ปริศนาโบราณคดี : เยี่ยมเยือน ‘อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย’ จากหัวใจ ‘ลูกสาวลำปาง’ (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

เยี่ยมเยือน ‘อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย’

จากหัวใจ ‘ลูกสาวลำปาง’ (1)

 

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ ดิฉันและคณะได้เดินทางข้ามขุนตานจากจังหวัดเชียงใหม่ผ่านลำพูนไปยังจังหวัดลำปาง มุ่งตรงไปสู่บ้านเลขที่ 363 ถนนทิพย์ช้าง ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง เพื่อไปเยี่ยมเยือนคารวะและให้กำลังใจ

“ปราชญ์อาวุโสแห่งนครเขลางค์” เสาหลักด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี อดีตผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในวัย 93 ปี

ท่านผู้นี้จักเป็นใครอื่นใดไปไม่ได้ นอกเสียจาก “อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย” หรือในบัตรประชาชนมีชื่อกลางเพิ่มด้วยว่า “นายศักดิ์ สักเสริญ รัตนชัย”

ดิฉันรู้จักและผูกพันกับอาจารย์ศักดิ์มานานเกือบ 20 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ทุกครั้งที่ดิฉันจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน

แทบไม่มีครั้งใดที่เวทีสัมมนาของเราจักขาดเสียซึ่งบุรุษแห่งเมืองรถม้าท่านนี้ ผู้เป็นยิ่งกว่า “ขาประจำ” ซึ่งในอดีตเรายกให้ท่านอยู่ใน “ทำเนียบเพื่อนพิพิธภัณฑ์” กลุ่มประเภท “แฟนพันธุ์แท้” ลำดับแรกสุด

ดิฉันได้เห็นพัฒนาการของท่านในการเดินทางมาร่วมงานว่า เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แม้ท่านจะมีอายุอยู่ในวัย 70 กว่าปีแล้วก็ตาม ทว่าท่านยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง สามารถขับรถข้ามขุนตานไป-กลับ เพื่อมาร่วมกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ลำพูนราวเดือนละ 1 ครั้งได้ด้วยตนเอง

จนกระทั่งเข้าสู่วัย 80 ท่านจะใช้วิธีให้คนทางบ้านช่วยขับรถไปส่งขึ้นรถทัวร์ ที่สถานี บ.ข.ส. เมื่อถึงลำพูนท่านจะนั่งสามล้อถีบ หรือเหมารถสองแถวสีฟ้ามุ่งตรงมายังพิพิธภัณฑ์ของเรา

ดิฉันจักไม่ยอมให้เริ่มรายการเสวนาใดๆ โดยเด็ดขาด ตราบที่อาจารย์ศักดิ์ยังมาไม่ถึง เพราะซาบซึ้งในน้ำจิตน้ำใจของท่านที่กรุณาดั้นด้นเดินทางมาไกลจากลุ่มน้ำวังมาร่วมงานเราทุกครั้ง บางคราก็จะส่งเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ให้เอารถไปรับท่านที่สถานีขนส่งลำพูน

อาจารย์ศักดิ์จึงเป็นขวัญใจพวกเราชาวลำพูนมาเนิ่นนาน แนบแน่น หากเวทีสัมมนาใดขาดท่านอาจารย์ศักดิ์ไป บอกได้คำเดียวว่าทั้งเหล่าวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างรู้สึกว่างานกร่อย จืดชืด เหมือนขาดรสชาติของพริกส้มสูตรก๋วยเตี๋ยวลูกทุ่งดาบแดงไปอย่างน่าใจหาย

 

อาจารย์ศักดิ์มักมีประเด็นแลกเปลี่ยนที่แหลมคม ท้าทายมาสร้างความประหลาดใจหรือจุดประกายความคิดให้แก่คณะผู้เข้าร่วมประชุมอยู่เสมอ

อาทิ คราวที่เราจัดเสวนาหัวข้อ “ไตยวนมาจากไหน” อาจารย์ศักดิ์เปิดประเด็นว่า

“ผมสันนิษฐานว่า คำว่า ‘โยนก’ กับ Ionic ของกรีกเป็นคำเดียวกัน ขอให้สังเกตว่า ภาษาพูดของคนลานนา (สะกดถูกต้องแล้วนะคะ ไม่มีไม้โท เพราะอาจารย์ศักดิ์เรียก ‘ลานนา’ ไม่เรียก ‘ล้านนา’) มีการออกเสียงละม้ายกับภาษาในกลุ่มตระกูลกรีก-ละติน นั่นคือ ออกเสียง ต แทน ท (แท้ อ่านแต๊) ป แทน พ (พลิก อ่านปิ๊ก) จ แทน ช (ช้าง อ่านจ๊าง) เป็นต้น

ไม่ต่างไปจากภาษาในกลุ่มประเทศรายรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มี P หนัก ไม่มี P เบา (Pizza อ่านปิ๊ซซ่า ไม่ใช่ พิซซ่า) หรือมีแต่ T หนัก ไม่มี T เบา (Station อ่านสตาซิยง ไม่ใช่สเทชั่น) ฯลฯ

ผมไม่คิดว่า รากศัพท์ของคำว่า ‘โยนก’ จะเกี่ยวข้องกับชาวลานนา (ไทยวน) เพียงแค่ชื่อของชาวเมือง Ionian ที่เคยเข้ามาตั้งรกรากในอินเดีย อพยพมาในแถบลานนาครั้งอดีตแล้วตกค้างเท่านั้น

ความเป็น ‘โยนก’ ของชาวลานนา ยังได้รับมรดกตกทอดอย่างเห็นได้ชัดยิ่งในเรื่องการออกเสียง P หนัก T หนัก ซึ่งชาวกรีกไม่สามารถออกเสียงตัว พ ตัว ท เหมือนพวกฝรั่งกลุ่มแองโกลแซกซอนหรือไทสยามได้”

หลังจากที่อาจารย์ศักดิ์โยนระเบิดลูกใหญ่ใส่เวทีเสวนา พลันเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ดังระงมขึ้น มีทั้งขานรับยกนิ้วว่าท่าน “คิดได้ไงเนี่ย” สุดยอดจริงๆ

และมีทั้งส่ายหน้าไม่เห็นด้วย หาว่าสิ่งที่ท่านเชื่อมโยงนั้นมันไกลตัวเกินไป ภาษาของสองตระกูลที่มาพ้องเรื่อง P หนัก P เบาอะไรนั่นเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า

 

 

อาจารย์ศักดิ์ไม่เพียงแต่เป็นนักวิชาการที่มีสีสันเร้าใจน่าติดตามเท่านั้น หากท่านยังมีจิตสำนึกสาธารณะในทุกลมหายใจเข้าออกเพื่อยกระดับเมืองลำปางให้มีมาตรฐานทางด้านศิลปวัฒนธรรมทัดเทียมเมืองอื่นๆ อีกด้วย

ยกตัวอย่างเรื่องที่ท่านกินไม่ได้นอนไม่หลับมาให้เห็นสัก 2 กรณี

1. การที่ท่านต่อสู้ทุกวิถีทางให้จังหวัดลำปางได้มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ของกรมศิลปากรเฉกเช่นจังหวัดลำพูน

2. การดื้อแพ่งไม่ขอให้ลำปางสังกัดสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน แต่จะขออยู่กับฝ่ายลำพูน-เชียงใหม่

กรณีแรก หลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมอาจารย์ศักดิ์ต้องมาต่อสู้ด้วยความเหนื่อยยากเพื่อให้จังหวัดลำปางมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติด้วยเล่า

อ้าว! ไม่ใช่ว่าทุกจังหวัดนั้นมีสิทธิ์ได้รับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โดยกรมศิลปากรโดยปริยายดอกล่ะหรือ?

คำตอบคือเปล่าเลย ท่านสังเกตดูให้ดีประเทศไทยมี 77 จังหวัด แต่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพียง 40 กว่าแห่งเท่านั้น

ปี พ.ศ.2511 ช่วงที่กรมศิลปากรมีดำริจะก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเขตภาคเหนือตอนบนอย่างเป็นทางการนั้น ได้มีการประเมินเสียงขอความเห็นเบื้องต้นเพื่อถามความต้องการของชุมชนระหว่างจังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง

ด้วยเหตุที่ในขณะนั้นกรมศิลปากร มีศักยภาพที่จะสามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้เพียงแห่งเดียว ต้องเลือกระหว่างโบราณวัตถุที่เก็บรักษาไว้ ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย หรือที่วัดพระธาตุลำปางหลวง?

โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องขอแบ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจากวัดมาส่วนหนึ่ง หากจังหวัดไหน หรือวัดใดมีความพร้อมก่อน กรมศิลปากรก็จะรีบเข้าไปดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้ทันที

ปรากฏว่า ทางเจ้าอธิการวัดพระธาตุหริภุญชัยยุคนั้นคือพระธรรมโมลี มีหนังสือตอบกลับมายังกรมศิลปากรว่ายินดีส่งมอบศิลปวัตถุโบราณวัตถุจากที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมในวัดพระธาตุจำนวน 2,013 ชิ้นให้แก่กรมศิลปากร เพื่อนำออกมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จะสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511

และยังช่วยเจรจาจัดหาเวนคืนพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของวัดพระธาตุหริภุญชัย จากเรือนจำกลางลำพูน ให้ย้ายไปอยู่ทางทิศตะวันตก ณ ตำบลริมปิงแทนที่

ในขณะที่ทางวัดพระธาตุลำปางหลวง ได้ทำหนังสือตอบปฏิเสธข้อเสนอขอจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกรมศิลปากรครั้งนั้นไป โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีความพร้อมทั้งเรื่องการจัดหาสถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ และเรื่องการแบ่งมอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้แก่กรมศิลปากร

ที่กล่าวมานี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ทำไมจังหวัดลำปางจึงยังไม่มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่สังกัดกรมศิลปากร ทั้งๆ ที่ก็เป็นจังหวัดใหญ่ และมีการคมนาคมสะดวกสามารถติดต่อกับส่วนกลางได้ง่ายกว่าจังหวัดน่านหรือที่เชียงแสน

หากเราเข้าใจบริบทให้ตรงกันถึงข้อจำกัดเรื่องศักยภาพ บุคลากร และงบประมาณของกรมศิลปากรในยุคนั้นว่า จำเป็นต้องเลือกบางจังหวัดที่มีความพร้อมเท่านั้น เพราะไม่สามารถจัดตั้งได้ทั่วทุกจังหวัด

 

จากเหตุกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย แม้จะมีความพยายามผลักดันให้กรมศิลปากรจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ลำปางขึ้น โดยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรทุกสมัยต่อเนื่องกันมากกว่า 10 ฉบับแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น โดยที่ผู้บริหารของกรมศิลปากรมักนำข้ออ้างเดิมจากการตัดสินใจปฏิเสธโอกาสทองในครั้งนั้นของเจ้าอาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวงมาอธิบายเสมอ

ซึ่งโดยส่วนตัวของดิฉันแล้วก็ยังรู้สึกเจ็บปวดแทนคนลำปางไม่หายจนทุกวันนี้

ฉบับหน้า จะขออธิบายอีกเรื่องหนึ่งที่เกริ่นไว้ว่าทำไมอาจารย์ศักดิ์จึงอยากให้สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (ณ พ.ศ. ก่อนหน้าที่จะยุบสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ให้เขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนไปขึ้นกับสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) โดยเฉพาะจังหวัดลำพูนทำหน้าที่ดูแลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางมากกว่า

รวมทั้งจักเฉลยให้ทราบว่า ทำไมดิฉันจึงได้รับฉายาว่า “ลูกสาวลำปาง”?