม่น้ำท่าจีนไหลผ่านกลางเมืองสุพรรณภูมิ

สมัยหลัง เปลี่ยนคันดินเป็นกำแพงอิฐมีป้อมค่ายมั่นคงแข็งแรง ส่วนคูน้ำขนานโดยรอบไปกับกำแพงอิฐ ทั้งหมดมีเฉพาะฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน (ไม่มีอยู่ทางฝั่งตะวันออก)

[จากบทความเรื่อง “แคว้นสุพรรณภูมิ” ของศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ (ปีที่ 9 ฉบับที่ 2) พ.ศ.2526]

(ค.) เมืองสุพรรณบุรี เป็นชื่อใหม่ของเมืองสุพรรณภูมิหลังถูกลดฐานะเป็นเมืองบริวารของอยุธยาในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.2091-2111)

ข้อมูลหลักฐานมีอยู่จริง ส่วนความเห็นที่ตีความ (จากข้อมูลหลักฐาน) เหล่านั้นถกเถียงทักท้วงได้ไม่อั้น •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ