สุจิตต์ วงษ์เทศ : “นาค” คือคนพื้นเมือง

ชายเผ่านาคกำลังเฉลิมฉลองรับหัวศัตรูที่ล่าได้ในหมู่บ้าน Tanhai นากาแลนด์ (ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2479 โดย Christoph von Furer-Haimendorf จากหนังสือ Expedition Naga : Diaries from the Hills in Northeast India 1921-1937, 2002-2006. Peter van Ham and Jamie Saul. Bangkok : River Books, 2008.)

 

นักปราชญ์ยุโรปสมัยก่อน เช่น ฝรั่งเศส แต่งหนังสือประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ว่าแต่เดิมเสมือนดินแดนป่าเถื่อน ผู้คนชนเผ่าเหล่ากอต่างๆ ยังไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีอะไรทั้งนั้น ต่อเมื่อติดต่อกับอินเดียแล้วตกเป็น “อาณานิคมอินเดีย” จึงรับอารยธรรมอินเดียมาสร้างสรรค์เกิดเป็นชุมชนบ้านเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้

นักปราชญ์ฝรั่งเศสแต่งหนังสือด้วยทัศนะคนตะวันตก มี “จินตนาการ” อย่างตะวันตกที่ตัวเองเป็น

มหาอำนาจ “ล่าเมืองขึ้น” เลยคิดว่าอินเดียโบราณก็ล่าอาณานิคมอย่างยุโรป แล้วยึดครองดินแดนอื่น เป็นเมืองขึ้น เหมือนยุโรปในตอนนั้น

แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือยุคนั้นการศึกษาค้นคว้ายังคับแคบเพราะหลักฐานมีจำกัด สิ่งที่จมอยู่ใต้ดินยังไม่ได้ขุดและค้นออกมาให้เห็นเหมือนยุคหลังๆ ความเข้าใจเลยคลาดเคลื่อนออกไปไกลมากๆ

น่าเสียดายที่นักค้นคว้าและนักวิชาการไทยสมัยนี้ที่ส่วนมากเกือบหมดจบการศึกษาจากยุโรปและอเมริกา แต่ยึดมั่นถือมั่นตำราของฝรั่งเศสเป็น “คัมภีร์” หรือเป็นสรณะที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทั้งๆ ที่หลักฐานพยานแวดล้อมมีขึ้นมาให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมืองและเต็มทั้งอุษาคเนย์ ล้วน ขัดแย้ง กับตำราฝรั่งเศส เช่น ก่อนการติดต่อกับอินเดีย ผู้คนในอุษาคเนย์ตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้าน และชำนาญการถลุงโลหะ (เช่น สัมฤทธิ์ เหล็ก) เป็นระดับ “เมือง” แล้ว พยานหลักฐานมีอยู่เกลื่อนไปในอีสานบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง แต่ไม่รู้จักศึกษากันเองต่างหาก เพราะท่องตำราฝรั่งเศสมันสะดวกดี แล้วใช้ “หลอก” คนอื่นๆ ได้ง่ายมาก

หลักฐานโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า ก่อน ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนบ้านเมืองในอุษาคเนย์มีความก้าวหน้า หลังจากนั้นก็เริ่มมีการค้าทางไกล หัวหน้าหรือเจ้าเมืองของชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ทะเล คือผู้มีสิทธิ์และอำนาจค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคนต่างถิ่นและชาวต่างชาติที่มาทางทะเล

เริ่มจากการค้าขนาดเล็กๆ แคบๆ ระยะทางสั้นๆ เลียบชายฝั่ง แล้วค่อยๆ เติบโตขยายกว้างขวางห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ทั้งทางตะวันออก คือ เวียดนาม จีน และทางตะวันตก คือชมพูทวีป (อินเดีย) กับหมู่เกาะ ฯลฯ

สุวรรณภูมิในสยาม

ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว พ่อค้าชาวชมพูทวีป (อินเดีย) ที่เดินทางมาค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของสินค้ากับหัวหน้าชุมชนในดินแดนอุษาคเนย์ ต่างมีความมั่งคั่งจากการค้าขายทางทะเล จึงมีคำบอกเล่ากล่าวขวัญถึงอุษาคเนย์ว่าเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและมีแร่ธาตุสำคัญ เลยพากันเรียกภูมิภาคนี้ว่า สุวรรณทวีป บ้าง สุวรรณภูมิ บ้าง ตั้งแต่ครั้งนั้นสืบมา

นอกจากค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของสินค้าแล้ว คนพื้นเมืองโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำยังรับเอาอารยธรรมจากชมพูทวีปคืออินเดียมาใช้ในชุมชนท้องถิ่นด้วย

ชาวอินเดียโบราณที่เดินเรือทะเลเลียบชายฝั่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวสุวรรณภูมิ นอกจากพ่อค้าที่มั่งคั่งแล้วยังมีชนวรรณะอื่นและกลุ่มอื่นด้วย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ และนักบวช ฯลฯ ด้วยความต้องการต่างๆ กันไป บางพวกเข้ามาตั้งหลักแหล่งชั่วคราวไปๆ มาๆ แต่บางพวกตั้งถิ่นฐานถาวรด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น ลี้ภัยทางการเมือง โจรสลัด เป็นต้น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนพื้นเมืองก็มี บางพวกแต่งงานกับคนพื้นเมืองแล้วสืบโคตรตระกูลมีลูกหลานกลายเป็นคนพื้นเมืองไปก็ไม่น้อย

หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วราวๆ ๓๐๐ ปี หรืออาจกล่าวได้ว่าระหว่าง พ.ศ.๒๐๐-๓๐๐ มีพระสงฆ์ ๒ รูป คือ พระโสณะ กับ พระอุตตระ อาศัยเรือพ่อค้าเข้ามาเผยแผ่ พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ที่ดินแดนสุวรรณภูมิ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเริ่มประดิษฐานลงในภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรก ตรงบริเวณที่อยู่ระหว่างลำน้ำแม่กลอง-ท่าจีน (ปัจจุบันคือเขตอำเภออู่ทอง-จังหวัดสุพรรณบุรี กับบ้านดอนตาเพชร เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี)

พร้อมกันครั้งนั้น พวก พราหมณ์ก็เข้ามาเผยแผ่ศาสนาฮินดูด้วย ทำให้ชุมชนท้องถิ่นใกล้ทะเลบางแห่งรับพุทธศาสนา บางแห่งรับศาสนาฮินดู แต่มีบางชุมชนแรกรับพุทธแล้วเปลี่ยนเป็นฮินดู บางชุมชนแรกรับฮินดูแล้วเปลี่ยนเป็นพุทธ เป็นเหตุให้มีหลายแห่งรับทั้งพุทธและฮินดูปะปนอยู่ด้วยกันในชุมชนเดียวกัน

เหตุที่เป็นอย่างนั้น เพราะการจะรับหรือไม่รับสิ่งใด เป็นอำนาจหรือดุลยพินิจวิจารณญาณของหัวหน้าหรือเจ้าเมืองที่เป็นชนชั้นปกครอง ไม่ใช่อำนาจของพ่อค้าจากชมพูทวีป หรือนักบวช หรือพราหมณ์ ที่นำศาสนามาเผยแผ่

นี่เป็นพยานยืนยันว่าบรรดาเผ่าพันธุ์พื้นเมืองไม่ได้อยู่ในอำนาจของชาวอินเดียและไม่ได้เป็น “อาณานิคม” อย่างที่นักปราชญ์ฝรั่งเศสเข้าใจ

เริ่มมีชนชั้นในสังคม

เมื่อรับแบบแผนอารยธรรมอินเดียแล้ว ความแตกต่างของผู้คนเริ่มเห็นชัดเจน โดยแบ่งเป็นชนชั้นปกครองหรือชนชั้นสูง กับชนชั้นถูกปกครองหรือชนชั้นต่ำ

ชนชั้นสูง คือ หัวหน้าหรือเจ้าเมือง เป็นกลุ่มแรกที่เลือกสรรรับอารยธรรมอินเดีย เช่น ศาสนา และสิ่งที่ต้องมากับศาสนา คือ ตัวอักษร ภาษา วรรณคดี ฯลฯ รวมเรียกว่าศิลปวิทยาการทั้งมวล ใช้ตัวอักษรปัลลวะ (ของทมิฬอินเดียใต้) สลักจารึกลงบนแผ่นอิฐหรือหิน

แต่ที่สำคัญคือระบบกษัตริย์ ที่เป็นประโยชน์ทางการปกครอง เป็นเหตุให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เติบโตก้าวหน้าขึ้นเป็นเมือง จากขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่โตขึ้น ในที่สุดก็เป็นรัฐ หรือแคว้น บรรดาหัวหน้าชาติพันธุ์กลายเป็นกษัตริย์ เปลี่ยนชื่อหรือพระนามตามอย่างกษัตริย์ในอินเดีย แม้ชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ก็เอาแบบจากอินเดียด้วย

ส่วนชนชั้นต่ำ ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ที่ต่อเนื่องมา คือนับถือระบบผี ซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ เพราะยังไม่รู้จักพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูที่สมัยแรกยังเป็นสมบัติของกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น

นาค คือคนพื้นเมือง

ชาวอินเดียที่เอาศาสนาเข้ามาเผยแผ่ให้ชาวสุวรรณภูมิ เรียกคนพื้นเมืองด้วยคำอารยันว่า นาค หมายถึง เปลือย หรือ แก้ผ้า เพราะเห็นคนพื้นเมืองมีเครื่องนุ่งห่มน้อยชิ้นจนเกือบเปลือยเปล่าเหมือนงูเงี้ยวที่เป็นสัตว์ร้ายทั่วไป

การเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่คนพื้นเมืองท้องถิ่นต่างๆ ย่อมยากลำบากและเกิดการขัดแย้งมากมาย เพราะระบบความเชื่อผีดั้งเดิมยังแข็งแรง แล้วยังมีปัญหาการสื่อสารด้วยภาษาที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้สำนึกของคนแต่ก่อนบันทึกเหตุการณ์ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรมานนาค และปราบนาคตามท้องถิ่นหลายท้องที่ จนบรรดานาคทั้งหลายยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา แล้วน้อมรับทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาสืบมา

เมื่อคนพื้นเมืองผู้เลื่อมใสออกบวชเป็นภิกษุ จึงเกิดประเพณีบวชนาคอย่างพื้นเมืองขึ้นมา เช่น มีการทำขวัญนาค เป็นต้น ซึ่งไม่มีในพุทธบัญญัติและไม่เคยมีในอินเดีย แสดงว่าระบบความเชื่อของพื้นเมืองยังมีอิทธิพลจนพุทธศาสนาต้องยอมรับเข้ามาผสมผสานในพิธีกรรมของพุทธศาสนา

นี่ก็เป็นพยานอีกว่าอารยธรรมอินเดียไม่ได้มีอำนาจควบคุมคนพื้นเมืองได้หมด เพราะอย่างน้อยก็ยังมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหลือไว้ให้นาค