ปริศนาโบราณคดี : ‘สงครามสามนคร’ (จบ) : การปรากฏนามของพระเจ้ากัมโพชแห่งกรุงละโว้?

 

‘สงครามสามนคร’ (จบ)

: การปรากฏนามของพระเจ้ากัมโพชแห่งกรุงละโว้?

 

สืบเนื่องมาจากผลของ “สงครามสามนคร” ยังมีประเด็นคาใจเรื่องของ “สายเลือด” (DNA) หรือชาติพันธุ์ของบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่ยกทัพมาห้ำหั่นกันเป็นว่าเล่นราวกับเป็นยุคมืดทางประวัติศาสตร์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ด้วยคำถามที่ว่า

สรุปแล้ว พระเจ้ากรุงนครศรีธรรมราชผู้มีนามว่า “สุชิตราช” มีเชื้อสายชวา (ศรีวิชัย) ตามที่ควรจะเป็นไหม หรือว่าในความเป็นจริงพระองค์เป็นชาวเขมรมาก่อนที่จะยึดละโว้แล้ว

ที่ถามเช่นนี้ เนื่องจากโอรสของพระองค์ทรงมีนามว่า “เจ้าชายกัมโพช” ซึ่งน่าสนใจยิ่ง

คำถามคือ ไฉนในเมื่อพระราชบิดายึดกรุงละโว้ได้แล้ว ก็เท่ากับว่าช่วงนั้นอิทธิพลศรีวิชัยแผ่ขยายกว้างใหญ่ไพศาลมากเหลือเกินแล้ว จากนครศรีธรรมราชเรื่อยมาจนถึงกรุงละโว้อันเกรียงไกร พระราชอาณาเขตเท่านี้ยังไม่เพียงพออีกล่ะหรือ

พระเจ้ากัมโพชจึงยังคิดจะยกทัพมาตีหริภุญไชย แว่นแคว้นทางตอนเหนือซึ่งกษัตริย์กรุงละโว้องค์ก่อน (อุจฉิฏฐจักรวัติราช) อุตส่าห์หนีมายึด พร้อมกับขับไล่กษัตริย์หริภุญไชยองค์ก่อนไปแล้วอีก

ตำนานเขียนว่า หลังจากที่พระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชยึดเมืองหริภุญไชยได้ 3 ปี อาณาประชาราษฎร์มีความสุขจำเริญใจมาก เพราะกษัตริย์ผู้มาใหม่นี้สั่งให้ปล่อยนักโทษที่ถูกกุมขังทั้งหมด ทรงใช้ทศพิธราชธรรมปกครองบ้านเมือง พระองค์จึงเป็นที่รักของชาวเมืองหริภุญไชย

แต่แล้ว “พระเจ้ากัมโพช” หรือ “กัมโพชราช” แห่งกรุงละโว้ก็ยกทัพขึ้นมารุกรานเมืองหริภุญไชยอีกจนได้ ทำให้ชวนสงสัยว่า เพียงแค่สามปีเท่านั้นหลังจากเหตุการณ์ “สงครามสามนคร” พระเจ้าสุชิตราชทรงหายไปไหน

พระองค์เสด็จกลับคืนไปนั่งบัลลังก์ที่นครศรีธรรมราชดุจเดิม แล้วยกเมืองละโว้ให้แก่โอรสปกครอง หรือว่าพระองค์ทรงสิ้นอายุขัยที่ละโว้ด้วยวัยชรา โดยไม่ได้กลับไปนครศรีธรรมราชแต่อย่างใด

ข้อสำคัญคือ พระโอรสของพระเจ้าสุชิตราชผู้นี้มีนามเด่นชัดเหลือเกินว่า “เจ้ากัมโพชราช” แปลว่าราชาแห่งแคว้นกัมโพช ชื่อนี้ประหนึ่งจงใจประกาศให้ทุกคนรู้ว่า ณ บัดนี้ราชบัลลังก์ของละโว้ ปกครองโดยขอม (เขมร) แบบเบ็ดเสร็จแล้วใช่หรือไม่

ตำนานไม่ได้ระบุว่าใครเป็นพระมารดาของเจ้ากัมโพชราช

พระองค์มีแม่เป็นเจ้าหญิงเขมรใช่หรือไม่

หรือดีไม่ดี ทั้งฝ่ายพ่อและแม่เป็นเขมรทั้งคู่ หมายความว่า พระเจ้าสุชิตราชเองก็มีเชื้อสายเขมรด้วยเช่นกัน

เป็นเจ้าเขมรที่ยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ช่วงหนึ่ง แต่ต่อมาราชวงศ์สายศรีวิชัยอาจแข็งข้อฮึดสู้เอาคืนขับไล่ให้พระเจ้าสุชิตราชออกไปจากนครศรีธรรมราชได้ ทำให้พระองค์ต้องหาทางมายึดละโว้

ที่แน่ๆ จากระยะเวลาหลังเหตุการณ์สงครามสามนครเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น เจ้าชายกัมโพชราชย่อมไม่ได้ประสูติแต่พระราชมารดาที่กรุงละโว้โดยมีอดีตมเหสีของพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชเป็นแม่อย่างแน่นอน แม้นตำนานระบุว่า หลังจากที่พระเจ้าสุชิตราชยึดละโว้ได้แล้ว ก็เอามเหสีของกษัตริย์ละโว้องค์ก่อนมาเป็นชายาของตน

หากพระเจ้าสุชิตราชจะมีโอรสธิดากับอดีตมเหสีของพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราช พระโอรสหรือธิดาองค์นั้นก็น่าจะทรงพระเยาว์มาก ชนมายุแค่ 2 ขวบ

จึงแน่นอนว่า พระเจ้ากัมโพชผู้เป็นโอรสของพระเจ้าสุชิตราช และนั่งเมืองละโว้แทนบิดานั้น ย่อมต้องเป็นหนุ่ม เกิดและโตที่นครศรีธรรมราชนานแล้ว และติดตามเสด็จพ่อร่วมรบมาช่วยกันยึดกรุงละโว้ด้วย

พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี ศิลปะศรีวิชัย

 

ดิฉันสนใจเหตุการณ์ช่วงนี้มาก จึงได้ลงท้ายบทความตอนเดิมว่า อยากรู้นักว่าการที่พระเจ้ากัมโพชยกทัพไปตีเมืองลำพูนซึ่งปกครองโดยพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชนั้น เป็นการสู้กันระหว่างสายเลือดใดกันแน่

ขอมตีขอม แขกตีขอม แขกตีมอญ หรือขอมตีมอญ?

ขอมตีขอม หมายถึง พระเจ้าสุชิตราชเองก็เป็นขอม และพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชอดีตกษัตริย์ละโว้ก็เป็นขอมเช่นกัน

แขกตีขอม หมายความว่า พระเจ้าสุชิตราชเป็นชาวศรีวิชัย เชื้อสายชวา (ชีวกะ-ชวากะ) ส่วนพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชเป็นขอม

แขกตีมอญ หมายความว่า หากพระเจ้าสุชิตราชเป็นชาวศรีวิชัย แต่พระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชยังเป็นมอญทวารวดีอยู่เหมือนเดิม

ขอมตีมอญ หมายถึงพระเจ้าสุชิตราชเป็นขอม แต่พระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชเป็นมอญ

แบบจำลองสันนิษฐานพระเจดีย์​องค์เดิมข้างในของพระบมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นศิลปะศรีวิชัยมาก่อนถูกครอบด้วยเจดีย์ทรงกลมลังกา

เหตุการณ์ช่วงนี้ จามเทวีวงส์พงศาวดารนครหริปุญไชย พรรณนาไว้ว่า

“ครั้นถึงปีที่สาม (แห่งการครองราชย์ของพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชที่นครหริภุญไชย) พระราชบุตรของพระเจ้าสิริธรรมราช (หมายถึงพระเจ้าสุชิตราชแห่งนครศรีธรรมราช) เป็นพระราชาทรงพระนามพระเจ้ากัมโพช ด้วยพระกุศลที่ทรงกระทำไว้แต่ปางก่อน มีกำลังใหญ่ยิ่งนัก แต่เป็นผู้มักมาก ตระเตรียมกองทัพเสด็จมาถึงหริปุญไชยนคร

ส่วนพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชก็ตระเตรียมสุรโยธาชาวหริปุญไชยนครออกต่อรบด้วยพระเจ้ากัมโพชนั้น เมื่อสุรโยธาทั้งสองฝ่ายกระทำยุทธนาการกันอยู่ พระเจ้ากัมโพชก็ถึงปราชัยพ่ายแพ้หนีไป พวกเสนาของพระเจ้ากัมโพชก็ทิ้งศัสตราวุธ มีดาบแลหอกพุ่งหอกซัดแลเกราะโล่ แลช้างตัวประเสริฐเป็นต้นเสีย หนีไปถึง ‘นครนาคบุรี’

ชาวนครนาคบุรีได้ออกติดตามพระเจ้ากัมโพช ได้ช้าง ม้า ทาสี ทาสา เครื่องศัสตราวุธเป็นอันมาก พระเจ้ากัมโพชมีพระหัตถ์เปล่า กลับไปถึงพระนครของพระองค์แล้ว ต้องปิดพระพักตร์ด้วยชายภูษา เพื่อจะบังเสียซึ่งความละอายอันใหญ่เข้าไปยังพระนคร”

เหตุการณ์ที่ยกมานี้บ่งบอกถึงความพ่ายแพ้ยับเยินของพระเจ้ากัมโพช ตำนานจามเทวีวงส์เขียนบนแผ่นดินล้านนาย่อมอยู่ฝ่ายผู้ชนะ เสียบประจานฝ่ายละโว้ว่าถึงขั้น ต้องเอาชายผ้านุ่งมาปิดหน้าด้วยความอาย

แถมยังมีเมืองชื่อ “นครนาคบุรี” โผล่ขึ้นมาเพิ่มด้วยอีกแห่ง เมืองที่พระเจ้ากัมโพชหนีทัพจากลำพูนมาถึง เราไม่ทราบว่านครนาคบุรีเป็นเมืองที่ขึ้นตรงกับทางหริภุญไชยหรือไม่ หรือว่าเป็นเมืองอิสระ ก็ยังสามารถสู้กับกองทัพของพระเจ้ากัมโพชได้อีกด้วย

เมืองนาคบุรีอยู่ที่ไหน เป็นอีกหนึ่งปมปริศนาที่ยังไม่ได้มีการสืบค้น

 

สิ่งที่ดิฉันตั้งคำถามไว้ว่า พระเจ้าสุชิตราชเป็นแขกหรือเป็นขอม? หรือพระองค์อาจเป็นแขกแต่มีมเหสีเป็นขอม พระโอรสจึงมีนามว่าพระเจ้ากัมโพชราช คำถามนี้ยังไม่มีคำตอบ

การที่ดิฉันสนใจประเด็นนี้ เนื่องมาจากในลำพูนมีศิลปกรรมที่สะท้อนถึงอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัยอยู่หลายชิ้น อาทิ พระเจดีย์เชียงยัน (เชียงยืน หรืออีกชื่อคือเจดีย์แม่ครัว) ทรงปราสาทห้ายอด ในโรงเรียนเมธีวุฒิกร ทิศเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย มีรูปทรงละม้ายศิลปะศรีวิชัย

 

เจดีย์เชียงยัน (เชียงยืนเจดีย์แม่ครัว) วัดพระธาตุหริภุญชัย สถาปัตยกรรมผสมระหว่างอิทธิพลพุกามและศรีวิชัย

 

โดยเฉพาะซุ้มประตูโขงด้านทิศตะวันออกหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ภัณฑารักษ์และนักโบราณคดีของกรมศิลปากรหลายท่านลงความเห็นว่าน่าจะได้รับอิทธิพลการทำ “สถูปิกะ” หรือสถูปจำลองขนาดเล็กตามมุมชั้นเรือนธาตุที่ลดหลั่นกันมาจากพระบรมธาตุไชยา มากกว่าที่จะได้รับอิทธิพลจากสายพุกาม

นี่คือสิ่งที่ดิฉันพยายามค้นหาสายสัมพันธ์ระหว่างการขึ้นมาสู่ลำพูนของศรีวิชัย ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และหากมีควรเป็นเหตุการณ์ใด เมื่อไหร่ อย่างไร

 

ซุ้มประตูโขงด้านทิศตะวันออกหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน สถาปัตยกรรมคล้ายศรีวิชัย

 

คําอธิบายที่พอจะเข้าเค้าก็คือ ช่วงระยะเวลาหนึ่งกรุงละโว้เคยถูกปกครองโดยกษัตริย์ศรีวิชัย ผู้มีความคิดที่จะยกทัพมารุกรานลำพูนอยู่เนืองๆ (แม้ชื่อกษัตริย์องค์ใหม่จะมีนามว่ากัมโพชก็ตาม แต่สมัยที่เป็นยุพราชพระองค์ก็เติบโตมาในนครศรีธรรมราช ท่ามกลางอารยธรรมศรีวิชัยมาก่อนเช่นกัน) อาจเป็นไปได้ว่า อิทธิพลด้านศิลปกรรมของทางศรีวิชัยอาจขึ้นมาสู่หริภุญไชยบ้างในช่วงนี้เองไม่มากก็น้อย

ส่วนคำตอบเกี่ยวกับสายเลือดของพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราชนั้น ว่าเป็นมอญทวารวดีเหมือนกับทางหริภุญไชย หรือว่าเปลี่ยนไปเป็นขอมแล้ว มีคำเฉลยอยู่ที่ตำนานจามเทวีวงส์ กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่พระองค์ทรงได้ชัยชนะจากพระเจ้ากัมโพชแล้ว พระองค์ได้กระทำการบวงสรวงดวงวิญญาณของเหล่าฤๅษีและพระนางจามเทวี โดยอ้างถึงสายโลหิตว่า พระนางจามเทวีเป็นบรรพบุรุษของพระองค์

แสดงว่า สำนึกลึกๆ ของพระเจ้าอุจฉิฏฐจักรวัติราช (แม้เป็นชาวละโว้โดยกำเนิด) นั้นรู้ดีว่าปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญไชยมีถิ่นฐานเดิมมาจากเมืองละโว้ของพระองค์ (ซึ่งสมัยทวารวดีช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 16 ยังเป็นชาวมอญไม่ใช่ขอม) จึงมีความผูกพันแนบสนิทกับพระนางและชาวหริภุญไชยเป็นหนึ่งเดียว ประหนึ่งว่าการมานั่งเมืองที่นครหริภุญไชยนั้น มีสิทธิธรรมในฐานะเครือญาติกัน ไม่ใช่การมาของศัตรู

ถ้าเช่นนั้นขอใส่สมการเหตุการณ์ “สงครามสามนคร” ว่า จุดเริ่มต้นนั้นเป็นการสู้รบกันระหว่าง มอญกับมอญ (หริภุญไชยกับละโว้) เปิดช่องให้นครศรีธรรมราช (ยังไม่รู้ว่าเป็นขอมหรือแขก อาจเป็นแขกปนขอม) ยกทัพมายึดเมืองมอญ (ละโว้) ได้เมืองแรก ทำให้ละโว้เริ่มกลายเป็นขอมปนแขก จากนั้นตั้งใจจะไปยึดเมืองมอญอีกเมือง (หริภุญไชย) ให้ได้อีก แต่ไม่สำเร็จ

สงครามครั้งนั้นละโว้ยึดหริภุญไชยไม่สำเร็จก็จริง แต่หลังจากนั้นพบว่ามี “สงครามสองนคร” ระหว่างนครหริภุญไชยกับละโว้อีกไม่ต่ำกว่า 6-7 หน อันเป็นการต่อสู้กันระหว่างมอญ (หริภุญไชย) กับละโว้ (ขอมปนแขก)

สู้ไปสู้มาอิทธิพลขอมละโว้ผสมศรีวิชัย แพร่กระจายขึ้นมาสู่ลำพูนไม่น้อย