อัญเจียแขฺมร์ : แด่ หนุ่มสาว (1) “รอยทางแห่งความฝัน”

รอยทางแห่งความฝัน

ฉันพบเขาอยู่ในร้านหนังสือซึ่งตั้งอยู่ในอาคารศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศสแถวลุมพินี อันที่จริงสิบกว่าปีก่อนๆ นู้น (ปลายปี 1999) ฉันน่าจะได้พบเขาที่โรงแรมรอยัลพนมเปญพร้อมกับคณะของ เขียว สัมพัน นวน เจีย และ เอียง ซารี ขณะไปเยือนที่นั่น พร้อมกับเงาเล็กๆ ของอดีตนายล่าม-ซวง ซีคอน (Suong Sikoeun) ผู้น่าจะเป็นหนึ่งในบุคคลที่อยู่ที่นั่น

เมื่อตอนนั้น ลอง นาริน สหายร่วมนายในรัฐบาลกัมพูชาธิปไตยก็ยังไปที่นั่น และทำให้ฉันรู้จักอดีตสหายเขมรแดงในเขตพนมมาลัย และแม้จะกลับไปพนมมาลัยถึง 2 ครั้ง แต่ฉันไม่มีวาสนาพบพานกับ ซวง ซีคอน สักครั้ง

มันมีบางอย่างที่ฉันคิดว่า ซวง ซีคอน ได้ก่อการไว้ในหนังสือเล่มเดียวของเขาที่ชื่อ “รอยทางปัญญาชนเขมรแดงคนหนึ่ง” (Itineraire d”un Intellectuel Khmer Rouge) ซึ่งแม้จะวางขายมาร่วม 3 ปี แต่พลังงานพิเศษที่ฉันได้พบจากหนังสือเล่มนี้ ได้ทำให้ฉันตกอยู่ในอาการภวังค์คล้ายการถวิลหาห้วงเวลาแห่งหนุ่มสาวที่หายไปในชีวิตของตน ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนเลยในหมวดหนังสือสายเขมรแดงหลายเล่มที่เคยผ่านสายตา โดยเฉพาะในกลุ่มนักเขียนตาน้ำข้าว

เป็นความรู้สึกแห่งความสดชื่น เบิกบาน จิตฝันอันทะเยอทะยาน ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็แฝงไว้ด้วยความหม่นเศร้า

 

สัมผัสงานเขียนนักศึกษาทุนหลวงกัมพูชารุ่นที่ 2 (1950/1960) ซวง ซีคอน ซึ่งมีทักษะในภาษาฝรั่งเศสอย่างน่าทึ่ง เทียบเคียงความประณีตเทียบเท่าหรือยิ่งกว่าเจ้าของภาษาโดยตรง

และเมื่อเทียบชั้นกับบรรดาหนังสือในหมวดตีแผ่แนวคิด พล พต และระบบเขมรแดง อาทิ ฟิลิป ชอร์ต (Pol Pot : The History of Nightmare) เดวิด พี แชนเลอร์ (Brother Number One) ฟรังซัวส์ บีโซต์ (Facing the Torturer)

และกลุ่มที่แก้ต่างขนบฝ่ายตนอย่าง “ประวัติศาสตร์กัมพูชากับจุดยืนที่ผ่านมาของข้าพเจ้า” (เขียว สัมพัน) ซึ่งจัดพิมพ์ทั้งฉบับแขฺมร์และฝรั่งเศส

กระนั้น หนังสือนักเขียนนามอุโฆษที่กล่าวมาก็ยังขาดซึ่งเนื้อหาบางอย่างซึ่งไม่อาจเติมเต็ม กระทั่งเมื่อ “รอยทางปัญญาชนเขมรแดงคนหนึ่ง” ปรากฏขึ้นและจัดตัวตนในบรรณพิภพ ที่รุ่มรวยภาษาในแบบวรรณกรรม สามัญไปด้วยบริบทแห่งความหมาย ในเรื่องราวหนุ่มสาวยุคแสวงหา

โดดเด่นจนก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ต่อวิถีหนุ่มสาวปัญญาวรรณกรรมกลุ่มนั้น ซึ่งอุดมคติและทฤษฎีที่พวกเขาเชื่อมั่นได้บงการให้พวกเขาย่ำเดินไปสู่ภารกิจของตนอย่างสุดกำลัง

ไม่เหลือไว้ใดๆ ในพื้นที่ของความผิดพลาดและผลลัพธ์บั้นปลายที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า

ความโดดเด่นของเนื้อหาและภาษานั่นเอง ที่ทำให้งานเขียนชิ้นนี้มีคุณค่าในเชิงวิชาการอย่างไม่คลุมเครือที่จะรู้สึกต่อตัวละครในด้านความเป็นมนุษย์ ตรงกันข้ามกลับทำให้เรารู้สึกถึงความสงสารแทนความเกลียดชังต่อขนบของหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง

อีกกระบวนการเล่าเรื่องซึ่งแทบไม่เชื่อเลยว่า ตัวละครต่างๆ ที่เราเคยรู้จักและจินตนาการผ่านตัวหนังสือหมวดเขมรแดงในแบบต่างๆ นั้น พวกเธอและเขาช่างผ่านช่วงเวลาแห่งวัยหนุ่มที่หนักหน่วงเหลือทน

ซึ่งความความยากเย็นในหมู่นักเขียนที่ต้องเขียนภาษาที่ 3 นี้ แต่ ซวง ซีคอน กลับทำได้อย่างเชี่ยวชาญและคุมเนื้อหาแบบเดียวกับระดับผลงานของชาวตะวันตก

เทียบชั้นในระดับงานวิชาการกึ่งเรื่องเล่าเชิงปรัชญาซึ่งไม่ปรากฏมากนัก สำหรับหมวดหมู่ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยกัมพูชา

แม้ว่าปรากฏการณ์วิทยานิพนธ์ของ เขียว สัมพัน จะถูกจดจำและกล่าวขานอย่างกว้างขวาง ในแวดวงเศรษฐศาสตร์-การเมืองปี 1960

แต่ ซวง ซีคอน งานของเขาทรงพลังเชิงอักษรที่มันสามารถพาเราไปสู่ยุคแสวงหา เพื่อขับขานภารกิจแห่งการแสวงหาอันแรงกล้าของวัยหนุ่ม

อย่างละมุนละไมไปด้วยกลิ่นอายของทฤษฎีเจ้าสำนักและลัทธิชาตินิยมแบบสีหนุคิสต์ เหมาอิสต์ และอื่นๆ ซึ่งมีให้เห็นทั้งแบบอเมริกัน บารังที่ยังทรงอิทธิต่อสังคมแขฺมร์เวลานั้น

รวมทั้งลัทธิกระแสหลักแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ในยุโรปที่หนุ่มสาวยุคนั้นพากันตื่นตัว แม้แต่อาจารย์ในคณะที่ ซวง ซีคอน ศึกษา ก็เป็นเจ้าของทฤษฎีทดลองที่จุดอุดมการณ์ต่อความรู้สึกต่อ ซวง ซีคอน

อย่างโถมไปในความคิด

 

เกิดในเขตรอยต่อแม่น้ำโขงของจังหวัดกระแจะ ปัจุจบันกำปงจาม ที่ได้รับการปลูกฝังความรู้จากโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยอดีตนักสอนศาสนา ยังผลให้ภาษาฝรั่งเศสของเด็กชายซวง ซีคอน อัดแน่นไปด้วยภูมิรู้แบบมิชชันนารีที่น่าทึ่ง

ทำให้ฉันรำลึกถึงหมู่บ้านกระดอล/หนูบริเวณภูมิศาสตร์กระแจะ-แม่น้ำโขงที่เขมรป่าดงชนกลุ่มน้อยกัมพูชาพากันอาศัยและได้รับการศึกษาอย่างดีจากมิชชันนารีบารังยุคแรกๆ และส่งผลให้ชาวเขมรป่าดงชนเชียดกลึงกลุ่มนี้ มีระดับการศึกษาดีกว่าชาวเขมรในเมืองบางกลุ่มยุคนั้น และอาจจะมีส่วนที่ทำให้ในบางพื้นที่ชนบทของจังหวัดกระแจะในสมัยอาณานิคมมีลักษณะพิเศษ

โดยจะเห็นว่า มรดกการศึกษาสมัยอาณานิคมที่ตกทอดมาในสมัยสีหนุนี้ ได้กลายเป็นแหล่งผลิตปัญญาชนชั้นหัวกะทิเกือบโดยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระแจะ กำโปดหรือตาแก้ว และบางเขตของกัมพูชาใต้ เช่น เมืองโชดก โดยวัดจากการได้นักเรียนที่สอบชิงทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

ไม่แต่ภาษาพื้นฐานอย่างฝรั่งเศสเท่านั้น เด็กชนบทหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ ยังถูกปลูกฝังความคิดทางการเมืองอย่างเข้มข้นมาแต่ต้นประถมศึกษา ดังที่ ซวง ซีคอน เล่าไว้ในเรื่องของตน

เมื่อศึกษาระดับอนุวิทยาลัยที่วิทยาลัยพระสีหนุแห่งจังหวัดกำปงจาม ซึ่งทั่วประเทศขณะนั้นมีเพียง 3 แห่งคือ พระตะบอง พนมเปญ และกำปงจาม

ที่นี่ ซวง ซีคอน ได้พบกับอาจารย์ควาน สีพาน ครูสอนคณิตศาสตร์ผู้มีตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ แต่กลับสร้างแรงบันดาลใจอย่างล้นหลากต่อเด็กหนุ่มด้านสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ ด้วยหนังสือเล่มที่ชื่อ “ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789”

ยังผลให้เขากลายเป็นนักเรียนที่คลั่งอ่านอย่างสุดโต่ง โดยกลุ่มนักเขียนที่ ซวง ซีคอน ยกให้เป็นฮีโร่ในตอนนั้นมีทั้ง อัลแบร์ โซโบล (Albert Soboul) ซึ่งภายหลังเมื่อมีโอกาสศึกษาที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์กรุงปารีสนั้น บุคคลท่านนี้ได้กลายเป็นศาสตราจารย์ที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดของเขาคนหนึ่ง

มันยังฉายโชนให้เห็นถึงการพบพานทฤษฎีปฏิวัติสังคมที่หนุ่มสาวยุคนั้นถือเป็นอุดมคติทดลอง และต่อมาเรื่องราวแบบนี้เองที่นำพาให้พวกเขาก่อการปฏิวัติกับแบบทดลองนานาที่ตนใฝ่ฝัน

มันคือความจริงที่ชวนให้ตื้นตัน สำหรับใครก็ตามที่ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่ง “กงล้อปฏิวัติ”

และเป็นความจริงที่น่าปวดร้าว สำหรับใครก็ตามที่ร่วมหมุนกงล้อแห่งช่วงเวลาดังกล่าว

 

ไม่แปลกเลย ทำไมหนังสือที่หนักอึ้งเล่มนี้ จึงมีเนื้อหาอวลไอไปด้วยเรื่องราวในแบบของหนุ่มสาวที่เราสามารถแตะถึงความรู้สึก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสำนึกร่วมสมัย

ทว่า ประสบการณ์และความหมายในช่วงเวลาดังกล่าวของหนุ่มสาวยุคนั้น กำลังหล่นร่วงและเลือนหายไปในวงจรของกาลเวลาอย่างไม่มีวันจะหวนมาอีก

เราก็ยังจะเห็นว่า ตัวละครและสหายร่วมความคิดของ ซวง ซีคอน ทั้งหลายไม่ว่า พล พต, เขียว สัมพัน, เอียง สารี, ฮู ยุน, ฮู นิน, พี่น้องตระกูลจวนน์ จวนน์ เจือนน์, จวนน์ จุม, จวนน์ มุมม์ และ จวนน์ ประสิต เกียต ชน ลอง นาริน เขียว พอนนารี เขียว ทีริต ลอเรนส์ พิกค์ ฯลฯ แลตรรกะชีวิตที่พวกเขาแสวงหา มาร์กซ์ เลนิน เหมา สีหนุ แขฺมร์อิสระ และเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ

ในฐานะบิดาของลูกสาวสองคน นาเร็น (1971) สกขา (1973) และนิโคลาส์บุตรชายที่เกิดกับลอเรนส์ พิกค์ ภรรยาชาวฝรั่งเศส ผู้ร่วมอุดมการณ์ในช่วงเวลาอันยากลำบากทั้งสมัยยังเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายในปารีส และกรุงพนมเปญสมัยรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย

แต่เมื่อมาถึงจุดที่ความรักกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อองค์การ ที่ปัญญาชนทั้งสองไม่อาจเดินหน้าชีวิตคู่ต่อไปได้

สำหรับ นางลอเรนส์ พิกค์ ที่มีความผิดไม่เห็นด้วยกับแนวคิดขององค์การ ส่วน ซวง ซีคอน สามีนั้น คราวหนึ่งเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับ คนทั้งสองควรถูกส่งตัวไปอบรมศึกษาที่ชมรมบึงตรอแบกหรือไม่ก็คุกโตลสแลง (S-21)

นับเป็นปฏิบัติการพิเศษที่ฝ่ายภริยาและลูกๆ ถูกส่งตัวกลับประเทศ ส่วน ซวง ซีคอน เขาเลือกจะอยู่ต่อไปกับคณะกัมพูชาประชาธิปไตยและองค์การ ผู้เปรียบเสมือนครอบครัวหลักที่เขาอุทิศชีวิต

แม้จะย้อนกลับไปและพบว่า ทั้งช่วงชีวิตแสวงหาในวัยหนุ่มจนถึงปัจจุบันช่างเป็นสิ่งว่างเปล่า ทุกอย่างล้วนแต่ล่มสลาย ไม่เหลือสิ่งใดให้จดจำ ทั้งช่วงรอยต่อของอดีตและชีวิตที่เหลืออยู่ ไม่มีอะไรเหลือไว้ให้นึกฝัน

นอกจากหนังสือขนาด 542 หน้าที่เขาเขียนขึ้นในช่วงท้ายๆ ของชีวิต โดยตอนหนึ่งของคำอุทิศที่ ซวง ซีคอน มอบเป็นอนุสรณ์แก่สหายปฏัวัติและมิตรผู้เป็นที่รักของตน ผู้ซึ่ง

“อุทิศชีวิตตนต่อความเชื่อในสัจจะ ความจริง ความยุติธรรมที่พวกเขาถือเป็นอุดมการณ์และเพื่อบรรลุผลไปสู่เสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ”

และไม่มีตอนใดเลยที่กล่าวว่า เขาได้ผลาญวันเวลาไปอย่างสูญเปล่า

หมายเหตุ : ด้วยความเคารพ ผู้เขียนขออนุญาตเจ้าของวาทกรรม “แด่ หนุ่มสาว” มาตั้งเป็นชื่อหัวเรื่องและต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง