คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ล้วงลึกเรื่อง “กาม” และความรัก ในศาสนาพราหมณ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ตั้งแต่สมัยผมยังเด็กๆ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรากลัวเหลือเกินครับกับวันวาเลนไทน์ กลัวว่าเด็กๆ จะไปได้กันในวันนั้น และมักต้องหามาตรการป้องปรามต่างๆ

ซึ่งน่าสงสัยว่าทำไมจึงกลัววาเลนไทน์นัก เพราะที่จริงไม่ต้องเป็นวันวาเลนไทน์ วันไหนๆ คนจะได้กันก็คือได้กันอ่ะครับ ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า วันวาเลนไทน์คนจะได้กันเยอะกว่าวันอื่นๆ อย่างลอยกระทง ปีใหม่ สงกรานต์ ฯลฯ

ภายหลังมีความพยายามสู้กับวันวาเลนไทน์ที่ถูกมองว่าเป็นของแปลกปลอมจากฝรั่ง ด้วยการยกวันมาฆบูชาให้เป็น “วันแห่งความรักของชาวพุทธ” เนื่องจากมีช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

แต่กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยม และผู้คนก็ยังงงกันว่าทำไมวันมาฆบูชาจึงเป็นวันแห่งความรักของชาวพุทธไปได้

ผมไปนั่งไล่อ่านคำอธิบาย เช่น ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ก็ไม่ได้มีการอธิบายอะไรที่ชัดเจน นอกจากพยายามยกเหตุการณ์ “จาตุรงคสันนิบาต” ขึ้นมาเน้นว่าสำคัญ ธรรมนำมาสู่ความรักได้อะไรทำนองนี้

บางเพจก็บอกในทำนองว่า คล้ายการชุมนุมครั้งนั้นพระภิกษุมากันด้วยความรู้สึกกตัญญูต่อพุทธองค์อะไรทำนองนี้ จึงควรนับว่าเป็นความรักได้ (กระมัง) หรือบ้างก็ว่า เพราะพระธรรมคำสอนทำให้สังคมสงบสุขอยู่กันด้วยความรักได้ (ไม่กว้างไปหรือ)

 

ที่จริงพุทธศาสนาในบ้านเราไม่ค่อยสนใจจะตีความความรักหรือคำสอนให้สามารถเข้าใจด้วยทัศนะและภาษาสมัยใหม่ อาจเพราะมีทัศนคติในแง่ลบกับความรักมาแต่เดิม “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” แล้วมักโยนไปยัง “เมตตา” ว่าเป็นความรักระดับสูงกว่าที่ควรเข้าให้ถึง โดยไม่ตีความเมตตาอย่างลุ่มลึกพอให้สัมพันธ์กับ “ความรัก” ธรรมดาๆ หรือความรักโลกย์ๆ ได้

พอทัศนะเรื่องความรักไม่ค่อยดี คำอย่าง “กาม” ซึ่งมีความหมายกว้างๆ ทั้งรักๆ ใคร่ๆ จึงเป็นคำที่น่ารังเกียจไปด้วย

ศาสนาพราหมณ์ในปัจจุบันนี้ก็มองกามในแง่ไม่ดีเท่าไหร่ครับ ด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนานั่นแล ถึงกับมีคำสอนคล้ายปฏิจจสมุปบาทของพุทธในฝ่ายฮินดูว่า “อวิทยา – กาม – กรรม”

อธิบายว่า อวิทยา (บาลีว่า อวิชชา) หมายถึงการไม่รู้สิ่งต่างๆ ตามจริง ย่อมนำไปสู่ความความปรารถนา (กาม) และก่อให้เกิดการกระทำดีชั่ว (กรรม) ซึ่งนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิด (สังสาร)

แต่ศาสนาฮินดูยุคก่อนจะพัฒนาแนวคิดเรื่องสละโลก คิดเรื่อง “กาม” อีกแบบเลยนะครับ คือมองว่า “กาม” เป็นถึงหนึ่งใน “เป้าหมายของชีวิต” นั่นเทียว

ที่เรียกว่า “ปุรุษารถ” สี่ประการ

 

เป้าหมายของชีวิตฮินดูหรือพราหมณ์ คือ “อรรถ” ได้แก่ สินทรัพย์ทางรูปธรรม (เงินทอง บ้าน รถ ฯลฯ) และนามธรรม (มิตรภาพ ความรู้), “กาม” แปลว่าความปรารถนา (ซึ่งใช้ในความหมายกว้างๆ เช่น ความรัก ความใคร่ด้วยก็ได้) และหมายถึงความสุขทางประสาทสัมผัสทุกมิติผัสสะและเพศรส, “ธรรม” หน้าที่ทางศาสนาหรือศีลธรรม และ “โมกษะ” หรือความหลุดพ้น

นักวิชาการอินเดียว่า แต่เดิมในยุคพระเวทยังไม่มีโมกษะเป็นเป้าหมายชีวิต คือมีความสุขทางโลก ทำบุญกุศล แล้วตายไปอยู่ในโลกบรรพบุรุษ (ปิตฤโลก) แล้วกลับมาเกิดอีก ครั้นพุทธศาสนาและไชนะรุ่งเรือง พราหมณ์ก็รับเอาแนวคิดสาย “สมณะ” (สันสกฤตว่า ศรามณะ) เข้ามา โมกษะจึงกลายเป็นเป้าหมายสุดท้ายของทุกชีวิตที่สำคัญที่สุดไป

จากแง่นี้ กาม นั้นจึงสำคัญมาก เป็นเป้าหมายแห่งชีวิตคฤหัสถ์ ดังนั้น ทุกคน “ต้อง” ถือว่ามันเป็นเป้าหมายอันควรแสวงหา ไม่ควรหลีกเลี่ยงบ่ายเบี่ยง เพราะกามนำมาซึ่งความสุขในสามัญสัตว์ เป็นสิ่งพึงมีพึงได้

ทัศนะแบบฮินดูโบราณ คล้ายๆ จะยืนยันว่า “ความสุขทางโลกก็ต้องบริบูรณ์ ความสุขทางธรรมก็ต้องไปให้ถึง” จึงจะเป็นชีวิตที่มีความหมาย

ครูผมคือท่านอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เจอพระภิกษุชรารูปหนึ่งที่บวชตั้งแต่ยังเด็ก แล้วปรารภกับอาจารย์ว่า ความสุขทางโลกก็มิเคยเสพเสวย ความสุขทางโลกุตรธรรมก็ไปไม่ถึงแม้ในวัยใกล้ฝั่งแล้ว อาจารย์ผมถึงกับร้องไห้

 

สําหรับแนวคิดแบบอินเดีย นี่คือชีวิตที่น่าเศร้าที่สุด อย่างน้อยก็ควรได้สักอย่าง แต่ชีวิตจะบริบูรณ์เมื่อได้ทั้งสองอย่าง

พิธีแต่งงานแบบแขก เขาถึงให้เจ้าบ่าว (และเทพบุรุษ) เป็นสัญลักษณ์ของความสุขทางธรรม และให้เจ้าสาว (และเทวี) เป็นความสุขทางโลก การแต่งงานคือการประสานกันทั้งความสุขทางธรรมและโลกนั่นเอง

พราหมณ์ถึงกับมีคัมภีร์ “กามสูตร” ในฐานะคู่มือเพื่อที่จะสามารถมีกามอันเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ในชีวิตคู่ได้ กามสูตรจึงไม่ใช่คู่มือมีเซ็กซ์ แต่ถูกจัดอยู่ในฐานะ “คัมภีร์ทางศาสนา”

ในเทวาลัยสุริยเทพแห่งขชุรโห ฝรั่งและนักท่องเที่ยวมักจะตื่นตาตื่นใจกับภาพสลัก “กามสูตร” ในลีลาอันวิจิตรพิสดารเปิดเผย แต่ที่จริงแล้ว ภายใต้ความวิจิตรพิสดารนั้นมีแนวคิดอันลึกซึ้งอยู่

ภาพสลักกามสูตรนั้น อยู่รวมกับภาพอื่นบนองค์ “เทวาลัย” ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นๆ ตามแนวคิด “ปุรุษารถสี่” อันเป็นเป้าหมายของชีวิต โดยมี “โมกษะ” เป็นชั้นยอดสุด

หากคิดแบบศาสนาปัจจุบันที่มองเรื่องเพศเป็นเรื่องพึงหลีกเลี่ยง ก็น่าฉงนสงสัยว่า รูปโลกย์ๆ ชนิดร่วมเพศกันอย่างโจ่งแจ้ง ไปอยู่บนเทวาลัยอันสูงส่งด้วยเหตุใด

แต่เพราะไปอยู่บนเทวาลัยนั่นเอง จึงเป็นการยืนยันว่า ในทัศนคติของพราหมณ์แต่เดิม เรื่องเพศหรือกามเป็นสิ่งสูงส่ง เป็นสิ่งอันควรประดับเทวาลัยซึ่งเป็นทิพยวิมานของพระเจ้า มิใช่สิ่งอันน่ารังเกียจแต่อย่างใด

 

สังเกตนะครับว่า เทวรูปรุ่นเก่าของแขกนั้น ล้วนแต่ปกปิดร่างกายแต่น้อย พระแม่เจ้าล้วนมีถันอวบอัดเปลือยเปล่า เอวคอดและสะโพกใหญ่กว้าง ผิดกับปัจจุบันที่มักเกณฑ์ให้เทพนุ่งผ้ามิดชิด ห่มสาหรีสวมเครื่องประดับพราวไปหมด ตามศีลธรรมแบบและแนวคิดแบบมุสลิมและวิกตอเรียที่ฮินดูรับเอาไปภายหลัง

แต่ความสวยงามเย้ายวนของเทวรูปโดยเฉพาะพระเทวีนี้ก็มีนัยเชิงปรัชญา คือเพราะกามปรากฏในความงามของเทพ จักรวาลและโลกนี้จึงบังเกิดจากความปรารถนาหรือกามะนี่เอง บางครั้งพระเจ้าผู้ชายจึงมีพระนามว่า กาเมศวร และพระเทวีจึงมีนาม กามี

ยิ่งไปกว่านั้น พราหมณ์ เนรมิต “กาม” อันเป็นภาวะนามธรรม ไปสู่รูป “กามเทพ” คือยกย่องให้เป็นเทพหนุ่มน้อย มีคันศรอ้อย (รักนั้นรสหวาน) มีปุษปศร คือธนูดอกไม้นานา มีนกแก้วซึ่งเป็นเพื่อนรักของหญิงสาว (สมัยนี้คงเป็นแมว) เป็นพาหนะ มีชายาชื่อรตี (ความลุ่มหลง) มีเพื่อนคือเทพวสันต์ (ฤดูใบไม้ผลิ)

ต่อมาเธอถูกพระศิวะเผาไหม้ เธอจึงชื่อว่า “อนังคะ” เขียนอย่างไทยว่า อนงค์ แปลว่า ไม่มีองค์หรือไม่มีตัว เป็นอุปมาว่า ความรักนั้นไม่มีตัวตน มาถึงเราตอนไหนก็ไม่ทราบ รู้ตัวอีกทีก็โดนปุษปศรปักอกเสียแล้ว

รู้ตัวอีกที นี่ผมแต่งงานมาปีนึงแล้ว (ฮา)