ล้านนาคำเมือง : วิหารลายคำ

วิหารลายคำ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วิหารลายคำ”

วิหารลายคำ เป็นวิหารที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ภายในประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” วิหารแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นวิหารสถาปัตยกรรมล้านนาบริสุทธิ์ ที่มีรูปแบบความเป็นพื้นเมืองอันงดงามสมบูรณ์แบบมากที่สุดแห่งหนึ่ง

วิหารลายคำมีขนาดเล็ก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดนาค และสิงห์มอมปูนปั้น 2 ตัว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันและเสาลงรักสีแดง

คำว่า “ลายคำ” คือการปิดทองล่องชาดทำลวดลายเป็นภาพวิมาน เมฆ มังกร ตรงพื้นที่ด้านหลังองค์พระประธาน และเสา โดยใช้ทองมากเป็นพิเศษ

เมื่อสะท้อนแสงจะทำให้วิหารดูเป็นสีทองอร่ามไปทั้งหลัง

ประวัติการก่อสร้างวิหารลายคำไม่ปรากฏเอกสารอย่างแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยพญาเมืองแก้ว ยุคล้านนารุ่งเรือง และได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง รวมทั้งการบูรณะของครูบาศรีวิชัยด้วย

ผนังภายในของวิหาร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนสีแสดงเรื่องราวตามปัญญาสชาดก เรื่องสังข์ทอง ในผนังด้านขวา และเรื่องสุวรรณหงส์ในผนังด้านซ้าย โดยทั้งสองเรื่องมีคำว่า ทอง เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของวิหารที่มีคำว่า คำ

ตามหลักฐานบันทึกไว้ว่า จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ เขียนด้วยสีเขียว สีแดง และสีครามเป็นส่วนใหญ่ มีสีสันสดใส สวยงาม

สันนิษฐานว่าช่างที่เขียนภาพเป็นชาวจีน ชื่อ เจ๊กเส่ง

ส่วนภาพผู้คนที่ปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมนี้มี บ่งบอกถึงลักษณะและขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตของคนล้านนา ทั้งการนุ่งผ้าของสตรี หรือการแต่งกายของบุรุษที่มีการสักลาย การนุ่งผ้าเตี่ยวมีผ้าสะพายพาดบ่า

ภาพจิตรกรรมดังกล่าว ถูกเขียนขึ้น เมื่อคราวที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม ในสมัยพญาสุลวฤๅชัยสงคราม (หนานทิพช้าง) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ได้กล่าวถึงภาพจิตรกรรม ในวิหารลายคำ เอาไว้ว่า “จิตรกรรมในภาคเหนือ นิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน เป็นภาพเหมือนชีวิตจริงถ้ามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน”

ศิลปกรรมของวิหารลายคำส่วนอื่นๆ ที่ปรากฏ ได้แก่ ลายคำประดับผนังท้ายวิหาร รูปหงส์ คันทวยเป็นลายเมฆไหล ซึ่งเป็นลวดลายในศิลปะจีน อันเป็นศิลปะพระราชนิยมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รวมทั้งงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีลักษณะอิทธิพลจากยุครัตนโกสินทร์ผสมผสานกับท้องถิ่นล้านนา และศิลปะตะวันตก

รูปทรงของวิหารลายคำที่ปรากฏในปัจจุบัน แตกต่างจากอดีตที่ปรากฎในภาพถ่ายเก่า ซึ่งถ่ายไว้ก่อน แต่ยังโครงสร้างเป็นวิหารที่มีหลังคาลดชั้นของสันหลังคาลงทางด้านหน้า 2 ช่วง ด้านหลัง 1 ช่วง และผืนหลังคาจะซ้อนลงด้านข้าง 2 ตับ ตามแบบแผนของวิหารล้านนาในแถบที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและวังโดยทั่วไป

ถึงแม้ว่าตัววิหารลายคำจะผ่านการบูรณะหลายครั้ง แต่ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งถือกันว่า เป็นงานฝีมือของช่างชั้นครู ยังคงได้รับการอนุรักษ์ ดูแลอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน