จรัญ มะลูลีม : มองอิสลาม จากแว่นของนักเขียนตะวันตก

จรัญ มะลูลีม

ตีพิมพ์ครั้ังแรก ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 31 ต.ค. – 6 พ.ย. 2546

หลังเหตุการณ์ 9/11 ภาพของอิสลามถูกนำเสนอโดยนักเขียนที่โลกรู้จักกันดี ทั้งในแง่ที่มีความเห็นอกเห็นใจและวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมขอนำเอามาเสนอเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นอีกมุมหนึ่งของชาวตะวันตกที่ศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามว่ามีความเห็นต่ออิสลามอย่างไร

โดยความเห็นของนักเขียนเหล่านั้นผมจะมีวงเล็บไว้ให้ผู้อ่านไปอ่านรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ จะเริ่มจากเหตุการณ์ในอดีต (สงครามครูเสด) จนมาถึงปัจจุบัน

ในสงครามครูเสดชาวมุสลิมราว 10,000 คน ซึ่งแสวงหาที่พักพิงอยู่ที่มัสญิดอัล-อักซอ ถูกสังหารอย่างทารุณ ชาวมุสลิมและชาวยิวถูกกำจัดออกมาจากนครศักดิ์สิทธิ์ (Holy City) อย่างกับพวกแมลงที่น่ารังเกียจ (ดู Karem Armstrong, A History of Jerusalem, One City Three Faiths, Harper-Collins Publishers, 1996. London, p.274)

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน เมื่อมุสลิมภายใต้สาลาดิน (เศาะลาฮุดดีน) เข้าสู่นครเยรูซาเลม ในฐานะผู้พิชิตในปี 1187 ชาวคริสเตียนมิได้ถูกฆ่าแม้แต่คนเดียว ชาวมุสลิมมีพฤติกรรมที่พร้อมด้วยความยุติธรรมและความใจกว้างต่อผู้อื่นตามที่อิสลามได้กำหนดเอาไว้

สำหรับชาวตะวันตก อิสลามมิได้เป็นแต่เพียงคู่แข่งเท่านั้น แต่ล่าสุดยังเป็นสิ่งท้าทายต่อคริสเตียนด้วย ตะวันตกอ้างว่าชาวมุสลิมปกครองแบบเผด็จการและนักวิชาการศาสนาของชาวมุสลิมกำลังต้านตะวันตกอยู่

อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากของตะวันตกกับอิสลามก็คืออิสลามไม่เคยพ่ายแพ้ ชาวตะวันตกไม่อาจเข้าใจอิสลามที่มีอิทธิพลอย่างสม่ำเสมอเหนือผู้ยึดมั่นของตนได้ ความผูกพันต่ออิสลามยังคงท้าทายตะวันตกอยู่เสมอ (Edward. W. Said. “Covering Islam.” Pantheon Books. New York 1981. p.29)

 

เมื่อพูดถึงอิสลามและประวัติศาสตร์อิสลาม โดยทั่วไปนักบูรพาคดีมุ่งที่จะแบ่งโลกออกเป็นตะวันออก-ตะวันตก ที่ซึ่งตะวันตกถูกพิจารณาว่าพัฒนาแล้วในด้านวัฒนธรรมและการเมืองในขณะที่ตะวันออกยังคงล้าหลังในอาณาจักรทางวัฒนธรรมและการเมือง

ตะวันตกก้าวเข้าสู่วิทยาศาสตร์ธรรมชาติจนกระทั่งมาถึงจุดที่ได้รับในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งทรัพย์สินอันมากมายมหาศาล กำลังและพลังงานอันน่าทึ่ง แต่แทนที่ตะวันตกจะใช้เทคโนโลยีการพัฒนานี้เพื่อสันติสุขและความร่วมมือซึ่งกันและกัน เครื่องมือทุกชนิดกลับถูกใช้ไปเพื่อยึดครองคนอื่น

อังกฤษได้สถาปนาระบบอาณานิคมขึ้นในอินเดียและค่อยๆ มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำลายรัฐบาลมุคัลมุสลิม ในปี 1975 อังกฤษได้ประกาศใช้ชุดกฎหมายการปฏิรูปการเงินขึ้นมา การตั้งบ้านเรือนอย่างถาวรของพวกเขาในเบงกอลเข้าไปรบกวนแบบแผนทางสังคมอย่างลึกซึ้ง นโยบายของพวกเขาทำให้ชนชั้นเจ้าของที่ดินชาวมุสลิมต้องพังทลาย เจ้าของที่ดินชาวมุสลิมถูกแทนที่โดยพ่อค้าชาวฮินดูและเจ้าของเงินกู้จากเมืองต่างๆ ดังนั้น ภาระในเรื่องภาษีที่สูงลิ่วจึงนำไปสู่การกดขี่อย่างหนักต่อชาวไร่ชาวนา ภาษาอังกฤษถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นภาษาราชการและชาริอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) ถูกเข้าแทนที่โดยกฎหมายอังกฤษ ชาวมุสลิมที่ได้ครอบครองอยู่ในงานข้าราชการพลเรือน ศาลยุติธรรมและกองกำลังของตำรวจก็แตกสลายไป (Rudolph Peters, Islam and Colonialism. Mouton Publishers. New York. 1979. p.50)

สถานะทางศาสนาของอิสลามถูกลดลงไป และด้วยผลลัพธ์เช่นนี้ ชาวมุสลิมจึงลุกขึ้นปฏิวัติ ชาวฮินดูก็เช่นกัน ต่างก็มีความไม่พอใจและต่อต้านอังกฤษผู้รุกราน แม้ว่าทั้งสองชุมชนได้ร่วมมือเหมือนๆ กันในหนึ่งทศวรรษแรกหรือหลังการกบฏของปี 1857 แต่อังกฤษก็ตั้งใจล้อมปราบเฉพาะชาวมุสลิม เมื่อพวกเขาเห็นว่าการปฏิวัติเป็นความพยายามที่จะปฏิสังขรณ์สถานะของที่ดินและคนชั้นสูงทางทหารของชาวมุสลิม ในการปฏิวัตินี้ชาวมุสลิมถูกสังหารอย่างไร้ความปรานี

ในแอลจีเรีย สถานะของชาวมุสลิมภายใต้ฝรั่งเศสก็มิได้ดีไปกว่าชาวมุสลิมในอินเดีย ชาวแอลจีเรียมุสลิมต้องฝืนอยู่ในประเทศของพวกเขา แต่การเมืองและโครงสร้างของกฎหมายยังคงรับใช้นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสและระบบการศึกษาที่มุ่งจะกดดันเอกลักษณ์อาหรับ-อิสลามของประชาชน

เมื่อแอลจีเรียเริ่มปฏิวัติ อำนาจของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ทำการตอบโต้อย่างรุนแรงต่อพลเรือนและในหลายกรณีการสังหารหมู่ชาวแอลจีเรียได้เกิดขึ้น ผู้พลีชีพที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพจำนวนหนึ่งล้านคนในแอลจีเรียนั้น มิอาจลืมได้

ทั้งๆ ที่อำนาจจักรวรรดินิยมได้ใช้กำลังที่โหดเหี้ยมเพื่อกวาดล้างฝ่ายที่คัดค้านการปกครองของพวกเขา กระนั้นพวกเขาก็อ้างว่ามุสลิมนั่นเองที่เป็นผู้ใช้กำลัง มันจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อชาวมุสลิมเองเป็นผู้ที่ได้รับความยากลำบากภายใต้การยึดครอง ชาวตะวันตกนั่นเองที่เลือกที่รักมักที่ชังและต่อต้านชาวมุสลิมแอฟริกันและชาวอินเดีย พวกเขาใช้วิธีการที่ทารุณ ในการเกณฑ์ทาสชาวแอฟริกันเพื่อมารับใช้ผลประโยชน์ของพวกเขา พวกเขากวาดล้างคนที่มิได้เป็นชาวคริสต์รุ่นแล้วรุ่นเล่า พวกเขาได้เปลี่ยนศาสนาของผู้คนโดยใช้กำลัง

จากผลดังกล่าวขบวนการชาตินิยมใดๆ หรือการชุมนุมต่อต้านจักรวรรดินิยมจะถูกอ้างว่ามาจากลัทธิรวมอิสลาม (Pan-Islam) ซึ่งถูกกล่าวถึงในฐานะความพยายามที่จะมีอำนาจเหนือกว่า ในสื่อที่ได้รับความนิยมทั้งในงานเขียนสาธารณะหรือแม้แต่หนังสือเกี่ยวกับเด็ก ทรรศนะนี้ได้แพร่ขยายออกไป นักวิชาการได้แนะนำให้มหาอำนาจใช้วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อเผชิญกับอิสลาม (Joseph Schacht and C.E. Bosworth, The legacy of Islam.p.53)

 

ตะวันตกพยายามจะลืมการกระทำที่ชั่วร้ายที่ได้กระทำขึ้นในโลกและการต่อต้านชาวมุสลิม แทนที่จะเผชิญหน้ากับการกระทำของพวกเขาเองในอดีต พวกเขากลับประณามชาวมุสลิมว่าเป็นผู้ก้าวร้าว

เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่ตะวันตกได้ทำให้ผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ลดจำนวนลงไป เข้าไปเอาทรัพย์สมบัติของชาติต่างๆ โดยใช้กำลังและใช้อำนาจทางทหารเพื่อที่จะผนวกดินแดน การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน

ความอคติในการต่อต้านชาวอาหรับโดยตะวันตกนั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับชาวอาหรับเอง เนื่องจากพวกเขาเป็นชาวมุสลิม การก่อตัวของคำประกาศบัลโฟร์ (Balfour Declarations) ในปี 1917 เป็นผลมาจากการที่คริสเตียนตะวันตกมีความเกลียดชังต่ออิสลาม ตำแหน่งของชาวยิวในสังคมตะวันตก การประหัตประหารพวกเขาและความรู้สึกผิดของตะวันตกที่ต้องรับผิดชอบ

ทั้งหมดนี้ได้สะท้อนออกมาในทัศนคติที่มีต่อชาวอาหรับ ผู้นิยมตะวันตก นักสังคมนิยมและผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตกทั้งหมดโดยทั่วไปจะไม่รวมชาวอาหรับเอาไว้ในความเห็นใจอย่างที่พวกเขาได้บันทึกถึงคนอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้เพื่อเอกราชของพวกเขาเอง (Peter Mansfield, The Arabs.)

เมื่อพูดถึงตะวันตก ตะวันตกมิเคยมีความจริงใจหรือเห็นใจประเทศอิสลามเลย การรณรงค์ต่อต้านอิสลามเป็นความพยายามอย่างตั้งใจ โดยผู้วางแผนของโลกเพื่อลดความศรัทธาที่เสนอตัวเองขึ้นมาในฐานะระบบความเชื่อที่เป็นทางเลือกต่อลัทธิอาณาจักรนิยมของตะวันตกท่ามกลางความหวาดหวั่นที่กำลังเติบโตขึ้นว่าอิสลามอาจกลายมาเป็นพลังของโลก

นักวิชาการจำนวนมากในตะวันตกได้แพร่ขยายความคิดที่ว่าอิสลามคุกคามต่อโลกาภิวัตน์ของตะวันตก

ความเป็นปีศาจของอิสลามกลายเป็นแกนสำคัญอย่างยิ่งของเรื่องในแวดวงปัญญาชน

ในปี 1984 Amos Perimutter ได้เตือนว่าสงครามทั่วไปของอิสลามที่ก่อขึ้นเพื่อต่อต้านตะวันตก คริสเตียนทุนนิยมสมัยใหม่ ลัทธิไซออนนิสต์และคอมมิวนิสต์จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน พวกเขา (ตะวันตก) ต้องต่อต้านลัทธิประชานิยมของชาวมุสลิมเป็นประการแรก มิใช่การต่อสู้ที่ยาวนานเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต (Ralph Braibanti, the Nature and Structure of the Islamic World, International Strategy and Policy Institute, Chicago, Illinois, 1995. p.12)

ในกรณีนี้ Perimutter ได้หลงลืมความเลวร้ายของอาณาจักรโซเวียตที่ต่อต้านผู้คนของตนเองเสียโดยสิ้นเชิง และเนื่องจากความอคติที่มีต่ออิสลาม เขาต้องการฟื้นฟูสงครามตะวันตกต่อต้านอิสลามให้เกิดขึ้น

Frumcis Fukuyama นักทฤษฎีทางการเมืองที่โลกรู้จักกันดีกล่าวถึงอิสลามดังนี้

เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าอิสลามประกอบด้วยระบบและอุดมการณ์ที่สอดคล้องกัน เช่นเดียวกับลัทธิเสรีนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ พร้อมกับประมวลกฎหมายว่าด้วยศีลธรรมและคำสอนทางการเมืองและความยุติธรรมทางสังคมของตัวเอง แรงดึงดูดใจของอิสลามนั้น มีศักยภาพที่เป็นสากล เข้าถึงชายและหญิง และมิใช่เฉพาะสมาชิกของชาติพันธุ์ใดโดยเฉพาะหรือกลุ่มเชื้อชาติใดเท่านั้น และความจริงแล้วอิสลามมีชัยชนะต่อประชาธิปไตยเสรีนิยมในหลายส่วนของโลกอิสลาม ก่อให้เกิดการคุกคามอย่างหนักต่อปฏิบัติการแบบเสรีนิยม

แม้แต่ในประเทศซึ่งมิได้รับอำนาจทางการเมืองโดยตรง การสิ้นสุดสงครามเย็นในยุโรปตามมาด้วยการท้าทายโดยทันที จากอิรักซึ่งแสดงให้เห็นว่าอิสลามเป็นตัวแปร

 

นับจากเหตุการณ์ 9/11 กันยายน โอกาสแห่งการเกลียดชังมุสลิมเพื่อโจมตีอิสลามมาถึง สุนทรพจน์ที่เกลียดชังอิสลามเพิ่มขึ้นโดยการประณามอิสลามว่าเป็นสิ่งคุกคาม นักอนุรักษนิยมอเมริกัน Paul Weyrich และ William Lind เขียนหนังสือเล่มใหม่ชื่อว่า ทำไมอิสลามจึงคุกคามต่อชาวอเมริกันและตะวันตก และเรียกร้องว่ามุสลิมควรจะออกไปจากสหรัฐเสีย

สาธุคุณ Franklin Graham บุตรชายของสาธุคุณ Billy Graham และนักการศาสนาคริสต์ผู้มีชื่อเสียงกล่าวถึงอิสลามว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เลวร้ายและชั่วช้าที่สุด

ถ้าหากว่าอิสลามเป็นอย่างที่พวกเขาอ้างจริงๆ แล้ว ทำไมมันจึงมีความดึงดูดใจจนกลายเป็นศาสนาที่เติบโตเร็วที่สุด อิสลามมีผู้นับถืออยู่ 1.3 พันล้าน และแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาส่วนใหญ่ เป็นเพราะอิสลามไม่มีเรื่องของชนชั้น อิสลามสอนถึงความเอื้อเฟื้อมากกว่าสังคมอื่นๆ และมีระบบสถาบันการกุศลที่มอบให้กับคนยากจน (Nicholas D.Kristof, Look Who”s prejudiced. The Herald Tribune. 10 July 2002. p.1)

อย่างไรก็ตาม ท่านสาธุคุณได้เมินเฉยที่จะรู้เรื่องทั้งหมดนี้ และถึงแม้ท่านจะรู้ การปล่อยพิษเพื่อต่อต้านอิสลามก็จะไม่ยุติลง

ตามความคิดของนักเขียนอย่าง Nicholas D.Kristof การประกาศอย่างง่ายๆ ว่าอิสลามปลูกฝังความรุนแรงนั้นมันจะไม่ช่วยให้เข้าใจอิสลามแต่อย่างใด และเท่ากับเป็นการนำลัทธิเหยียดหยามชนชาติและความกลัวหรือเกลียดชังมาใช้นั่นเอง (Nicholas D.Kristof, Look who”s prejudiced. p.1)