อัญเจียแขฺมร์ : ซอม ทารอต-โลกใหม่ในมือเนียง

หลายปีก่อนตอนที่ ซอม ทารอต บอกกับพ่อแม่ว่า เธออยากจะไปฝึกกบัจคุนกับบรมครูโลก ซาน กิมเซ็ง นั้น พ่อทารอตและทุกคนในครอบครัวต่างคัดค้าน

แต่ ซอม ทารอต เดินหน้า ในสมัยนั้นการฝึกกบัจคุน-ศิลปะป้องกันตัวเขมรโบราณ ยังไม่เป็นที่รู้จัก และยังไม่ได้รับการโปรโมตให้เป็นกีฬาประจำชาติ ในชื่อ “บกกะตอร์” (ออกเสียง “ล-บกกะเตา”) เช่นในปัจจุบัน

ซอม ทารอต ฝันอยากจะเป็นนักวรยุทธ์ ที่เยี่ยมยุทธ์ไปด้วยฝีมือการต่อสู้แบบที่เธอเคยเห็นมันในภาพยนตร์

ซอม ทารอต คิดว่า “มันคงจะเท่เอามากๆ” เวลาที่เธอออกท่วงท่ากบัจคุนในแบบต่างๆ ซึ่งมีเป็นนับพันนับหมื่นท่วงท่า

แต่ขณะที่มีอายุตอนนี้ เธอสะสมฝีมือ ท่ากบัจที่ลำดับขั้นกลางคือประมาณ 400 ท่ากบัจ

ซึ่งตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ซอม ทารอต ได้ออกโชว์ตัวในนามตัวแทนของประเทศ และเป็นศิษย์สตรีเอกที่สร้างชื่อเสียงให้ ครูซาน กิมเซ็ง อย่างเป็นลำดับ เริ่มจากการลงสนามในประเทศและภูมิภาค ที่เธอพาทีมบกกะตอร์ออกไปไล่ลารางวัล

สำหรับสายบกกะตอร์แล้ว ซอม ทารอต เป็นดาวเด่นในฐานะผู้หญิงคนแรกๆ ของวงการ นำมาซึ่งชื่อเสียง รายได้ งานโชว์ตัวรายการโทรทัศน์

และตัวแสดงสมทบในภาพยนตร์เกี่ยวกับเขมรแดงของ แองเจลีน่า โจลี

Khmer Loy

แต่ชีวิตบกกะตอร์เมื่อเริ่มแรก ก็ไม่ได้สวยงามและฉายโชนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของ “กบน้อย” ฉายาของทารอตมาจากสมัยเด็กที่เธอออกตระเวนจับกบมาทำอาหารเพื่อยังชีพ

ด้วยเหตุนี้ ซอม ทารอต จึงต้องวนเวียนหารายได้อื่นๆ มายังชีพตนเองและครอบครัว

และนั่นคือที่มาของการเดินหน้าสู่วงการนักมวย-Kickboxing เริ่มต้นในปี พ.ศ.2556 ตอนที่ชื่อ ซอม ทารอต เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการมวยไทย/คุนแขฺมร์-ธุรกิจกีฬาที่เฟื่องฟูมากในวงการโทรทัศน์

ซอม ทารอต เป็นนักมวย (สมัครเล่น) กึ่งอาชีพที่ถนัดขวา มีจุดเด่นที่ลูกถีบแบบบกกะตอร์ คือถีบยาว ถีบสูง ถีบหนัก และสามารถส่งลูกถีบเข้าทำคู่ต่อสู้อย่างถูกจังหวะ ซึ่งก็เป็นจุดอ่อนของคนที่ฝึกมาทางบกกะตอร์ ที่มักรอให้คู่ต่อสู้เข้าชาร์ตก่อนจะต่อยหมัด กว่าจะยอมปะทะคู่ต่อสู้

ซอม ทารอต จึงเป็นนักมวยที่ไม่เด่นด้านการชกเมื่อเทียบกับนักมวยหญิงคนอื่นๆ แม้ว่าบางนัดเธอจะมีข้อได้เปรียบจากรูปร่างที่สูงกว่ามวยหญิงเขมร ซึ่งไม่มีการเทียบรุ่นก่อนขึ้นชกเหมือนมวยสากลทั่วไป

นอกจากนี้ ด้วยช่วงขาแข็งแรง ซอม ทารอต จึงมักต่อยมวยไทยแบบเตะตัดขาตัดกำลังคู่ต่อสู้ ซึ่งบางทีดูๆ ไปก็ไม่ต่างจากมวยวัดเหมือนกัน

แต่จุดด้อยเหล่านี้ ก็อาจเป็นจุดเด่นของ ซอม ทารอต ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกมวยคุนแขฺมร์ มาโดยตรง แบบนักมวยหญิงเขมรคนอื่นๆ ซึ่งมักถูกจับมาฝึกอย่างหนักจากค่ายมวยเขมร ที่มักใช้มาตรฐานแบบการฝึกนักมวยชาย

ซึ่งในที่สุด เมื่อทนไม่ไหว นักมวยหญิงเหล่านี้จึงจำใจละทิ้งสังเวียนไปก่อนเวลาอันควร

แต่ ซอม ทารอต กลับสามารถยืนหยัดบนผืนผ้าใบอย่างสบายๆ และมีอายุในวงการยาวนานอย่างน่าสนใจกว่านักมวยคุนแขฺมร์หญิงรุ่นเดียวกัน อาจจะมาจากที่เธอมีเทรนเนอร์เป็นต่างชาติ

และความพิเศษดังกล่าวนี้ อาจมีส่วนช่วยให้เธอได้รับการยอมรับ ตั้งแต่การเลือกชกบนสังเวียนแต่ละนัด และค่าเหนื่อยแต่ละนัดที่เหมาะสม

อีกทั้งชื่อเสียงจากบกกะตอร์ที่ทำให้ ซอม ทารอต โดดเด่นในวงการหมัดมวยจากในศาสตร์ ที่มีส่วนผสมผสานกันระหว่างกบัจคุนแขฺมร์กับศิลปะป้องกันตัว

แม้ว่าการออกหมัดอาจจะไม่เด่น แต่ท่ากบัจไหว้ครูและความมั่นใจในบุคลิก ล้วนแต่มีผลบนสังเวียนในแต่ละโชว์

และนั่นก็พอที่จะทำให้ทุกสปอตไลต์ส่องจับมาที่เธอ

มากกว่านักมวยคู่อื่นๆ ทุกครั้ง ยามขึ้นชก

ภาพจาก MMA Underground

ซอม ทารอต จึงต่างจากนักกีฬามวยหญิงเขมรคนอื่นตรงที่มักมีรอยยิ้มน้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนออกหมัด หรือสัประยุทธ์คะเนียไปเรื่อยๆ

และบางครั้งที่รู้ว่าทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำ เธอก็เหวี่ยงคู่ชกลงไปกองซะก่อน ซึ่งกรรมการก็เห็น แต่ไม่ตักเตือนหรือเคร่งครัดกติกา

จุดเด่นอีกอย่าง คือพอหมดยกเสียงระฆังเข้ามุมให้น้ำ แต่ในมุมของนักมวยทารอต ที่ข่มฝ่ายตรงข้าม คือมีโค้ชฝรั่งคอยสอนเทคนิคข้างเวที ซึ่งถ้าฟังดีๆ ก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากไกด์วิธี “เตะตัดขาคู่ต่อสู้ไปเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ซอม ทารอต เริ่มต่อยมวยคุนแขฺมร์ โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ.2556-2558 นั้น เธอมีส่วนสร้างสีสันวงการมวยเขมรในสังเวียนต่างๆ ทั้งพนมเปญ-เกาะเพชร-และเกาะกง แหล่งกาสิโนที่นักท่องเที่ยวชอบไปผ่อนคลายด้วยการดูมวย และกลุ่มแฟนๆ บกกะตอร์ที่ชื่นชอบผลงาน ซอม ทารอต

ดังนั้น ในบางสังเวียนเมื่อต้องประกบกับคู่ชกที่แข็งแกร่งและชกได้จะแจ้งกว่า แต่กรรมการก็ยังให้ ซอม ทารอต ชนะคะแนนเสียงั้น

ขณะที่มวยหญิงเขมรคนอื่นซึ่งเผชิญกับการต่อสู้บนสังเวียนอย่างหนักหน่วง เพื่อบ่มเพาะชื่อเสียง แลกกับเกียรติยศที่แลกมาด้วยความยากลำบาก

แต่ ซอม ทารอต กลับสามารถอาศัยสังเวียนผ้าใบไต่ไปสู่เวทีอื่นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งตามมา โดยเฉพาะการได้รับเชิญไปต่อยโชว์ต่างประเทศที่ผู้คนคลั่งไคล้ “บกกะตอร์” พอๆ กับ Kickboxing

และแม้ว่า ซอม ทารอต จะไม่เคยผ่านการคัดตัวมวยสากาล เพื่อไปแข่งในแมตช์สำคัญเช่นซีเกมส์เหมือนมวยหญิงเขมรคนอื่นๆ แต่เธอก็สามารถติดทีมชาติในรอบปีที่ผ่านมา

เพราะทันทีที่รัฐบาลกัมพูชาประกาศรับรอง (ละ)บกกะตอร์เป็นกีฬาประจำชาติเท่านั้น

พลันชื่อ ซอม ทารอต ก็ติดโผเป็นนักกีฬาหญิงทีมชาติอย่างไร้คู่แข่ง

แต่สังเวียนนักสู้ยังไม่สิ้นสุดสำหรับ ซอม ทารอต เมื่อเธอต้องการจะ “ไปต่อ” โดยเฉพาะเวทีทรงกลมเหล็ก 8 เหลี่ยมที่ท้าทายด้วยเงินรางวัลและชื่อเสียงอย่าง MMA-One แชมเปี้ยนซิป ที่รุกคืบเข้าไปในวงการหมัดมวยกัมพูชาและผสมการต่อสู้ระหว่างมวยไทยกับมวยปล้ำ

2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยวิธีการโปรโมต เงินทุนและรางวัล การแข่ง-MMA มีส่วนทำให้วงการนักกีฬาหญิงเขมรเปลี่ยนโฉมหน้า มีนักมวยแขมร์หลายคนที่หันไปแข่ง MMA แทน คุนแขฺมร์/มวยไทยที่พวกเธอคุ้นเคย

และ ซอม ทารอต ก็เป็น 1 ในนั้น เธอได้รับการทาบทามให้ไปแข่ง MMA-แชมเปี้ยนวัน

นัยว่าเพื่อการพิสูจน์ว่า เธอสมกับฉายาราชินีแห่งบกกะตอร์ของประเทศ และอีกด้านหนึ่ง ก็เพื่อเกิดสีสันวงการนักสู้

ก็ทำไมเล่า? ในเมื่อเธอเคยผ่านการฝึกศิลปะป้องกันตัวแบบบกกะตอร์ และยังฝึกกบัจคุนแขฺมร์อีกด้วย

ไม่น่าเชื่อว่า ซอม ทารอต จะสนุกกับการต่อสู้ที่ดิบเถื่อนแบบ MMA-One แต่เมื่อมีโอกาส ซอม ทารอต ก็ฉวยไว้ ซึ่งไม่เลวร้าย เมื่อเธอทำผลงาน MMA ไว้ที่ ชนะ 2 แพ้ 2 โดยเวทีที่เธอชนะนั้นเป็น One FC20 และ MMA Khmer ซึ่งเป็นระดับท้องถิ่น

แต่ในระดับสากลของ One-แชมเปี้ยนชิปนั้น ซอม ทารอต ต้องพบกับคู่ต่อสู้จากต่างแดน

ซึ่งนัดแรกปลายปี 2557 นั้น ซอม ทารอต พ่ายแพ้แบบหมดรูปในยกสองที่เธอถูกฟาด-ตบ ฟาด-ตบบนกกหูอย่างหนักหน่วงจนเสียขวัญ

ซอม ทารอต คล้ายจะเข็ดขยาด เธอห่างหายจากเวทีมวยกรง 8 เหลี่ยมไปร่วมปี แต่ก็กลับมาอีกครั้ง ในแมตช์เดอะวันแชมเปี้ยนชิปที่กรุงพนมเปญ ซึ่งคราวนี้เธอถูกจับคู่กับนักกีฬา MMA ดาวรุ่งของอินเดีย

ซอม ทารอต แพ้อีกรอบ แต่คราวนี้ เธออึดนานถึงยก 3 ไม่มีโอกาสแม้แต่จะใช้ท่อนขาคู่ที่เคยพิชิตคู่ต่อสู้ร่วมชาติอย่าง วี สรัยชัย และ เมียะ วันดี อย่างที่เคยทำสำเร็จ

และหากว่าเธอคิดจะไล่ล่าแชมป์บนเวทีนี้อีกต่อไป ซอม ทารอต จะค้องฝึกวิธีเปลี่ยนจิตวิญญาณ จากนักสู้มาเป็นมือสังหาร จึงจะประสบความสำเร็จ

เมื่อพิศมองรูปลักษณ์ใบหน้าของ ซอม ทารอต แล้ว ฉันก็อดไม่ได้ที่จะเห็นส่วนละม้ายคล้าย จา พนม (โทนี่ จา) ในภาพยนตร์ “องค์บาก”

ทั้ง จา พนม และ ซอม ทารอต ยังมีความเหมือนที่คล้ายกันอีกอย่าง คือความพยายามที่จะฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ประจำถิ่น จนกลายเป็นตัวตนของเธอและเขาที่พวกเราต่างจดจำ

ซอม ทารอต ยังทำให้ฉันคิดถึง จา พนม ไปอีก เมื่อพบว่า บัดนี้เธอได้กลายเป็นฮีโร่อีกคนของวงการภาพยนตร์ (เขมร) ไปแล้ว

เมื่อ jailBreak (เขมรแหกคุก) ภาพยนตร์บู๊ระห่ำเรื่องแรกที่เธอได้ร่วมแสดงและกำลังจะลงโรงในสัปดาห์นี้ที่กัมพูชา

ด้วยโปรดักชั่นระดับสากลของภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่รวมเอาดาวเด่นแห่งวงการ(ละ)บกกะตอร์หญิงชายมาไว้ในเรื่อง จนน่าจะเชื่อว่า jailBreak จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการภาพยนตร์กัมพูชาและในระดับนานาชาติ

ขอต้อนรับการกลับมาของวงการภาพยนตร์เขมร

และขอต้อนรับฮีโร่สาวคนใหม่แห่งวงการภาพยนตร์แอ๊กชั่น

นางสาวกัมพูชา-ซอม ทารอต