คำ ผกา : “เครื่องแบบ” เหตุแห่งความเขลา

คำ ผกา

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 ก.ย. 2556

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการศึกษาสองเรื่อง

ลำดับคุณภาพการศึกษาไทยรั้งท้ายสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

กับข่าวโปสเตอร์รณรงค์ให้ตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของเครื่องแบบนักศึกษา โดยกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง

และเหตุที่มันเป็นข่าวครึกโครมมากก็ด้วยเหตุว่า ภาพในโปสเตอร์รณรงค์นั้นสื่อถึงนัยทางเพศอันเป็นเรื่องที่สังคมไทยอ่อนไหวต่อมันมากที่สุด (แปลว่าดัดจริตต่อมันมากที่สุด) และอ่อนไหวมากขึ้นเมื่อเป็นการร่วมเพศในชุดนักศึกษา และยิ่งเป็นนักศึกษาชายกับชาย และยิ่งกว่านั้นเมื่อภาพนักศึกษาหญิงไม่ใช่นักศึกษาหญิง-กรี๊สสสสส มันจะซับซ้อนเกินไปแล้ว สำหรับสังคมคนอ่อนไหว

ดังนั้น มันจึงเป็นข่าวครึกโครม พร้อมๆ กับที่ อธิการบดี ออกมา “ปราม” ด้วยวลีเด็ดที่คนไทยถูกฝังไว้ในดีเอ็นเอมาตั้งแต่เกิดคือวลีที่บอกว่า “เสรีภาพมีได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และใช้ไปในทางที่เหมาะสม” และย้ำว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีกฎบังคับให้นักศึกษาต้องแต่งชุดนักศึกษา

ขณะเดียวกัน อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็รีบออกมาบอกว่าได้แจ้งยกเลิกกฎการบังคับให้แต่งชุดนักศึกษามาเรียนในวิชา TU 103

อ่านถึงตรงนี้-คนนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-(มีข้อถกเถียงใหม่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของธรรมศาสตร์คนนอกอย่ายุ่ง, เอิ่ม, ธรรมศาสตร์ก็ใช้เงินภาษีคนนอกธรรมศาสตร์เยอะอยู่ป่าวคะ?) อย่างฉันนึกสงสัยว่า “อ้าว ถ้ามหาวิทยาลัยไม่มีกฎบังคับให้นักศึกษาแต่งชุดนักศึกษา หากอาจารย์ท่านใดริอ่านบังคับนักศึกษาแต่งชุดนักศึกษา อาจารย์ท่านนั้นน่าจะมีความผิดหรือเปล่า?”

และทำไมจึงยังปรากฏป้าย No Uniform No Service ในมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีความเข้าใจร่วมกันว่าเวลาไปสอบต้องแต่งชุดนักศึกษา

หากมหาวิทยาลัยไม่มีกฎบังคับ ก็ต้องไม่ทั้งเวลาเรียน ในห้องเรียน นอกห้องเรียน จะสอบ หรือไม่สอบ การไม่บังคับนี้น่าจะครอบคลุมทั้งหมด

ข่าวอันดับความล้าหลังรั้งท้ายของคุณภาพการศึกษาไทยกับข้อถกเถียงเรื่องการมีอยู่หรือยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

หลายๆ คน (แม้แต่คนที่รณรงค์ให้ยกเลิกเครื่องแบบ) ต่างพากันออกมาบอกว่า ชุดนักศึกษาไม่เกี่ยวกับคุณภาพการศึกษา

แต่ฉันเห็นตรงกันข้าม ฉันเห็นว่ามันเกี่ยวพันอย่างมากถึงมากที่สุด

จิตสำนึกแห่งการสยบยอมต่ออำนาจโดยปราศจากการตั้งคำถาม-ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มพูนสติปัญญาและการศึกษาหาความรู้-เกี่ยวโยงตรงกันกับการขังนักเรียนไว้ในเครื่องแบบ และต้องขยายความอีกว่าเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาแบบไทยด้วย

พูดให้ง่ายขึ้นได้ว่า เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาไทย รวมทั้งทรงผมภาคบังคับ มีผลให้เด็กนักเรียนโง่ลงอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ

คนที่สนับสนุนเครื่องแบบนักเรียนจำนวนไม่น้อยออกมาปกป้องว่า ในต่างประเทศยิ่งเป็นโรงเรียนแพง ยิ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ยิ่งมีเครื่องแบบอันเคร่งครัด เพราะฉะนั้น คนไทยจะไปดัดจริตอะไรไปเลิกเครื่องแบบ

แต่คนเหล่านั้นไม่ได้พูดต่อให้จบ (หรือไม่ก็โดนเครื่องแบบนักเรียนที่เคยใส่มาหลายปีทำลายเซลล์สมองไปเรียบร้อยแล้ว) ว่าเครื่องแบบโรงเรียนเอกชนในหลายๆ ประเทศออกแบบมาเพื่อแสดงสถานภาพอีลีตหรือชนชั้นนำ เพื่อความกลมเกลียวกันฉันน้องพี่ของเหล่าอีลีตด้วยกัน มันจึงเป็นเครื่องแบบที่ถูกออกแบบขับเน้นความสง่างาม หยิบโหย่งแบบผู้ดิบผู้ดี

ในขณะที่เครื่องแบบนักเรียนของไทย โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐบาล ถูกออกแบบมาเพื่อลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของการสร้าง “ข้าราชการในระบบอาณานิคม”

บ่มเพาะสำนึกชนพื้นเมืองที่ต้องศิโรราบต่อเจ้าอาณานิคมที่เป็นผู้ปกครอง

เน้นการผลิต “เสมียน” ที่ไม่ต้องคิด แต่เก่งในการประจบประแจง ลึกซึ้งในระบบลำดับชั้นต่ำสูง มีประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ

สำคัญที่สุดคือไม่มีวันลุกขึ้นต่อต้าน “เจ้านาย” ไม่เพียงแต่ไม่ต่อต้านแต่ยังสามารถอุทิศตนเพื่อปกป้องระบบที่กดขี่ตัวเองเอาไว้ เพราะถูกหลอกว่า “เครื่องแบบ” เหล่านี้คือสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ-ภูมิใจที่ได้รับใช้, ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ…

เครื่องแบบนักเรียน ทรงผมนักเรียนของไทยอาการหนักกว่าหลายๆ ที่ในโลก กรณีของแอฟริกา เครื่องแบบโรงเรียนเอกชนถูกประณามว่า colonial legacy หรือมรดกของอาณานิคม

แต่ของไทยนอกจากเป็นมรดกของอาณานิคมแล้วยังบวกมรดกของเผด็จการทหารที่เน้นการซ้ายหัน ขวาหัน เชื่อฟัง สามัคคี พลีชีพเพื่อชาติ กราบบุพการี ทำความดีหน้าเสาธง

เด็กไทยโดน “เครื่องแบบ” ควบคุมบงการร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้าให้เติบโตไปในทางที่เชื่องต่ออำนาจขนาดนี้ ก็ไม่ต้องแปลกใจว่าเราจะไม่สามารถผลักระดับสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของเราให้ทัดเทียมกับใครในโลกได้

เพราะในขณะที่เราคุมร่างกายเขาให้เชื่อง เราจะผลิต “ตำรา” หรือ “หลักสูตร” ที่กระตุ้นให้เขาคิดหรือตั้งคำถามในทางปรัชญาได้อย่างไร เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาเริ่มตั้งคำถาม สิ่งแรกที่พวกเขาจะปฏิเสธคือปฏิเสธ “อำนาจ” ที่บงการร่างกายของเขาอยู่

เพราะฉะนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงอยู่ของเครื่องแบบ ระบบการเรียนการสอน การจัดหลักสูตรการศึกษาของไทยจึงไม่สามารถไปสู่กระบวนการสร้างนักเรียนที่คิดเป็น ตั้งคำถามได้ สามารถถกเถียงและท้าทาย “อำนาจ” ได้เลย

ต่อให้วางวัตถุประสงค์ไว้เลิศเลอแค่ไหนในหลักสูตร สุดท้ายในทางปฏิบัติก็จะนำมาสู่การเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำ เทคนิคการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับปรัชญาได้

มีนักเรียนไปโอลิมปิกวิชาการแล้วก็กลับมาถือพานไหว้ครู คู้เข่ากราบรูปปั้นอะไรต่อมิอะไรที่โรงเรียนเหมือนเดิม

จึงขอฟันธงอีกครั้งว่า ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังไม่ยอมยกเลิกหรือออกแบบเครื่องแบบนักเรียนใหม่ให้มีความที่ส่งเสริมศักยภาพของมนุษย์ ไม่ออกแบบเครื่องแบบนักเรียนเพื่อความสง่างาม ไม่กระตุ้นความภาคภูมิใจในตัวเอง-ก็ไม่มีวันที่ระดับความสามารถทางวิชาการจะถูกยกระดับขึ้นมาได้

เราจะผลิตซ้ำพลเมืองที่มีโลกทัศน์คับแคบ หลงตนเอง ยึดติดกับสถาบัน ภูมิใจที่ได้เป็นทาสของเผด็จการ และระเบียบประเพณีต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังจะเห็นจากทัศนคติของ นักศึกษาคนนี้

“ผมเป็นนักศึกษาที่ภูมิใจกับชุดนักศึกษาของผม และขอบคุณ TU BAND ที่ให้ใส่ชุดนี้ขึ้นร้องเพลง ซึ่งเป็นการใส่ชุดนักศึกษาแล้วทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ “พวกคุณ” ควรให้เกียรติกับเครื่องแบบ สัญลักษณ์ และความเป็นธรรมศาสตร์ ถ้าทำไม่ได้และออกมาเรียกร้องเสรีภาพด้วยวิธีการดูหมิ่น ก็ไปเรียนที่อื่น ที่ที่คุณพึงพอใจซะ อย่ามา ถ้าไม่เคารพ เสียดายที่ให้คนอื่น # โมโหจริงๆ นะ # นั่งพิมนานมากๆๆๆ

#มันขึ้นอ่ะ #เป็นคนหนึ่งที่ไม่ใส่ชุด นศ. ทุกวัน #แต่ภูมิใจที่ได้ใส่นะ #ปลวกจิต #ฝันดีนะที่รักทุกคน # ฝันร้ายซะพวกที่ทำ # โมโหเหวี่ยงเขวี้ยงงา” กู๊ด kpn ลั่น ถ้าไม่ให้เกียรติเครื่องแบบธรรมศาสตร์ก็ไปเรียนที่อื่น http://fb.kapook.com/women-70786.html

ถ้านี่ยังไม่ใช่หลักฐานที่บอกว่า “เครื่องแบบ” นักเรียน นักศึกษาคืออุปสรรคของพัฒนาการสติปัญญา วุฒิภาวะ มิหนำซ้ำ เครื่องแบบยังเป็นไทม์แมชชีนที่นำบุคคลที่สวมใส่กลับไปสู่วิธีคิดแบบยุคกลางที่ฆ่าแม่มดและจับกาลิเลโอไปเผา โปรดดูความคิดเห็นของอาจารย์ท่านนี้

“เป้าประสงค์ของวิชานี้ ซึ่งจัดสอนโดยคณะวิทยาศาสตร์ ต้องการปลูกฝังระเบียบวินัยของนักศึกษา เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการทดลอง ซึ่งมีขั้นตอนและต้องมีระเบียบวินัยในการทดลอง และการแต่งชุดนักศึกษาก็จะเป็นดัชนีตัวหนึ่งในการวัดการมีระเบียบวินัยของนักศึกษาที่คณะต้องการปลูกฝัง ซึ่งนักศึกษาก็เข้าใจดีและปฏิบัติกันมาตั้งแต่ต้นเทอม และวิชานี้ก็เปิดมาเป็น 10 ปี”

รศ.ปกรณ์ เสริมสุข, 9 กันยายน 2556
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.

ที่มา คณะวิทย์ มธ.ย้ำ “ใส่ชุด นศ.เข้าเรียน” ด้าน ปธ.สภา นศ. เตรียมประชาพิจารณ์การแต่งเครื่องแบบ” http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000113599

อ่านแล้วร้อง “ว้ายยย” ถ้าการแต่งเครื่องแบบสัมพันธ์กับระเบียบวินัยและระเบียบวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการทดลอง-ป่านฉะนี้ ประเทศไทยน่าจะครองความเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์นะ-ฮัลโหล ฮัลโหล-ที่ธรรมศาสตร์มีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลนับไม่ถ้วนคนเลยใช่มั้ยคะ-ฮัลโหล ฮัลโหล อุ๊ย โทร.ผิดค่ะ ไม่มีรางวัลโนเบลที่มหาวิทยาลัยนี้เหรอคะ มีแต่อาจารย์อุบลยานแม่

ขอบคุณค่ะ

มีเครื่องแบบนักเรียนยังพอทำเนา เพราะพอจะหวังได้ว่า เมื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ยังมีโอกาสในการ “พัฒนา” ศักยภาพในการเป็นคนเต็มคน ได้ฝึกคิด ได้ฝึกตั้งคำถาม ได้ย้อนกลับไปทบทวนว่า 12 ปีที่ผ่านมา ในโรงเรียนตัวเองถูกล้างสมอง ถูกกำกับ “ร่างกาย” ให้เชื่อมต่อระบบมาอย่างไรบ้าง

แต่เปล่าเลย ประเทศไทยชนะเลิศด้วยการที่ยังคงมีเครื่องแบบนักศึกษา แถมยังผลิตซ้ำความเชื่อผิดๆ ว่าชุดนักศึกษาคือ “ชุดพระราชทาน”

ในเว็บไซต์ University Popular ว่าด้วยประวัติศาสตร์ชุดนิสิต พบว่า ชุดนิสิตที่แต่งกันในปัจจุบันนี้ออกแบบโดย สโมสรนิสิตจุฬาฯ ในปี 2507

น่าสนใจว่า “เครื่องแบบพระราชทาน” นั้นมีอยู่จริง และมีอยู่ถึง 6 แบบด้วยกัน ทั้ง 6 แบบ คือ ยูนิฟอร์ม “ทหาร” ในยุคอาณานิคม (ไปดูรูปในเว็บไซต์ได้) บางชุดเหมือนชุดทหารยืนยามที่พระราชวังบักกิ้งแฮมแน่ะ (ถ้าใครอยากใส่ชุดพระราชทานจริง ให้ใส่ชุดแบบหกชุดที่ว่านี้มาเรียนทุกวันเลย) ซึ่งใช้กันอยู่ในช่วงปี 2442-2453 และในช่วงนั้นเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก

ชุดพระราชทานที่ว่านี้คือพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กแต่งตัวเหมือนโรงเรียนพระราชสำนัก-หากไม่เข้าข้างตัวเอง ก็ต้องเข้าใจว่า โรงเรียนมหาดเล็กนี้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยในความหมายที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน

แต่เป็นโรงเรียน “สร้างข้าราชการ” เพื่อรับใช้พระมหากษัตริย์ และเพื่อ modernized หรือปรับภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์สยามในยุคนั้นให้ “ดู” เป็นตะวันตกด้วยการ “แต่งกาย” ในเครื่องแบบที่เหมือนกับเครื่องแบบของประเทศเจ้าอาณานิคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ

จุดน่าสนใจอยู่ตรงนี้คือ ในปี 2491 (รัฐบาลของ ควง อภัยวงศ์) -นั่นคือเมื่อเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว (เริ่มมีสามัญชนเข้าไปเรียนได้แล้ว และเปิดเป็นมหาวิทยาลัย สอนหนังสือเรียนหนังสือกันจริงๆ แล้ว) ได้มีการกำหนดให้นักศึกษาชายแต่งกายด้วยชุดทหารรักษาดินแดนไปเรียน ต่อมาในปี 2492 ภายใต้รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการออกแบบ “เครื่องแต่งกาย” ของนักศึกษาชายใหม่ จากรูปภาพในเว็บไซต์ เป็น ชุดสูทสากล แต่ทางสโมรสรนิสิตจุฬาฯ ไม่ยอมรับชุดสากลนั้น โดยอ้างว่ามีชุดพระราชทานอยู่แล้ว (กำเนิดวาทกรรมเครื่องแบบพระราชทาน)

จนมาถึงปี 2507 ในสมัยของ ถนอม กิตติขจร สโมสรนิสิตจุฬาฯ จึงออกแบบชุดนักศึกษาอย่างที่ใช้กันในปัจจุบันนี้

เพราะฉะนั้น ชุดนักศึกษาที่ใส่กันทุกวันนี้ ไม่ใช่ชุดพระราชทาน ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ความศักดิ์สิทธิ์ของชุดมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ยกเลิกเครื่องแบบนักศึกษา

 

สุดท้าย ขอฟันธงอีกครั้งว่า เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา มีผลต่อ “สมอง” และ “จิตสำนึกของผู้สวมใส่” เครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทย “ผิดปกติ” จากชาวโลก ตรรกะวิบัติ

หากไม่รีบแก้ไข เราจะกลายเป็นเกาหลีเหนือได้ในเร็ววัน และมาตรฐานการศึกษาของเราจะรั้งท้ายอาเซียนชั่วกัลปาวสาน

ทางออก : เลิกบังคับ ใช้ความสมัครใจว่าใครใคร่ใส่ก็ใส่ เพื่อจะได้แยกออกระหว่างประชาชนไทยที่มีสำนึกแบบสมัยใหม่กับประชาชนไทยที่มีสำนึกแบบมนุษย์ยุคกลางออกจากกันได้

และเราสัญญาว่าเราจะเรียนรู้ที่อยู่ด้วยกันอย่างสงบ