วรศักดิ์ มหัทธโนบล : เรื่องจริงของเปาบุ้นจิ้น (4)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ที่จะกล่าวต่อไปก็คือ หวังจี่ว์เจิ้ง ที่กล้าใช้ตำแหน่งเสนาบดีของตนเป็นเดิมพันเพื่อสนับสนุนเปาเจิ่งนั้น

หากดูละครชุด เปาบุ้นจิ้น แล้ว ตัวละครที่แสดงเป็นมหาอำมาตย์หรือที่เปาบุ้นจิ้นมักจะเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า “ท่านอำมาตย์” หรือที่ภาษาจีนกลางเรียกว่า “เฉิงเซี่ยง” นั้น น่าจะเป็นหวังจี่ว์เจิ้งคนนี้เอง

เพราะตำแหน่งที่เปาบุ้นจิ้นเรียกขานแทนตัวเขาในภาษาจีนหมายถึงมหาอำมาตย์จริงๆ

แต่ที่ดูตลกร้ายก็คือ ในละครชุด เปาบุ้นจิ้น มักทำให้คนดูเห็นโดยตลอดว่า มหาอำมาตย์เป็นชายชราที่เป็นสุภาพชน ไม่สู้จะมีเรื่องมีราวกับใคร เวลาเจรจาความก็มีความเป็นกลางและเหตุผล

แต่หลายครั้งก็ทำให้เห็นว่าเป็นคนที่ต่อล้อต่อเถียงไม่เก่ง โดยเฉพาะกับราชครู ซึ่งแตกต่างกับเปาบุ้นจิ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ที่กล้าต่อกรกับราชครูอย่างตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ ในบางครั้งบางตอนมหาอำมาตย์ผู้นี้ก็ดูซื่อ ที่ยอมแม้กระทั่งกับข้อเรียกร้องแกมบังคับของชนชาติอื่นที่หมายจะเอาประโยชน์กับราชวงศ์ซ่ง โดยแลกกับการที่ชนชาตินั้นจะไม่มารุกรานจีน

แต่กล่าวเฉพาะกับเปาบุ้นจิ้นแล้ว ละครสะท้อนให้เห็นว่า มหาอำมาตย์ผู้นี้มักสนับสนุนความคิดของเปาบุ้นจิ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะต่อหน้าหรือลับหลังราชครูและจักรพรรดิ

ส่วนราชครูในละครชุดที่คอยขัดขวางหรือกลั่นแกล้งเปาบุ้นจิ้นนั้น

จนถึงตรงนี้ก็เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่าเขาก็คือ จางเหยาจว่อ ผู้ที่เปาเจิ่งใช้คำในฎีกาว่า “ขุนนางโฉด” ในชีวิตจริง ถึงแม้ในละครชุดจะไม่ได้แสดงให้เห็นตรงๆ ว่าราชครูคนนี้มีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่ อย่างไร

และที่คอยขวางการทำงานของเปาบุ้นจิ้นอยู่เสมอนั้น มาจากที่เปาบุ้นจิ้นตัดสินคดีหนึ่งที่ไปขัดผลประโยชน์ของตน

นับแต่นั้นมาราชครูก็ผูกใจเจ็บเปาบุ้นจิ้นเรื่อยมา

และคอยขัดขวางกลั่นแกล้งเปาบุ้นจิ้นแบบไม่ยอมรามือ

พ้นไปจากนี้แล้ว ละครชุด เปาบุ้นจิ้น มักเป็นเรื่องที่แต่งเติมเอาทีหลัง แต่ทั้งหมดนี้เราอาจแยกพิจารณาได้เป็น 2 ส่วน

ส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องที่แต่งเติมโดยอิงกับสถานการณ์แวดล้อมจริงที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น อีกส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องที่แต่งเติมขึ้นมาใหม่ล้วนๆ ไม่มีส่วนใดที่อิงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราชวงศ์ซ่งแม้แต่น้อย แต่ถ้าจะอิงส่วนใดที่เป็นเรื่องจริงบ้างแล้ว ในส่วนหลังนี้จะอิงก็แต่คติความเชื่อในที่มีต่อการดำเนินชีวิตของชาวจีนที่มีมานานนับพันปีนั้นเอง

ในส่วนแรกที่อิงกับสถานการณ์แวดล้อมจริงนั้น ละครชุดทำให้เราเห็นในหลายตอนด้วยกัน เช่น มีอยู่ตอนหนึ่งที่บอกเล่าถึงการเข้ามาสอดแนมของชนชาติชี่ตาน (คีตัน)

ชนชาตินี้ถือเป็นหนึ่งในหลายชนชาติที่เผชิญหน้ากับจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง แต่ละครก็ทำให้เห็นด้วยว่า ไม่ใช่ชนชาติชี่ตานทุกคนที่ต่อต้านและหมายจะคุกคามจีน มีบางกลุ่มของชนชาตินี้ที่จะอยู่กับจีนอย่างสงบ

หรืออย่างในบางตอนก็กล่าวถึงวีรกรรมของขุนศึกบางคนที่มีความซื่อสัตย์และมีความรักชาติอย่างยิ่ง ยอมอดตาหลับขับตานอนรักษาชายแดนมิให้ชนชาติอื่นเข้ามารุกราน

อย่างเช่นที่ละครชุดยกให้ตอนหนึ่งของ เปาบุ้นจิ้น ว่าด้วยเรื่องของแม่ทัพคนหนึ่งที่ชื่อ ตี๋ชิง (ค.ศ.1008-1057) หรือที่ในละครชุดเรียกเป็นเสียงจีนแต้จิ๋วว่า เต็กเช็ง นั้น ก็เป็นแม่ทัพที่มีตัวมีตนจริงในประวัติศาสตร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนแรกที่อิงกับเหตุการณ์จริงที่ควรกล่าวอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตัวละครที่แวดล้อมเปาบุ้นจิ้น และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในศาลระหว่างการพิจารณาคดี

ตัวละครที่น่ามีอยู่จริงก็คือ กงซุนเช่อ หวังเฉา หม่าฮั่น จางหลง และจ้าวหู่ ที่ว่ามีอยู่จริงก็เพราะเป็นปกติธรรมดาที่ในชั้นศาลของจีนจะมีเจ้าพนักงานที่มีตำแหน่งเหล่านี้ โดยตำแหน่งของกงซุนเช่อก็คือตำแหน่งเลขานุการศาลาว่าการ ส่วนในชีวิตจริงจะมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไรนั้น บทความนี้ยังไม่มีข้อมูลในขณะที่เขียนอยู่นี้

ตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญมาก คือนอกจากจะเป็นเสมือนแม่บ้านแล้วก็ยังต้องมีภูมิความรู้สูงพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย ประวัติศาสตร์ สถานการณ์ทางการเมือง ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ในละครชุดนั้นตัวของกงซุนเช่อมีความรู้แม้กระทั่งการแพทย์ ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้งที่เขาได้ใช้ความรู้นี้เข้ารักษาบุคคลในบางคดี

ส่วนหวังเฉา หม่าฮั่น จางหลง และจ้าวหู่ (ฟังในละครชุดเรียกคนหลังนี้เป็นจาวหู่ คือฟังแล้วไม่ใช่จ้าว) นั้น เป็นเจ้าพนักงาน (หรือเรียกอย่างไทยว่าตำรวจ) ที่มียศสูงในศาล ซึ่งก็เป็นตำแหน่งที่มีอยู่จริง

ส่วนจะมีชื่อเรียงเสียงใดนั้นไม่มีข้อมูลเช่นกัน จะมีก็แต่ตำนานของคนทั้งสี่เท่านั้นที่ดูมีสีสันแตกต่างไปจากคนอื่น

ตํานานเกี่ยวกับคนทั้งสี่นี้เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อๆ กันมาจนไม่ทราบว่าจริงเท็จประการใด ตำนานนี้เล่าว่า ทั้งสี่คนมีตัวตนจริงและติดตามเปาเจิ่งจนกระทั่งเปาเจิ่งจากโลกนี้ไป หลังจากนั้นเรื่องราวและชื่อของหม่าฮั่น จางหลง และจ้าวหู่ (สามคน) ก็หายไปจากการเล่าขาน จะมีก็แต่หวังเฉาเพียงคนเดียวที่ยังคงอาศัยอยู่กับครอบครัวตระกูลเปาของเปาบุ้นจิ้น

กล่าวกันว่า หวังเฉาทำเช่นนี้ด้วยความจงรักภักดีที่มีต่อเปาเจิ่ง จนทำให้ลูกหลานตระกูลเปาปฏิบัติต่อหวังเฉาเสมือนหนึ่งสมาชิกของตระกูลไปด้วย

โดยหลังจากที่หวังเฉาเสียชีวิตไปแล้ว ลูกหลานของเปาเจิ่งได้ฝังศพของเขาในบริเวณเดียวกับสุสานที่ฝังเปาเจิ่ง และพอถึงเทศกาลชิงหมิง (เช็งเม้ง) ในแต่ละปี ลูกหลานตระกูลเปาที่มาเซ่นไหว้เปาเจิ่งและบรรพชนในตระกูลก็ไม่ลืมที่จะมาเซ่นไหว้หวังเฉาทุกครั้งไปด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ลูกหลานตระกูลเปายังปรับหน้าดินและตกแต่งหลุมศพด้วยการปักธงกระดาษหลากสีให้กับหวังเฉา พร้อมกับกราบไหว้หลุมศพเสมือนหนึ่งว่าหวังเฉาเป็นบรรพชนของตนอีกด้วย

การปฏิบัติต่อหลุมศพของหวังเฉาเช่นนี้กระทำสืบทอดกันมาจนถึงก่อนที่จีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อนที่พิธีเช่นนี้หรือพิธีในประเพณีอื่นๆ กลายเป็นของต้องห้ามไปนานนับสิบปี

เรื่องหลุมศพของหวังเฉานั้น เป็นเรื่องที่ลูกหลานในชั้นหลังของเปาเจิ่งเป็นผู้เล่า แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่า โดยรวมแล้วเรื่องราวของคนทั้งสี่คือ หวังเฉา หม่าฮั่น จางหลง และจ้าวหู่นั้น ไม่ปรากฏในบันทึกใดๆ ได้แต่เป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วคน

โดยมีหลุมศพที่ลูกหลานตระกูลเปาในรุ่นหลังเชื่อกันว่าเป็นของหวังเฉาเป็นประจักษ์พยาน และทำให้ผู้คนเชื่อว่าคนทั้งสี่มีตัวตนและชื่อเสียงเรียงนามอยู่จริงดังที่ละครชุดถ่ายทอดออกมาไปด้วย

ถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่า ในเมื่อมีหลุมศพของหวังเฉาอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดจึงไม่นับเนื่องให้เรื่องของคนทั้งสี่เป็นเรื่องจริงด้วยเล่า?

คำตอบก็คือว่า แม้จะมีหลุมศพของหวังเฉาอยู่จริง แต่ในประเพณีจีนก็มีการกระทำในเรื่องหนึ่งอยู่ด้วยเช่นกันคือ การสร้างหลุมศพให้กับคนที่ตนเคารพรักโดยที่ไม่มีศพของเจ้าตัวอยู่ในหลุมจริง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในบางกรณีไม่อาจรับหรือพบศพของบุคคลที่ตนเคารพรักด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง

เช่น บุคคลนั้นตายเพราะสงครามจนหาศพไม่พบ ตายด้วยเภทภัยธรรมชาติ ตายในต่างแดนที่อยู่ห่างไกล ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ทำให้คนในตระกูลต้องสร้างสุสานแทนเจ้าตัวที่ตายไปขึ้นมาเพื่อเคารพสักการะ โดยในหลุมศพ (ที่ไม่มีศพ) อาจบรรจุข้าวของเครื่องใช้หรือเสื้อผ้าของบุคคลนั้นเอาไว้ อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า แม้ภายในไม่มีศพ แต่ก็มีสิ่งที่แทนผู้ที่ตนเคารพรักอยู่ภายในนั้นให้เคารพสักการะ

ประเพณีเช่นนี้แม้มีไม่มากกรณี แต่ก็มีการปฏิบัติกันเป็นปกติ ดังหลุมพระศพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสินนั้น ด้วยความที่พระองค์ทรงมีเชื้อสายจีน หลังสวรรคตแล้วญาติทางฝ่ายจีนได้สร้างสุสานแทนพระองค์ไว้ที่บ้านเกิดในเมืองจีนด้วย

ว่ากันว่าภายในหลุมพระศพมีการบรรจุเสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ของพระองค์เอาไว้ เป็นต้น

จากที่กล่าวมานี้ หากถือเคร่งตามหลักวิชาการแล้ว หวังเฉา หม่าฮั่น จางหลง และจ้าวหู่จะไม่ถูกนับให้มีอยู่จริง เพราะไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์อื่นใดมารับรอง จะมีก็แต่เรื่องราวของคนทั้งสี่ที่ปรากฏชื่อในวรรณกรรมเท่านั้น ส่วนหลุมศพที่เชื่อกันว่าเป็นของหวังเฉานั้นก็เกิดขึ้นในชั้นหลังมากกว่าจะอยู่ร่วมสมัยเดียวกับเปาเจิ่ง

เรื่องทำนองนี้พูดไปทำไมมี ชั้นแต่วรรณกรรมเรื่อง ไซอิ๋ว ที่รู้กันแน่ว่าเป็นเรื่องแต่งแท้ๆ เพียงประทับใจในตัวละครเห้งเจียเท่านั้น ผู้คนในชั้นหลังจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าเห้งเจียมีอยู่จริง จากนั้นก็สร้างศาลเจ้าขึ้นมาเคารพบูชาเห้งเจียในฐานะเทพองค์หนึ่งมาจนทุกวันนี้ ในเมื่อกรณีเช่นนี้ยังมีให้เห็น กรณีหวังเฉาจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ ว่านั่นเป็นเรื่องปกติของประเพณีจีน

พ้นไปจากตัวละครดังกล่าวแล้วก็มาถึงตัวละครที่ชื่อ จั่นเจา ซึ่งในละครชุดบอกให้คนดูรู้ในหลายครั้งว่า จั่นเจามีอดีตเป็นจอมยุทธ์ฝีมือดีที่เที่ยวท่องไปในยุทธภพอันเป็นชีวิตปกติของจอมยุทธ์ แต่อยู่มาวันหนึ่ง จั่นเจาก็ละทิ้งชีวิตจอมยุทธ์มารับใช้เปาบุ้นจิ้น จั่นเจาเคยให้เหตุผลที่มารับใช้เปาบุ้นจิ้นในตอนหนึ่งของละครชุดว่า ตนได้ยินกิตติศัพท์ในเรื่องความยุติธรรมของเปาบุ้นจิ้นมาก่อนหน้านี้แล้วก็ให้รู้สึกประทับใจ

จึงอยากฝากชื่อเสียงเอาไว้ด้วยการละทิ้งวิถีชีวิตจอมยุทธ์มารับใช้เปาบุ้นจิ้นแทน