ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “วาเลนไทน์”ที่ไม่ได้โรแมนติก ความรักเริ่มจาก #ความนก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็น วันวาเลนไทน์ เพราะคริสต์ชนถือเป็นวันของนักบุญที่ชื่อ วาเลนไทน์ (Valentine) หรือที่เรียกตามอย่างเก่าในภาษาละตินว่า วาเลนตินุส (Valentinus)

แต่นักบุญท่านนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ “ความรัก” ระหว่างหนุ่มสาว อย่างที่คนในยุคหลังมโนไปเองกันเลยสักนิด

นักบุญวาเลนไทน์ มาจากเมืองแตร์นี (Terni) ที่วางตัวอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลีปัจจุบัน

ซ้ำท่านยังมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 2-3 ตรงกับยุคที่จักรวรรดิโรมกำลังเรืองอำนาจพอดิบพอดีเลยอีกด้วย

เรียกได้ว่าท่านเป็นพลเมืองโรมันเต็มขั้นเลยนั่นเอง

แต่จริตท่านกลับดูจะไม่ค่อยต้องตรงความเป็นพลเมืองแห่งโรมในยุคนั้นสักเท่าไหร่นัก เพราะท่านเลือกที่จะนับถือพระคริสต์ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับโรมในช่วงสมัยที่ท่านดำรงชีพอยู่

ตำนานทอง (Legenda Aurea)

วีรกรรมของนักบุญท่านมีหลักฐานอยู่ในเอกสารโบราณหลายฉบับตั้งแต่ช่วงหลัง ค.ศ.400 เป็นต้นมา

ที่สำคัญคือหนังสือชื่อ ตำนานทอง (Legenda Aurea) ของ จาโคบุส เดอ วอราจิเน (Jacobus de Voragine) ที่เขียนขึ้นช่วงปลายยุคกลางของยุโรป เมื่อราว ค.ศ.1260 หนึ่งสหัสวรรษหลังช่วงชีวิตของนักบุญวาเลนไทน์เลยทีเดียว

เรื่องของนักบุญท่านที่ตำนานทองระบุเอาไว้ ก็ไม่ต่างไปจากข้อมูลในเอกสารที่มีมาก่อนหน้านั้น ซึ่งมักจะอ้างไว้ในทำนองเดียวกันว่า นอกจากที่นักบุญวาเลนไทน์จะมุ่งมั่นเผยแพร่คำสอนในคริสต์ศาสนาแล้ว ท่านยังชอบช่วยเหลือชาวคริสเตียนทั้งหลาย

แน่นอนว่าการกระทำของท่านทำให้รัฐแห่งโรม รู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคง

แต่รัฐโรมในสมัยนั้นมีอำนาจเต็มยิ่งกว่า คสช. อีกนะครับ นักบุญท่านเลยไม่ใช่เพียงแค่ถูกเรียกไปปรับความเข้าใจ

แต่ถูกจับขังลืมอยู่ในคุกไปหนึ่งปีเลยทีเดียว

 

และในระหว่างช่วงหนึ่งปีที่ทนทุกข์อยู่นั่นเอง นักบุญท่านได้กระทำปาฏิหาริย์ด้วยการรักษาลูกสาวผู้คุมนักโทษคนหนึ่งให้หายหนวกบอด

แน่นอนว่าเรื่องราวปานเทพนิยายอย่างนี้ย่อมเป็นที่เลื่องลือไปทั่วกรุงโรมในยุคนั้น ที่สุดแล้วความจึงเข้าไปถึงพระกรรณของพระจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 (Claudius II) ซึ่งก็เป็นผู้สั่งจับนักบุญท่านเข้าซังเตเองนั่นแหละ

องค์จักรพรรดิจึงทรงเกลี้ยกล่อมให้นักบุญท่านหันกลับมานับถือเทพเจ้าของพวกโรม

แต่นักบุญท่านไม่เอาด้วยยังไม่พอ ซ้ำยังไปพยายามเผยแพร่คำสอนของพระคริสต์ให้กับพระจักรพรรดิเสียอีก

สุดท้ายตำนานทองจึงระบุไว้ว่า เมื่อเรือน ค.ศ.280 นักบุญท่านต้องรับโทษประหารชีวิตไปตามระเบียบ (แต่อันที่จริงแล้วพระจักรพรรดิองค์นี้สิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ.270)

คงไม่ต้องขยายความซ้ำนะครับว่า เรื่องของนักบุญท่านที่เล่าต่อกันมาในช่วงแรก รวมถึงที่บันทึกไว้ในหนังสือตำนานทองฉบับที่ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรความรักแบบหนุ่มสาวเลยสักนิด

เอกสารฉบับอื่นๆ ที่มีมาตั้งแต่ช่วงหลัง ค.ศ.400 ก็เช่นกัน ผิดกันก็แต่เอกสารต่างๆ ก่อนหน้าตำนานทองไม่มีระบุเลยว่า นักบุญวาเลนไทน์เกี่ยวข้องกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์?

อันที่จริงแล้ว เรื่องราวที่อ้างอยู่ในตำนานทองเองก็น่าสงสัยอยู่ไม่น้อยเลย เพราะในรายชื่อมรณะสักขีของโรมัน (List of Roman Martyrs, martyr หรือที่มีศัพท์แปลเป็นไทยยากๆ ว่า “มรณะสักขี” หมายถึงผู้ที่พลีชีพเพื่อศรัทธาในพระคริสต์ศาสนา) ฉบับเก่าที่สุด ซึ่งรวบรวมขึ้นเมื่อ ค.ศ.354 ไม่ถึง 100 ปี หลังการสิ้นชีวิตของนักบุญวาเลนไทน์ตามที่อ้างไว้ในตำนานทอง กลับไม่มีวี่แววของนักบุญท่านอยู่ในรายชื่อฉบับนี้เลยสักนิด?

(และอันที่จริงแล้ว เอกสารบางชิ้นก็ระบุเอาไว้ว่านักบุญท่านนี้มีชีวิตอยู่ในสมัยของพระจักรพรรดิออเรเลียน และเสียสละชีวิตเมื่อปี ค.ศ.197 อีกต่างหาก)

งานฉลองนักบุญวาเลนไทน์เพิ่งเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.496 ในสมัยของพระสันตะปาปาเจลาซีอุสที่ 1 (Gelasius I) เท่านั้นเอง แถมโป๊ปองค์นี้ยังกล่าวถึงนักบุญท่านไว้อย่างเฉยชาว่า

“whose names are justly reverenced among men, but whose acts are known only to God.”

แปลเป็นไทยง่ายๆ ได้ใจความว่า โป๊ปท่านก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนักบุญท่านนี้หรอก จึงได้โยนเรื่องให้ไปเป็นภาระของพระผู้เป็นเจ้า ใครอยากรู้อะไรก็ไปสอบถามเอาจากพระเจ้าบนแผ่นดินของพระองค์นั้นเอาเองเถิด

โป๊ปเจลาซีอุสที่ 1

ที่น่าสนใจก็คือเรือน ค.ศ.496 ปีเดียวกับที่มีการจัดงานฉลองนักบุญวาเลนไทน์เป็นครั้งแรก ปีเดียวกับโป๊ปเจลาซีอุสที่ 1 องค์นี้นี่แหละสิ้นพระชนม์ลง ยังเป็นปีเดียวกับที่นักบุญวาเลนไทน์อีกท่านหนึ่ง คือนักบุญวาเลนไทน์ แห่งโรม (Valentinus of Rome) เสียสละตนเป็นมรณะสักขี

ซ้ำยังเสียสละตนเป็นมรณะสักขีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พอดิบพอดีอีกด้วย

อันที่จริงแล้ว ตำนานเกี่ยวกับนักบุญที่ชื่อ วาเลนไทน์ ซึ่งได้เสียสละตนเป็นมรณะสักขีในช่วงยุคต้นๆ ของคริสตกาลมีอยู่หลายท่าน จนออกจะเป็นชื่อโหลๆ และไม่แน่ใจได้นักว่าเป็นเพียงแค่นิทานหรือไม่?

แต่ตำนานของนักบุญวาเลนไทน์ที่เกี่ยวข้องกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มีแค่ที่มาจากแตร์นี และที่มาจากโรม สองท่านนี้เท่านั้น

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า จะเกิดการสับสนระหว่างนักบุญสองท่านหรือเปล่า?

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่การที่เนื้อหาในตำนานทองกล่าวถึง วันสำคัญของนักบุญท่านต่างๆ ในคริสต์ศาสนาตลอดทั้งรอบปี ทั้งยังเป็นที่นิยมชมชื่นจากผู้คนในสมัยนั้นจนหนังสือเล่มนี้ถูกอ้างอิงถึงเป็นอย่างมาก จะทำให้ชาวคริสต์ในยุคหลังตำนานทองจะถือว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันของนักบุญวาเลนไทน์ แห่งแตร์นี ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลย

ภาพวาดของ “เจฟฟรี่ย์ ชาวเซอร์” กวีเอกผู้ทำให้วาเลนไทน์เป็นวันของความรัก

ดูเหมือนว่าเรื่องโรแมนติกของวันวาเลนไทน์จะเกิดขึ้นในยุคหลังจากตำนานทองไม่นานเท่าไหร่นัก

กวีเอกของอิงลิชชนในยุคกลาง ที่ใครต่อใครพากันยกตำแหน่ง “บิดาแห่งวรรณกรรมภาษาอังกฤษ” ให้อย่าง เจฟฟรี่ย์ ชาวเซอร์ (Goeffrey Chaucer, ค.ศ.1343-1400) คือบุคคลที่ถูกผู้ค้นคว้าเรื่องราวโรแมนติกเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์ แทบจะทุกท่าน ยัดเยียดสถานะ “ผู้ต้องหา” ในคดีนี้เอาไว้

บทกวีชื่อ รัฐสภาของฝูงชน (Parliament of Foules) ที่แต่งขึ้นเมื่อราว ค.ศ.1382 ของชาวเซอร์มีอยู่ท่อนหนึ่งที่ระบุว่า

“For this was on Saint Valentine’s day, when every bird cometh there to choose his mate.”

สรุปเป็นไทยง่ายๆ ได้ว่า ในวาเลนไทน์พวกนกทุกตัวจะมาที่นี่ เพื่อเลือกคู่ครองของมัน

แปลกดีนะครับเรื่องโรแมนติกของวันวาเลนไทน์เริ่มขึ้นจากนก แต่ในขณะเดียวกันก็กลับไม่แปลกอะไรเลยที่กวีบทนี้ของชาวเซอร์จะถูกเรียกในอีกหลายๆ ชื่อ และชื่อหนึ่งในนั้นก็คือ Parliament of Bird

ช่วงต้นกลางเดือนกุมภาพันธ์ บนเกาะอังกฤษไม่ใช่ฤดูที่นกจะจับคู่กัน บางท่านจึงเชื่อว่า ชาวเซอร์ใช้นกเป็นสัญลักษณ์เพื่อที่จะยอพระเกียรติกษัตริย์ริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ เนื่องในงานหมั้นหมายระหว่างพระองค์กับพระนางแอนน์ แห่งโบฮีเมีย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1381

และคำว่า “วาเลนไทน์” ในกวีบทนี้ จึงน่าจะหมายถึง นักบุญวาเลนไทน์ แห่งเจนัว ผู้สิ้นชีวิตไปเมื่อ ค.ศ.304 ซึ่งวันฉลองนักบุญท่านนี้ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปีมากกว่า

 

อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่า วาเลนไทน์ เป็นชื่อนักบุญที่ค่อนข้างโหล และพบมากในระยะเริ่มแรกของคริสตกาล วันฉลองก็ต่างกันไปตามแต่ละท่าน น่าเชื่อว่าตำนานและวันฉลองของนักบุญชื่อเดียวกันนี้จะถูกใช้สลับกันไปมากันมาอย่างเนิ่นนานทีเดียว

หลังจากบทกวีว่าด้วยการจับคู่ของนก ของชาวเซอร์ คำว่า “วาเลนไทน์” ก็ดูจะเป็นเรื่องโรแมนติกขึ้นมากทีเดียว หลายครั้งที่บทกวีของพวกฝรั่งใช้คำคำนี้สื่อความไปถึงความรัก และการครองคู่

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรอีกเช่นกันที่ เรื่องราวของเซนต์วาเลนไทน์ในยุคต่อมาจะถูกเสริมแต่งให้เกี่ยวกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ด้วย

 

พงศาวดารนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Chronicle) ที่เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1493 อ้างว่า จักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 ได้ดำเนินการจับกุมชาวคริสเตียนที่แต่งงานกัน

นักบุญวาเลนไทน์ท่านจึงต้องออกโรงมาโน้มน้าวจิตใจของพระจักรพรรดิให้เลิกทำบาปเช่นนี้ต่อชาวคริสเตียน

ผลคือเมื่อปี ค.ศ.270 (บางสำนวนว่าปี ค.ศ.269 บ้างก็ว่า ค.ศ.273) นักบุญท่านก็ถูกประหารชีวิตโดยใช้ไม้กระบองและก้อนหินทุบตีจนสิ้นลมหายใจไปในที่สุด

การที่พงศาวดารจากนูเรมเบิร์ก ซึ่งก็คือเมืองเนิร์นแบร์ก ในประเทศเยอรมนีปัจจุบันนี้เอง เดินเรื่องของนักบุญท่านไว้ในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่ 2 แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลในตำนานทองอย่างชัดเจน ผิดก็แต่ปีที่นักบุญท่านเสียชีวิตที่ถูกปรับให้ใกล้เคียงกับปีในรัชสมัยขององค์พระจักรพรรดิยิ่งขึ้น และเรื่องราวที่เกี่ยวพันถึงความโรแมนติกของคู่ครองชาวคริสเตียนที่ถูกโทษทัณฑ์จากยุคสมัย

ดูเหมือนว่า หลังจากยุคของพงศาวดารนูเรมเบิร์กชาวคริสต์ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจอีกต่อไปที่จะให้ วันวาเลนไทน์เป็นวันของความรัก ดังนั้น จึงเริ่มมีประเพณีประดิษฐ์ใหม่เกี่ยวกับวันนี้อีกมาก การมอบการ์ด มอบดอกกุหลาบให้คนรัก และอีกสารพันประเพณีเป็นเรื่องประดิษฐ์ใหม่ โดยที่จริงๆ แล้ว นักบุญวาเลนไทน์ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลยแม้แต่น้อย

#ความรักก็เช่นกัน