‘คนไทย’ เริ่มมีสมัยอยุธยา แผ่นดินเจ้านครอินทร์

อยุธยาเมื่อแรกสถาปนา ไม่พบผู้เรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย พบแต่คน “พูดเขมร เป็นขอม” สืบเนื่องจากรัฐละโว้-อโยธยาตั้งแต่แผ่นดินพระรามาธิบดีถึงพระรามราชา (ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆ แผ่นดินพะงั่วกับเจ้าทองลันหรือทองจันจากรัฐสุพรรณภูมิ ซึ่งไม่มีผลความเปลี่ยนแปลง)

พยานสำคัญว่าอยุธยาพูดเขมร เห็นจากหลังอยุธยาเปลี่ยนไป “พูดไทย เป็นไทย” ได้ยกย่องภาษาเขมรไว้อย่างสูงเป็นภาษาเทวราช แล้วเรียกว่า “ราชาศัพท์”

ความเป็นอยุธยาของไทยอย่างสมบูรณ์ด้วยการ “พูดไทย เป็นไทย” เริ่มสมัยเมื่อเจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์อยุธยา มาจากเมืองสุพรรณ นับแต่นั้นอยุธยาถูกเรียกว่า “เมืองไทย” ส่วนชาวอยุธยาเรียกตนเองว่า “ไทย” ถูกคนอื่นเรียกว่า “คนไทย”

เจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์อยุธยา ลำดับที่ 7 (ระหว่าง พ.ศ.1952-1967) มีความเป็นมาอย่างสั้นๆ ดังนี้ (1.) เป็นโอรสขุนหลวงพะงั่ว (2.) เป็นกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ (เมื่อขุนหลวงพะงั่วสิ้นพระชนม์) (3.) เจ้านครอินทร์มีโอรส 3 องค์ เจ้าอ้าย, เจ้ายี่, เจ้าสาม ต่อมาเจ้าอ้าย-เจ้ายี่ ชนช้างชิงราชสมบัติสิ้นชีวิตทั้งคู่ ดังนั้นเจ้าสามพระยาได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์อยุธยา ลำดับที่ 8 (4.) เจ้านครอินทร์ เป็น “ปู่” ของพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยา ลำดับที่ 9

แผ่นดินเจ้านครอินทร์มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความเป็นอยุธยาของไทย 2 อย่าง ได้แก่ ภาษาไทย และคนไทย

 

ภาษาไทยมาจากไหน?

ภาษาไทยมีอำนาจในอยุธยาเริ่มตั้งแต่แผ่นดินเจ้านครอินทร์ จึงเกิดพลังกระตุ้นให้มี “คนไทย” ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ-การเมือง และสังคม-วัฒนธรรม

รากเหง้าของภาษาไทยมาจากตระกูลไท-ไต (บริเวณโซเมีย ทางตอนใต้ของจีน) เป็นภาษากลางทางการค้าภายใน เคลื่อนไหวตามเส้นทางการค้าจากตอนใต้ของจีนถึงลุ่มน้ำโขง แล้วลงภาคกลางไปทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คือบริเวณแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องของดินแดนคาบสมุทรตั้งแต่รัฐสุพรรณภูมิ, รัฐเพชรบุรี, รัฐนครศรีธรรมราช

เจ้านครอินทร์จากเมืองสุพรรณเสวยราชย์เป็นกษัตรย์อยุธยา ทำให้ภาษาไทยจากฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาถูกใช้ในราชสำนักอยุธยา นับเป็น “ภาษาราชการ” จากนั้นแผ่อำนาจไปนอกราชสำนักถึงบ้านเมืองน้อยใหญ่ทั่วรัฐอยุธยา

“คนไทย” เริ่มมีสมัยอยุธยา แผ่นดินเจ้านครอินทร์ รายละเอียดมีในหนังสือ “เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม” รวมบทความวิชาการ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สืบแสง พรหมบุญ, ศรีศักร วัลลิโภดม และรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2565 ราคา 300 บาท

คนไทยเป็นใคร? มาจากไหน?

คนไทยคือคนหลายชาติพันธุ์หรือหลายชาติภาษา “ร้อยพ่อพันแม่” ที่ผสมกลมกลืนอยู่ด้วยกัน โดยพูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง แล้วกลายตนเป็นคนไทย และถูกเรียกว่าคนไทย

ก่อนแผ่นดินเจ้านครอินทร์ ไม่พบคนเรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย มีแต่คนพูดตระกูลภาษาไท-ไตในชีวิตประจำวัน และคนชาติพันธุ์อื่นพูดไท-ไตเป็นภาษากลางในการค้า แต่เรียกตนเองในชื่อทางวัฒนธรรมของตน เช่น ลาว, ลื้อ, ผู้ไท, จ้วง เป็นต้น โดยไม่เรียกไทย หรือคนไทย

หลังแผ่นดินเจ้านครอินทร์ ภาษาไทยมีอำนาจเป็น “ภาษาราชการ” คนที่ใช้ภาษาไท-ไตในอยุธยาเริ่มมีพัฒนาการเรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย แต่พบร่องรอยหลังจากนั้นในสมุทรโฆษคำฉันท์ และจดหมายเหตุลา ลูแบร์ สนับสนุนว่าน่าจะเริ่มเมื่อเจ้านครอินทร์เสวยราชย์เป็นกษัตริย์รัฐอยุธยา

(1.) “ไทย” สุโขทัย ในสมุทรโฆษคำฉันท์ ตอนต้นเรื่องพรรณนาการละเล่นเบิกโรง ชุดลาวกับไทยฟันดาบ

ผู้เล่นลาวอ้างว่าตนเป็นลาวจากเมืองพะเยา (จ.พะเยา) มีกาพย์ว่า “กูนี้เนื้อลาว แต่ยังพยาว บมีผู้ปาน”

ส่วนผู้เล่น “ไท” อ้างตนเป็น “ไท” จากเมืองสุโขทัย (จ.สุโขทัย) มีกาพย์ว่า “กูนี้ไทแท้ ท่านฤๅกูแล้ ในสุโขทัย”

“ไทย” ในสมุทรโฆษคำฉันท์หมายถึง “ไทย” ที่ไม่ใช่ “ลาว” อันเนื่องจาก “ไทย” พูดภาษาไทย อยู่ในวัฒนธรรมมอญ-เขมร (ซึ่งต่างจากลาว)

สมุทรโฆษคำฉันท์แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น หลังแผ่นดินเจ้านครอินทร์ (เชื่อว่าแต่งในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ) ช่วงเวลานั้นรัฐสุโขทัยอยู่ในอำนาจของเจ้านครอินทร์มาก่อนแล้ว เมื่อเจ้านครอินทร์เป็นกษัตริย์รัฐอยุธยา ทำให้รัฐสุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอยุธยา ซึ่งถูกเรียกสมัยหลังว่า “เมืองเหนือ” (หมายถึงดินแดนของอยุธยาที่อยู่ทางทิศเหนือของรัฐอยุธยา) ชาวเมืองสุโขทัยย่อมเหมือนชาวอยุธยาคือเป็นคนไทย

ลาวไทยฟันดาบเป็นการละเล่นเบิกโรง ถูกกำหนดให้ลาวจากเมืองพะเยาและไทยจากเมืองสุโขทัย มีต้นเหตุจากความขัดแย้งทางการเมืองเครือญาติระหว่างพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์อยุธยา (โอรสเจ้าสามพระยา) กับยุทธิษฐิระ เจ้านายผู้ใหญ่เมืองสุโขทัย ในที่สุดยุทธิษฐิระแยกตัวไปรับราชการกับติโลกราช กษัตริย์ล้านนา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองพะเยา (ซึ่งเป็นลาว) หลังจากนั้นติโลกราชแห่งล้านนาเป็นศึกกับบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยา (มีเรื่องราวในยวนพ่ายโคลงดั้น แต่งในแผ่นดินบรมไตรโลกนาถ)

(2.) “ไทย” อยุธยา ในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า ชาวอยุธยาเรียกตนเองว่า “ไทย” เรียกประเทศว่า “เมืองไทย”

ชาวอยุธยาที่เป็นไทยส่วนมากเป็น “ไทยน้อย” (ลุ่มน้ำโขง) อีกส่วนหนึ่งเป็น “ไทยใหญ่” (ลุ่มน้ำสาละวิน)

 

“เชื้อชาติ” ไม่มีจริงในโลก

อยุธยาเป็นรัฐประชาชาติ ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ ดังนั้น เป็นเรื่องปกติที่บางสมัยชาติภาษานี้เป็นชนชั้นปกครอง แต่บางสมัยได้ชาติภาษานั้นเป็นชนชั้นปกครอง

ประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นประวัติศาสตร์ที่คนทุกชาติพันธุ์เป็นเจ้าของ ทั้งเคยมีหุ้นส่วนในดินแดนนี้และในสังคมมาแต่โบราณ ทั้งยังมีต่อไปในอนาคต

ชีวิตในสังคมอยู่รวมกันเป็นรัฐด้วยเศรษฐกิจ-การเมือง และสังคม-วัฒนธรรม มิใช่ด้วยเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติไม่มีจริงในโลก แต่ถูกสร้างใหม่แล้วถูกใช้เป็นเครื่องมือล่าอาณานิคม

รัฐหรือสังคมที่รวมกันด้วยเชื้อชาติไม่เคยเป็นจริงมาก่อนในอดีต ดังนั้นในโลกนี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีจริงรัฐเชื้อชาติเดียวโดดๆ

ความพยายามสถาปนารัฐเชื้อชาติเดียวโดดๆ ทำให้เกิดความหายนะแก่มนุษยชาติมาแล้ว เช่น ลัทธินาซีของฮิตเลอร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

[สรุปใหม่จาก “ต้นฉบับงานเขียนเกี่ยวกับ “ขอม” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ค้นพบใหม่” เป็นภาคผนวก 1 ในหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547 หน้า 176] •