พลวัต แห่ง นักเขียน ศึกษาจาก เสนีย์ เสาวพงศ์ นิ่ง ในการเคลื่อนไหว

หลังจาก ม.จ.อากาศดำเกิง ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการวรรณกรรมไทยด้วยเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” เมื่อปี พ.ศ.2472 งานเขียนในแบบนวนิยายชีวิตต่างแดนก็ได้รับความนิยมสูงขึ้นเป็นลำดับ

สด กูรมะโรหิต เขียน “ปักกิ่ง นครแห่งความหลัง” เมื่อกลับจากเมืองจีน

“ศรีบูรพา” เขียน “ข้างหลังภาพ” ทันทีที่กลับจากดูงานหนังสือพิมพ์ที่ญี่ปุ่น

ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่สำนวนสะวิงกำลังคึกคักอยู่ตามนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวัน นอกจากงานแบบจินตนิยายเพ้อฝันจะเฟื่องเป็นอย่างมากแล้ว นักเขียนหนุ่มทั้งที่เคยไปต่างประเทศและนั่งอยู่ในสำนักงานต่างพากันเขียนนวนิยายชีวิตต่างแดนประชันกันอย่างมากมาย

วิตต์ สุทธิเสถียร เขียน “ตระเวนมะนิลา” อิศรา อมันตกุล เขียน “นักบุญ คนบาป” เจอด สรคุปต์ เขียน “อาทิตย์ตกที่อ่าวมะนิลา”

และ เสนีย์ เสาวพงศ์ มาพบกับผู้อ่านด้วยเรื่อง “ชัยชนะของผู้แพ้” เมื่อปี พ.ศ.2486

ด้วยท่วงทำนองการเขียนเรื่องรักที่ดำเนินไปอย่างเศร้าๆ เสนีย์ เสาวพงศ์ พาผู้อ่านให้เดินทางร่วมกับ “ข้าพเจ้า” ไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือหวางพู ฮาร์บิน และบรรยากาศอันเต็มไปด้วยหิมะขาวโพลนแห่งแมนจูเรีย

ได้รู้จักกับ มาเนีย อิวานอฟนา นักข่าวแห่งสำนักข่าวทาสส์ ได้รู้จักกับ แซม ซูคอฟ ผู้หากินบนคราบไคลของรัสเซียขาวตกยาก

รักกับมาเนีย ช่วยเหลือกันแล้วก็จากกันด้วยความอาลัย

 

เสนีย์ เสาวพงศ์ นำเราไปนั่งฟังตัวละครสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะกันด้วยคำพูดเพราะๆ เฉียบคมของ พลาโต แฮกการ์ด โชเปนเฮาเออร์ เป็นต้น และก็จบเรื่องอย่างเศร้าๆ

เพื่อจะยืนยันความมุ่งมั่นในขณะนั้นที่ว่า

“ฉันชอบเขียนเรื่องเศร้าๆ เพราะว่าเรื่องเศร้าเป็นเรื่องที่สามารถบำบัดความต้องการจิตใจของคนได้มาก เรื่องเช่นนี้จะช่วยปลอบใจคนที่ผิดหวัง คนที่โลกไม่ต้องการ คนที่ถูกสาป”

เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนามปากกาของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์

จากอีกนามปากกา โบ้ บางบ่อ ซึ่งเริ่มที่ “ศรีกรุง” และเขียนคอลัมน์สมองใหม่ในนิตยสารสยามสมัยรายสัปดาห์เมื่อปี พ.ศ.2497 บอกให้รู้ว่าเขาเป็นชาวสมุทรปราการ

จบมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนบพิตรพิมุขแล้วเรียนภาษาเยอรมันต่ออีก 2 ปีก่อนจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2479 ระหว่างเรียนทำงานเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์และศรีกรุง และได้ใช้เวลาบางส่วนเรียนเขียนรูปกับ เหม เวชกร

ได้ ธ.บ. (ธรรมศาสตรบัณฑิต) เมื่อปี พ.ศ.2484 และได้ทุนรัฐบาลเยอรมนีไปศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เดินทางไปติดอยู่ที่แมนจูเรียนระหว่างปี พ.ศ.2484-2486 กลับมาทำงานอยู่ฝ่ายข่าวต่างประเทศหนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิและเริ่มเขียน “ชัยชนะของผู้แพ้” และ “ไม่มีข่าวจากโตเกียว”

เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ.2487

 

งานของ เสนีย์ เสาวพงศ์ มีทั้งในรูปของเรื่องยาว เรื่องสั้น คอลัมน์และบทความ ก่อนเข้าทำงานในหนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิเขาก็เริ่มมีชื่อเสียงมาบ้าง แต่เป็นที่รู้จักเมื่อเขียน “ชัยชนะของผู้แพ้”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเขียน “เจ็ดแผ่นดิน”

บทความทางศิลปะวรรณคดีเรื่อง “จินตนิยมและอัตถนิยม” ในปี พ.ศ.2495 อันเป็นช่วงที่การถกเถียงปัญหาศิลปะเพื่ออะไร ศิลปะเพื่อใคร กำลังดำเนินไปด้วยความคึกคักเข้มข้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

งานชิ้นนี้แม้จะเสนอให้เห็นถึงวิวัฒนาการของวรรณคดีทางด้านสากลจากสกุลการเขียนแบบจินตนิยมมาเป็นอัตถนิยมเป็นส่วนใหญ่

แต่ก็เท่ากับเป็น “ไม้วัด” สำหรับพิจารณางานวรรณกรรมยุคใหม่ของไทยได้เป็นอย่างดี และเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เสนีย์ เสาวพงศ์ พยายามทำงานอย่างมีหลัก ทั้งไม่เคยหยุดนิ่งที่จะค้นคว้าหาแนวทางที่ดี เหมาะสม

และที่เป็นประโยชน์ในการทำงานศิลปะวรรณคดีอย่างเป็นจริง

 

ใครก็ตามที่เกาะติดงานเขียนของ เสนีย์ เสาวพงศ์ อย่างต่อเนื่องก็จะมองเห็นเส้นทางและความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเด่นชัด

สะท้อนถึงลักษณะอันมี “พลวัต” และไม่ยอมหยุดนิ่ง

ยุคแรก อาจสัมผัสได้จากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง “ชัยชนะของผู้แพ้” ประสานเข้ากับ “ไม่มีข่าวจากโตเกียว” ยุค 2 อาจสัมผัสได้จาก “ความรักของวัลยา” กับ “ปีศาจ”

ยุค 3 เป็นผลสะเทือนเนื่องแต่การเมืองนับจากปี 2501 เป็นต้นมา และยุคสุดท้าย เมื่อหวนกลับมาเขียน “คนดีศรีอยุธยา” ตลอดจน “ดินน้ำและดอกไม้”